ขอหนึ่งเสียงคนไทย!! “ไพศาล พืชมงคล” ย้ำชัด"รถไฟทางคู่"เหมาะสุดเมืองไทย AIIB พร้อมหนุนเงินทุน ใช้งบประมาณถูกกว่า เชื่อมปท.เพื่อนบ้านได้ทันที?

ติดตามรายละเอียด http:www.tnews.co.th

ยังคงเป็นประเด็นใหญ่ระดับประเทศที่มีหลายฝ่ายให้ความสนใจกับอนาคตโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา  ว่าจะมีข้อสรุปในการเดินหน้าอย่างไร ภายหลังมีข้อคัดคัดค้านในหลายประเด็น ทั้งความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทการเข้ามาทำงานของวิศวกรและสถาปนิกชาวจีน  และรูปแบบโครงการที่ถูกมองว่าอาจไม่คุ้มค่าการลงทุนเหมือนกับโครงการรถไฟทางคู่ ซึ่งสามารถจะเชื่อมโยงกับเครือข่ายขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :  วงในยังฝุ่นตลบ!!"รถไฟเร็วสูง"กทม.-โคราชโดนติงหนักให้อภิสิทธ์"จีน"คุมก่อสร้างล่าสุด"ไพศาล"กุนซือ"บิ๊กป้อม"เปิดประเด็นใหม่ไม่ใช่ข้อตกลงไทย-จีน 

ขณะเดียวกันภายหลังจากที่ออกมาโพสต์แสดงความเห็นในเชิงเปรียบเทียบระหว่างโครงการรถไฟความเร็วสูงกับโครงการรถไฟทางคู่ของจีนแล้ว นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ)  ยังเน้นย้ำเรื่องข้อตกลงเดิมที่มีการเจรจาเรื่องแผนการก่อสร้างรถไฟทางคู่  ตามรายละเอียดดังนี้ "โครงการรถไฟไทยจีน ควรทำอย่างไรจึงจะบังเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติมากที่สุด" 

1. ควรยืนหยัด ทำตามข้อตกลง ที่ลงนามกันระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2558 คือทำรถไฟทางคู่ระบบรางมาตรฐาน เส้นทางหนองคาย -โคราช-กรุงเทพ และสระบุรี-มาบตาพุด ระยะทาง 700 กว่ากิโลเมตร  ก็ลาวยังสามารถทำแบบเดียวกันนี้ระยะทางถึง 418 กิโลเมตร และลงมือก่อสร้างไปแล้ว ประเทศไทย ไม่ได้ด้อยกว่าลาว ทำไมจะทำไม่ได้


2.ข้อตกลงดังกล่าวคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว สภานิติบัญญัติ แห่งชาติเห็นชอบตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติแล้ว ไม่อยู่ในบังคับ ของกฎหมายร่วมทุนระหว่างรัฐเอกชน ไม่อยู่ในบังคับระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีจึงสามารถดำเนินการได้โดยไม่ติดขัดใดๆ เลย 


3. ขณะนี้เส้นทางรถไฟจากพม่าไปคุนหมิง จากเวียดนามไปคุนหมิง จากลาวไปคุนหมิง เพื่อเชื่อมกับเส้นทางสายหลักของโลกและเส้นทางสายไหม ระบบรางมาตรฐานล้วนลงมือก่อสร้างแล้วทั้งสิ้น ประเทศไทยต้องเร่งรัดเวลา เพื่อให้แล้วเสร็จ ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน จึงจะไม่เสียเปรียบในการขนส่งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมจากประเทศไทยสู่จีนและยุโรป


4. เนื่องจากข้อตกลงไทยจีน ยังไม่ได้ครอบคลุมถึงการเชื่อมโยงเส้นทางจากหนองคายสู่เวียงจันทร์ เพราะเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยจะต้องเจรจากับรัฐบาลลาว ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงต้องรีบเจรจากับรัฐบาลลาวเพื่อเชื่อม เส้นทางรถไฟสายหลักนี้จากหนองคายกับนครเวียงจันทน์ ซึ่งมีระยะทาง 2-3 กิโลเมตรแค่นั้นเอง มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถเชื่อมต่อไปถึงคุนหมิง-ยูเรเซียและยุโรปได้ แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีการดำเนินการเรื่องนี้ก็เพราะไม่มีความตั้งใจที่จะเชื่อมโยงกับเส้นทางหลักของโลก ตามที่รัฐบาลไทย-จีนได้ลงนามในข้อตกลงกันไว้ 


5. สำหรับเงินค่าจ้างตามโครงการนี้ ประเทศไทยสามารถ จะหาเงินกู้หรือเอาเงินที่ไหนไปว่าจ้างก็ได้ เช่นการออกพันธบัตรเงินกู้ กู้เงินจากกองทุนประกันสังคมก็ทำได้ หรือจะใช้เงินกู้จากธนาคาร  AIIB ซึ่งเขาพร้อมยินดีจะให้กู้อยู่แล้วและประธาน AIIB กำลังจะมาเยือนประเทศไทยในเดือนหน้า มาขอพบนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีโครงการใช้เงินกู้ของ AIIB เลยแม้แต่บาทเดียว เพราะคิดแต่จะกู้ญี่ปุ่นเท่านั้น ถึงเวลาที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศของประเทศไทยไปพร้อมกันด้วย  ประเทศต่างๆ หลายสิบประเทศทำโครงการใช้เงินกู้เอไอไอบี เพราะดอกเบี้ยถูกและมีวัตถุประสงค์เพื่อ ใช้ในโครงสร้างพื้นฐานแม้เขมรยังใช้วงเงินถึง 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้อังกฤษ ยังกู้เงินจีนถึงแสนแปดหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศเหล่านี้เขาไม่ได้โง่กว่าใคร ทำไมเขาตกลงกันได้ มีแต่ไทยเรานี่แหละ ที่กล่าวหาเขาว่าดอกเบี้ยแพงอยู่ชาติเดียว


6. รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาอุปสรรค ที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินการโครงการนี้ว่าอยู่ตรงไหนและต้องจัดการโดยเฉียบขาดไม่เห็นแก่หน้าใครอีกเพราะเป็นเรื่องประโยชน์ได้เสียของแผ่นดินที่จะมีผลระยะยาวไกลมาก  


ล่าสุดนายไพศาล  ได้โพสต์แสดงความเห็นเพิ่มเติม  ชี้ให้เห็นว่าก่อนหน้านี้ประเทศเพื่อนบ้านก็มีแนวคิดคล้ายๆ กัน ในเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงเหมือนกับที่ประเทศไทยคิดจะดำเนินการ แต่ท้ายสุดก็ยกเลิก "ทำไมเวียดนามยกเลิกสัญญารถไฟความเร็วสูงระดับปานกลาง(120-180กม/ชม)ระยะทาง 1.200 กิโลเมตรที่ทำกับญี่ปุ่นแล้วไปทำสัญญารถไฟทางคู่รางมาตรฐานกับจีน"


1. เวียดนาม ทราบว่า พม่าไทยลาวกัมพูชาจะสร้างรถไฟทางคู่รางมาตรฐานเชื่อมกับจีนเพื่อขนส่งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมหาก เวียดนามทำรถไฟความเร็วสูงขนแต่คนโดยสารก็จะเสียเปรียบ จึงต้องหาทางยกเลิก 

2. เวียดนามทราบในภายหลังว่ารถไฟ ระบบราง 1 เมตรที่ทำกับญี่ปุ่นนั้นไม่สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟของจีน ซึ่งใช้ระบบรางมาตรฐานได้ หากเชื่อมกับจีนไม่ได้ก็ไปถึงยุโรปไม่ได้ ทำไปก็เสียของ 

3. เวียดนามทราบว่า รถไฟความเร็วสูงราง 1 เมตรระบบของญี่ปุ่นนั้นเป็นระบบปิด แพง ต้องพึ่งญี่ปุ่นตลอดกาล ไม่เป็นระบบ Standard ที่ใช้กันทั่วโลก และเส้นทางรถไฟสายหลักของโลกใช้ระบบรางกว้าง 1.435 เมตรทั้งสิ้น แค่ชื่อ"ระบบรางมาตรฐาน"ยังทำเป็นไม่เข้าใจ เมื่อเวียดนามทราบฉะนั้นจึงเสนอเรื่องต่อรัฐสภาให้พิจารณา รัฐสภาเวียดนามมีมติว่ารัฐบาลทำสัญญาโดยไม่ผ่านสภาจึงเป็นโมฆะหลังจากนั้นรัฐบาลเวียดนามจึงทำสัญญากับจีนสร้างรถไฟทางคู่ระบบรางมาตรฐาน แต่ประเทศไทยกลับจะไปเดินตามหลังสัญญาที่เวียตนามฉีกไปแล้ว ใครกำลังทำลายชาติ??


ประเด็นสำคัญนายไพศาล  พืชมงคล  ซึ่งบทบาทหนึ่งเป็น กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้ยกตัวอย่างกรณีการเดินหน้าก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ รางมาตรฐาน ลาว-จีน  ว่าใช้งบประมาณลงทุนไม่สูงเหมือนโครงการรถไฟความเร็วสูง แต่ได้ประโยชน์มากกว่า และสามารถดำเนินการได้รวดเร็วเป็นประโยชน์ต่อคนในชาติสูงสุด โครงการรถไฟจีน-ลาว จะใช้เงินลงทุนประมาณ 6,800 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 238,000 ล้านบาท) ระยะทาง 417 กิโลเมตร เริ่มต้นจากเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ถึงนครหลวงเวียงจันทน์ และใช้รางขนาด 1.435 เมตร โดยถ้าใช้ขนส่งผู้โดยสารจะมีความเร็วเต็มที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถ้าใช้ขนส่งสินค้าจะวิ่งด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 60 เดือน หรือประมาณปลายปี 2565 จะสร้างทางรถไฟรางคู่เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว !!!

 

ขอหนึ่งเสียงคนไทย!! “ไพศาล พืชมงคล” ย้ำชัด"รถไฟทางคู่"เหมาะสุดเมืองไทย AIIB พร้อมหนุนเงินทุน ใช้งบประมาณถูกกว่า เชื่อมปท.เพื่อนบ้านได้ทันที?