ระทึก!! 10 ก.พ. "มส." ประชุมจับ "ธัมมชโย" ขาดจากความเป็นพระ ???

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

 

 

ในวันที่ 10 กุมภาพันธุ์ที่จะถึงนี้ ต้องจับจามองไปที่การประชุมมหาเถรสมาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับสถานะภาพของพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย หลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอได้ส่งเรื่องมาให้กับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อประสานต่อมายังมหาเถรสมาคม

 

 


โดยสถานการณ์ที่ต้องจับตามองกันอย่างใกล้ชิดนั่นก็คือ มหาเถรสมาคมจะมีมติเพื่อดำเนินการให้พระธัมมชโยขาดจากความเป็นพระตามที่ดีเอสไอเสนอให้ปาราชิก ตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่

 


และจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ก็เกิดทั้งกระแสสนับสนุนและต่อต้านพระธัมมชโย ทำให้แนวโน้มการประชุม มส.ในวันที่ 10 กุมภาพันธุ์นี้จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดเลยทีเดียว

 


พระโสภณพุทธิวิเทศ (จิตติก์ ญาณชโย) เจ้าอาวาสวัดพุทธาราม เบอร์ลิน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โพสต์ในเฟซบุ๊กเพจชื่อ "เจ้าคุณเบอร์ลิน" ถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งหนังสือแจ้งมายังมหาเถรสมาคม (มส.) ให้รื้อฟื้นอธิกรณ์ที่คณะสงฆ์วินิจฉัยไปแล้ว เพื่อใช้กฎนิคหกรรมปรับอาบัติปาราชิกพระธัมมชโย ว่า ถือว่าดีเอสไอใช้อำนาจอาณาจักรแทรกแซงศาสนจักร และเข้าข่ายชักพระสงฆ์เข้าหาอาบัติ เป็นอาบัติสังฆาทิเสส (อาบัติหนักที่ต้องอาศัยความอนุเคราะห์จากคณะสงฆ์จึงออกจากอาบัติได้)

 


เนื่องจากการลงนิคหกรรมเป็นกระบวนการทางพระธรรมวินัย โดยพระพุทธองค์ให้ภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกัน (ทำสังฆกรรมร่วมกัน) ลงนิคหกรรมกัน ที่สอดคล้องกับกฎ มส.ฉบับที่11 (พ.ศ.2521) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม เพื่อป้องกันการใส่ความกลั่นแกล้งซึ่งกันและกันโดยไม่เป็นธรรม จากภิกษุผู้เป็นนานาสังวาส

 


การ กระทำของดีเอสไอเป็นความผิดอย่างมหันต์ในหลักพระพุทธศาสนา เพราะเป็นการชักสงฆ์ให้เข้าหาอาบัติหนัก ผิดทั้งพระธรรม วินัย

 


พระโสภณพุทธิวิเทศ ได้โพสต์ทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตาม การที่ดีเอสไอ นำพระลิขิตอดีตสมเด็จพระสังฆราช มากล่าวอ้างในการรื้อฟื้นลงโทษพระสงฆ์ทางพระธรรมวินัยขึ้นอีก เป็นการชักอดีตสมเด็จพระสังฆราชให้เข้าหาอาบัติ ทั้งหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดกฎนิคหกรรม เป็นการทำผิดอย่างใหญ่หลวงต่อพระองค์ท่าน

 


อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา มหาเถรสมาคมก็ได้เคยหารือในเรื่องนี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง โดยอ้างว่าไม่สามารถดำเนินการย้อนพิจารณาว่าพระธัมมชโยต้องปาราชิกหรือไม่ โดยหากจะดำเนินการก็ต้องเสนอเรื่องขึ้นมาใหม่

 


27 ก.พ.58 พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี)โฆษกมส. กล่าวภายหลังการประชุมมหาเถรสมาคม หรือ มส. นานกว่า 1 ชั่วโมงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2542 ดำเนินการได้ข้อยุติแล้ว โดยอยู่ในชั้นความรับผิดชอบของเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีในขณะนั้น คือ พระธัมมชโย ไม่อาบัติปาราชิก เพราะไม่มีเจตนาครอบครองทรัพย์ไว้กับตนเอง และได้โอนที่ดินกว่า 900 ล้านบาท ให้เป็นของวัดพระธรรมกายไปแล้ว หากจะมีการรื้อฟื้นคดีของพระธัมมชโยขึ้นมาใหม่ จะต้องมีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนมายังเจ้าคณะจังหวัดใหม่ เพื่อสอบและส่งเรื่องตามลำดับชั้นของสงฆ์มายัง มส.อีกครั้ง เพราะในคดีเก่าไม่สามารถรื้อฟื้นได้

 


โดยหากจะไปรื้อฟื้นคดีเดิม จะเท่ากับเป็นการอาบัติของสงฆ์ ส่วนพระธัมมชโยปาราชิกหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบ โดย มส. มีหน้าที่เพียงรับรองรายงานการประชุมต่างๆตามเรื่องที่ส่งมาเท่านั้น

 


ขณะกรณีที่พระพุทธะอิสระ ยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ไม่ถือว่าเป็นการเสนอคดีพระธัมมชโยใหม่ เพราะยังไม่มีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่ได้ส่งเรื่องมายังเจ้าคณะ

 


เพราะฉะนั้นการที่มหาเถรสมาคมจะประชุมในวันที่ 10 กุมภาพันธุ์นี้ จึงถือว่าเป็นการเสนอเรื่องเดิมกลับเข้ามาอีกครั้งแต่ต้องจับตามองว่ามหาเถรสมาคมจะยังคงยืนยันแบบเดิมหรือไม่

 


ขณะเดียวในวันนี้ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน และ นพ.มโน เลาหวณิช ร่วมกันแถลงข่าวเรียกร้องให้มหาเถรสมาคม (มส.) ดำเนินการให้พระธัมมชโยต้องสละสมณเพศ

 


 

นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ และ นพ.มโน เลาหวณิช อดีตกรรมการปฏิรูปแนวทางฯ กล่าวว่า มส.จะมีการประชุมในวันที่ 10 ก.พ.นี้ ตามหนังสือของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ส่งเรื่องให้ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม คือสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปญฺโญ) ดำเนินการให้พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกตามลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชที่มีมติของ มส. รับรองให้เป็นคำสั่งที่ชอบ และต้องปฏิบัติตามให้ครบถ้วนตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

 


นายไพบูลย์ กล่าวว่า พระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชลงวันที่ 10 พ.ค. 2542 มีใจความได้แจ้งว่าได้ทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เพื่อเทิดทูนรักษาพระพุทธศาสนาให้พ้นถูกทำลาย สมบูรณ์ดีที่สุดแล้วตามอำนาจ และ มส. ได้มีการประชุมในวันเดียวกัน โดยได้มีมติสนองพระดำริมาโดยตลอดให้ชอบด้วยกฎหมายพระธรรมวินัยและกฎ มส. และเห็นควรส่งเรื่องให้ฝ่ายสังฆการดำเนินการตามมติ มส. ต่อไป ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระประสงค์ให้ดำเนินการตามกฎ มส. ฉบับที่ 21 (พ.ศ.2538) ที่ให้ มส.มีอำนาจวินิจฉัยให้ภิกษุสละสมณเพศได้ โดยไม่กระทบต่อการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ และให้คำวินิจฉัยเป็นอันถึงที่สุด ดังนั้นพระลิขิตจึงมีผลตามกฎ มส. ฉบับที่ 21 (พ.ศ.2538) ให้อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายต้องสละสมณเพศและเป็นอันถึงที่สุด

 


ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามกฎ ประธานและกรรมการ มส. มีอำนาจหน้าที่จะต้องติดตามดำเนินการให้พระธัมมชโยต้องสละสมณเพศ เช่นเดียวกันกับกรณีพระยันตระ อมโร ซึ่ง มส. เคยใช้อำนาจวินิจฉัยให้ต้องอาบัติปาราชิกพ้นจากความเป็นสมณเพศ หากไม่ดำเนินการหรือบ่ายเบี่ยงโดยไม่คำนึงถึงหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติในฐานะหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และยังอาจจะถูกครหาว่าเป็นการช่วยเหลือให้การสนับสนุนคุ้มครองพระธัมมชโยไม่ให้ต้องปาราชิกตามพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช

 


ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎ มส. ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2521) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม เนื่องจากตามพระวินัยปิฎกแล้วเป็นวิธีการลงโทษแก่ภิกษุผู้ประพฤติผิดธรรมวินัยข้อต่างๆ ไม่รวมอาบัติปาราชิก เพราะผู้ที่ต้องอาบัติปาราชิกไปแล้วไม่ถือเป็นภิกษุอีกต่อไป จึงไม่อาจจะเข้าร่วมสังฆกรรมใดๆ ในการลงนิคหกรรมตามพระวินัย         

 


ด้าน นพ.มโน กล่าวว่า การลงนิคหกรรมคือการตักเตือน กำราบ ลดสิทธิต่างๆ ของภิกษุผู้ประพฤติผิด แต่อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายไม่เข้าข่าย เพราะอาบัติปาราชิกไปแล้วทันทีที่กรรมสำเร็จ ถือว่าขาดจากความเป็นพระมานานกว่า 17 ปี แต่งกายคล้ายภิกษุมาตลอด