"สมเด็จอยู่" สังฆราชผู้ยังคงเป็น "หลวงพ่อ" ของชาวบ้านข้างวัด!! จะยากดีมีจน...อยู่คฤหาสน์หรือเพิงมุงจาก...ก็มิได้ต่างกันสำหรับพระองค์!!

รู้จริง...รู้แจ้ง...ทุกเรื่องราวแห่งปาฏิหาริย์ http://www.tnews.co.th

สมเด็จพระสังฆราชที่ครองวัดสระเกศนั้นมีเพียงองค์เดียวในประวัติศาสตร์ไทย นั่นคือ “สมเด็จอยู่” (ญาณโณทโย)

ใช่แต่เท่านั้น... เจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์เดียวในยุครัตนโกสินทร์ที่ขึ้นชื่ออย่างยิ่งในด้านโหราศาสตร์ และยังได้รับการยกย่องในด้านนี้แม้กระทั่งปัจจุบัน

อันที่จริง ความสามารถอีกประการหนึ่งของท่านซึ่งมักไม่เป็นที่รู้จักก็คือ ความปราดเปรื่องด้านปริยัติธรรม  เมื่อครั้งยังป็นพระมหาอยู่นั้น ไม่ว่าจะเข้าสอบแปลพระปริยัติธรรมครั้งใดก็ไม่เคยแปลตกเลยตั้งแต่ประโยคต้นจนประโยคสุดท้าย

และที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ยุครัตนโกสินทร์ก็คือ พระมหาอยู่สอบได้เป็นเปรียญ ๙ ประโยค องค์แรกในรัชกาลที่ ๕ จนสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระมหากรุณาธิคุณเป็นพิเศษให้นำรถยนต์หลวงมาส่งจนถึงวัดสระเกศ  นับแต่นั้นก็เป็นพระราชประเพณีว่า ถ้าพระเปรียญรูปใดสอบประโยค ๙ ได้ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้นำรถยนต์หลวงส่งพระเปรียญรูปนั้นจนถึงสำนัก

 

"สมเด็จอยู่" สังฆราชผู้ยังคงเป็น "หลวงพ่อ" ของชาวบ้านข้างวัด!! จะยากดีมีจน...อยู่คฤหาสน์หรือเพิงมุงจาก...ก็มิได้ต่างกันสำหรับพระองค์!!

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นที่เลื่องลืออย่างยิ่งในด้านความเมตตา  ใบหน้าของท่านจะมีรอยยิ้มแฝงอยู่ด้วยเสมอ  ผู้ใดที่เข้าหาก็จะประทับใจกับใบหน้าอันอิ่มเอิบและอัธยาศัยของท่าน  และทั้ง ๆ ที่ท่านเจริญในสมณศักดิ์เรื่อยมาก็ยังเป็น “หลวงพ่อ” ของชาวจีนรอบวัด ไม่ว่าเด็กหรือผู้เฒ่า โดยที่ท่านไม่เคยถือยศศักดิ์

ความไม่ถือยศศักดิ์ของเจ้าประคุณสมเด็จฯ นั้นเป็นที่กล่าวขานกันมาก  ปกติแล้ว เวลามีผู้มานิมนต์มักจะเอารถเก๋งมารับเพื่อให้สมฐานะสมเด็จฯ  แต่คราวหนึ่งชาวจีนยากจนผู้หนึ่งมานิมนต์ท่านไปฉันที่บ้านเพื่อทำบุญให้แก่บุตรที่ตาย  เมื่อท่านกับพระอีกสี่รูปเดินออกจากประตูวัดสระเกศก็ถามชาวจีนผู้นั้นว่าจะไปอย่างไร  ชาวจีนผู้นั้นก็ตอบว่า “สามล้อครับ”

แทนที่จะแสดงอาการไม่พอใจ ท่านกลับยิ้ม...และว่านั่งสามล้อเย็นสบายดี เห็นความเจริญของบ้านเมืองถนัดดี

เมื่อไปถึงบ้านชาวจีนผู้นั้นก็ต้องขึ้นไปเจริญพระพุทธมนต์ชั้นบนเนื่องจากบ้านเล็กและแคบ มีของเก่าวางขายเต็มไปหมด  ตอนนั้นเจ้าประคุณสมเด็จฯ อายุกว่า ๘๐ แล้ว บันไดก็ชันมาก ขึ้นลำบาก  แต่ท่านก็ขึ้นไปจนได้

วันรุ่งขึ้นก็ต้องขึ้นไปเจริญพระพุทธมนต์อีก  ครั้นถึงเวลาฉันต้องลงมาฉันอาหารในห้องครัวข้างล่าง  โต๊ะไม่มีผ้าปู  กับข้าวก็มีเพียงสามอย่าง คือ แกงเผ็ด แกงจืด และผัดหมี่  ของหวานก็มีผลไม้คือละมุดเพียงอย่างเดียว แถมยังค่อนข้างช้ำและเน่าเสียด้วย  แต่ท่านฉันอย่างสบาย ๆ โดยไม่ได้มีความรังเกียจอะไรเลย

ฉันเสร็จ เจ้าภาพก็ถวายปัจจัยแก่ท่านและพระลูกวัดองค์ละ ๓ บาท ใบชาห่อจิ๋วองค์ละ ๑ ห่อ  เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ยิ้มอย่างสบายอีก  ท่านพูดว่า

“คนจนเขาจน เขาอยากจะทำบุญ เขาตั้งใจทำบุญจริง ๆ ... เขามีน้อย เขาทำน้อย ... ดีแล้ว”

บางครั้งไปถึงบ้านผู้นิมนต์ บ้านนั้นยังไม่ได้จัดอาสนะสำหรับพระ เพิ่งจะเริ่มจัดเมื่อไปถึง  แต่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ไม่เคยดุหรือบ่น กลับยิ้มรอจนเขาจัดที่เสร็จ  บางแห่งเจ้าของงานจัดที่ให้ท่านเป็นการพิเศษ  เจ้าประคุณสมเด็จฯ บอกว่า “อย่ายุ่งยากนักเลย ... ทำที่สบาย ๆ เถิด”

ท่านพูดเสมอว่า  “เราแก่แล้ว ทำอะไรไม่สะดวก แต่อย่าทำให้เขาหนักใจ”

ด้วยความเมตตาของท่านจึงมีอาคันตุกะมาเยือนทุกวัน  การเข้าพบท่านไม่ต้องมีใครพาเข้าพบ  ท่านจะออกมาต้อนรับด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เต็มไปด้วยไมตรีจิตกับคนทุกชั้นที่ไปพบ แม้แต่กรรมกรสามล้อผู้ยากจนกระทั่งขอทาน

ท่านพูดเสมอว่า เขามีทุกข์ เขาจึงมาพบ ถ้าท่านช่วยเหลือเขาได้ก็จะสบายใจมาก ...

 

"สมเด็จอยู่" สังฆราชผู้ยังคงเป็น "หลวงพ่อ" ของชาวบ้านข้างวัด!! จะยากดีมีจน...อยู่คฤหาสน์หรือเพิงมุงจาก...ก็มิได้ต่างกันสำหรับพระองค์!!

-----------------------------------------------------------------------

ที่มา : “ลำธารริมลานธรรม” - เกร็ดชีวิตและปฏิปทาของพระดีพระแท้, พระไพศาล วิสาโล รวบรวมและเรียบเรียง

ณัฐวุฒิ/สำนักข่าวทีนิวส์ : รายงาน