- 25 เม.ย. 2563
ดีเอสไอ ยื่นคำร้องเห็นแย้ง คดีโอ๊ค ฟอกเงินกรุงไทย ส่งอัยการสูงสุด วินิจฉัยยื่นอุทธรณ์ศาลทุจริตฯ
ภายหลังจาก คณะทำงานอัยการคดีศาลสูง จำนวน 5 คนที่นายมนต์ชัย บ่อทรัพย์ เป็นอธิบดีอัยการ ตั้งขึ้นมา 5 คน ร่วมกันพิจารณาสำนวน คดีหมายเลขดำ อท.245/2561 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายพานทองแท้ ชินวัตร ใน ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และสมคบคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 , 9 , 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , จากกรณีตรวจพบหลักฐานว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ทุจริตการปล่อยสินเชื่อธ.กรุงไทยฯ ให้ธุรกิจเครือกฤดามหานคร ต่างเห็นพ้องกับอัยการคดีพิเศษ กรณี ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษายกฟ้อง จึงลงมติร่วมจะไม่ดำเนินการในชั้นอุทธรณ์คดี ก่อนส่งเรื่องกลับให้ดีเอสไอ ในฐานะต้นเรื่องจะพิจารณาดำเนินการอย่างไร
( คลิกอ่านข่าวประกอบ : จับตา 2 แรงบวก ดีเอสไอร้องอสส.อุทธรณ์คดีโอ๊คฟอกเงิน วัชระ ซ้ำอีกดาบ ศาลเคยสั่งลงโทษ )
ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดย น.พ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ ได้ทำความเห็นแย้งคำสั่งไม่อุทธรณ์คดี นายพานทองแท้ ชินวัตร จำเลยคดีร่วมกันฟอกเงิน 10 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทยฯ ที่ปล่อยกู้ให้เครือกฤษดามหานคร ส่งให้พนักงานอัยการ ซึ่งครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ คือ ภายในวันที่ 25 เม.ย. 2563 แล้ว โดยหลังจากนี้จะมีการนำข้อมูลทางคดีทั้หมดเสนอให้ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด วินิจฉัยชี้ขาด
น.พ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้มีหนังสือกล่าวโทษต่อ ดีเอสไอ ให้ดำเนินคดีอาญาต่อ นางกศนี จิปิภพ , นางกาญจนาภา หงส์เหิน , นายวันชัย หงษ์เหิน และ นายพานทองแท้ ชินวัตร รวม 4 คน ในความผิดฐาน สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน
เพราะเหตุที่ได้สมคบกัน โดยดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษที่ 25/2560 ทางคดีทำการสอบสวนเสร็จสิ้นและส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2561 ต่อมาพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องต่อศาล โดยเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2562 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง
จากนั้นพนักงานอัยการในฐานะโจทก์ได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา จำนวน 4 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 ศาลอนุญาตถึงวันที่ 19 ธ.ค.2562 ครั้งที่ 2 ศาลอนุญาต ถึงวันที่ 25 ก.พ.2563 ครั้งที่ 3 ศาลอนุญาตถึงวันที่ 25 มี.ค. 2563 โดยระหว่างนั้น (วันที่ 19 มี.ค. 2563) พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่อุทธรณ์ (อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง)
ต่อมา วันที่ 26 มี.ค. 2563 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการคดีพิเศษ (ฝ่ายคดีพิเศษ 4) ส่งสำนวนให้ดีเอสไอ พร้อมความเห็นไม่อุทธรณ์คำพิพากษามายังอธิบดีดีเอสไอ เพื่อพิจารณาว่า จะมีความเห็นแย้งหรือไม่ อันเป็นไปตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 34 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 และพนักงานอัยการได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา เป็นครั้งที่ 4 ศาลอนุญาตถึงวันที่ 25 เม.ย. 2563 จนกระทั่งล่าสุดตัดสินใจยื่นหนังสือ แสดงความเห็นแย้งในมติที่ผ่านมาของคณะอัยการ ให้กับอัยการสูงสุด วินิจฉัยแนวทางการต่อสู้คดีนี้อีกครั้ง
นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด