มหากาพย์ 10 ปี รถเมล์ NGV ส่อเค้าแท้ง รัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร..??? (รายละเอียด)

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม : www.tnews.co.th

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงนี้  ที่มีตัวแทนผู้รับสัมปทานออกมาโอดครวญว่า หลังจากเป็นผู้ชนะการประมูลรถเมล์ เอ็นจีวี แล้วนำเข้ามาเพื่อส่งมอบแต่ถูกเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรกักรถไว้

ขณะที่กรมศุลกากรก็ออกมายืนยันว่า การนำเข้ารถเมล์ล็อตนี้ มีเอกสารที่ฉ้อฉล ส่งที่จะหลบเลี่ยงภาษีทำรัฐสูญรายได้ ซึ่งต่างฝ่ายต่างยืนยันข้อมูลความถูกต้อง ซึ่งเราจะได้มาติดตามรายละเอียดในเรื่องนี้กัน

นับเป็นมหากาพย์ที่ยาวนานกว่า 10 ปีแล้ว ที่ทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือขสมก. ต้องจัดการรถเมล์ใหม่ เพื่อมาทดแทนรถเมล์เก่าที่มีอายุการใช้งานเกือบ 30 ปี มีจำนวนกว่า 3,000 คัน 

ซึ่งโครงการนี้เริ่มมีการเสนอชงเรื่องจัดซื้อมาตั้งแต่ สมัย นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จำนวน 2,000 คัน ก่อนจะปรับนโยบายเพิ่มเป็น 3,183 คัน

ในสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่สุดท้ายโครงการนี้ก็พับเก็บไป เนื่องจาก ทาง ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบพบข้อพิรุธของ TOR ที่ ขสมก. จัดทำเพื่อเอื้อประโยชน์กับเอกชนบางราย และส่อที่จะทุจริตคอร์รัปชั่น 

จนมาถึงยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่จะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหารถเมล์ขาดแคลนไม่เพียงพอต่อการบริการประชาชน ทางขสมก. จึงได้เสนอโครงการนี้เข้ามาใหม่  ส่วนจำสำเร็จจนคนกรุงเทพฯที่จะสามารถได้ใช้รถเมล์ใหม่จริงๆ นั้น จะเกิดขึ้นได้ในสมัยรัฐบาลนี้หรือไม่

ซึ่งโครงการนี้ ทางขสมก. ได้เปิดประมูลโครงการโครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(NGV) พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสารจำนวน 489 คัน วงเงิน 4,021.7 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าซื้อรถ 1,735 ล้านบาท เฉลี่ยคันละ 3.5 ล้านบาท ค่าซ่อมบำรุง 10 ปี รวม 2,286 ล้านบาท เฉลี่ยคันละ 4.67 ล้านบาท

โดยปีที่ 1-ปีที่5 ค่าซ่อมเฉลี่ยไม่เกิน 925.91 บาทต่อคันต่อวัน รวมทั้งสิ้น 826ล้านบาท ปีที่6- ปีที่ 10  ค่าซ่อมเฉลี่ยไม่เกิน 1,635.83 บาทต่อคันต่อวัน รวมทั้งสิ้น 1,459 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะทำให้ราคารถอยู่ที่คันละ 8.22 ล้านบาท

ซึ่งมีเอกชนเข้าประมูลจำนวน 2 ราย ได้แก่ กิจการร่วมค้า เจวีซีซี ที่มี บริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) รายที่ 2 คือ บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด 

ต่อมาวันที่ 11 ก.ค.59 ซึ่งกำหนดให้เป็นวันประมูลและเป็นบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด จะชนะการประมูล เพราะเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด วงเงินรวมทั้งสิ้น 3,389 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่นๆ (ถ้ามี) โดยแบ่งเป็นค่าตัวรถวงเงิน 1,738 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ ค่าซ่อมบำรุง ปีที่ 1-5 ประมาณ 826 ล้านบาท และปีที่ 6-10 วงเงิน 1,459 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยต่อคันอยู่ที่ 6.93 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคากลาง 632 ล้านบาท 

แต่ประเด็นที่สื่อมวลชนท้วงติง ขสมก.ว่า บริษัท เบสท์ทริน กรุ๊ป ที่ยื่นซองประมูล รถเมล์เอ็นจีวี เคยถูกกรมศุลกากรและกรมสรรพากร ดำเนินคดีข้อหาสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้ารถยนต์โดยสาร ยี่ห้อ Golden Dragon รุ่นต่างๆ และอุปกรณ์จากประเทศจีน กรมศุลกากรและกรมสรรพากร จึงยื่นฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง 4 คดี เพื่อขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้บริษัทจ่ายภาษีพร้อมเงินเพิ่ม แก่กรมศุลกากรและกรมสรรพากร วงเงินรวมกว่า 232.331 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ยังค้างคาอยู่ แล้วตรวจคุณสมบัติผ่านได้อย่างไร

ซึ่งทางด้านนายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการขสมก.  ก็ออกมาตอบสื่อว่า ทีโออาร์กำหนดให้ส่งมอบรถ NGV 489 คันภายใน 90 วัน ซึ่งทางเบสท์ริน กรุ๊ป จะส่งมอบ 489 คันในครั้งเดียวภายใน ธ.ค. 2559 โดยเป็นการนำเข้าทั้งคัน 100% โดยส่งจากจีนมาประกอบในประเทศมาเลเซีย และนำเข้าไทยแบบทั้งคัน ส่วนประเด็นที่มีการร้องเรียนว่า เบสท์ริน กรุ๊ป แสดงบัญชีรายรับรายจ่าย หรือแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายไม่ถูกต้องครบถ้วนนั้น

ทางอาญาได้ข้อยุติไปแล้ว จากการชี้แจงต่อ ป.ป.ช. และคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) พบว่าไม่มีประเด็น ในขณะที่ได้ตรวจสอบความมั่นคงทางการเงินของบริษัทฯ พบว่ามีกำไรติดต่อกัน 3 ปีที่ผ่านมา และจ่ายภาษีถูกต้องอีกทั้งมีเงินสด 300 ล้านบาทฝากธนาคารกรุงเทพ จึงถือว่าไม่มีปัญหา ส่วนคดีทางแพ่งนั้นไม่เกี่ยวกับ ขสมก.และไม่กระทบต่อการลงนามสัญญา

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 59 ซึ่งเป็นวันทำสัญญาซื้อขายระหว่าง ขสมก.กับบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ซึ่งนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวถึงโครงการนี้ว่า  การจัดซื้อรถเมล์NGV ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดิมอนุมัติไว้จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162.2 ล้านบาท แต่เนื่องจากการจัดซื้อมีปัญหา ล่าสุดจึงได้ปรับแผนซื้อรถ NGV เหลือจำนวน 489 คัน โดยหลังลงนามสัญญาบริษัทฯ จะต้องส่งมอบรถให้ครบภายใน 90 วันหรือภายในสิ้นเดือน ธ.ค. 2559 ถือเป็นของขวัญปีใหม่แก่คนไทย

ขณะที่นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานกรรมการบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มั่นใจส่งมอบรถได้ครบจำนวน 489 คันในเดือน ธ.ค.นี้ โดยจะส่งมอบในครั้งเดียวเนื่องจากมีขั้นตอนในการจดทะเบียนที่กรมขนส่งทางบก (ขบ.) ที่ต้องติดตั้ง GPS ไปพร้อมด้วยก่อน โดยบริษัทจะนำรถยี่ห้อซันลองจากจีนมาประกอบที่โรงงานสาขาของซันลองในมาเลเซีย แล้วนำเข้าทั้งคันเพื่อส่งมอบให้ ขสมก.โดยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของอาเซียนสามารถนำเข้าโดยภาษีนำเข้า 0% จ่ายเพียงภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งช่วยลดต้นทุนได้มาก จากเดิมที่นำเข้าตรงจากจีนต้องเสียภาษี 40%

และเมื่อถึงกำหนดการส่งมอบรถเมล์ คือภายในเดือนธันวาคม 2559  ก็เกิดปัญหาขึ้น เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา นายคณิสสร์ ศรีวชิรประภา ประธานบริษัท เบสทริน กรุ๊ป จำกัด ออกมาเปิดเผยว่า รถโดยสารเอ็นจีวีล๊อตแรกจำนวน 100 คันเดินทางมาถึงท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมาและได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เรียบร้อยแล้ว แต่จนถึงวันนี้ (4 ธ.ค.) กระบวนการทางศุลกากรยังไม่เรียบร้อยและกรมศุลกากรยังไม่ยอมให้นำรถโดยสารออกจากพื้นที่

โดยสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง อ้างเหตุมีข้อสงสัยในเรื่องเอกสาร From D ที่ออกโดยกระทรวงอุตสาหกรรมของประเทศมาเลเซีย จึงขอกักรถไว้ก่อนเพื่อรอความชัดเจนและให้บริษัทซุปเปอร์ซาร่าออกเอกสารรับรองว่ารถโดยสารดังกล่าวนำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย เพราะต้องจ่ายค่าจอดรถให้ท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มวันละ 3 แสนบาท

 

ทั้งนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทฯ เคยมีการนำเข้ารถโดยสารรุ่นนี้และใช้เอกสารตรงกันทุกฉบับ ซึ่งก็ไม่เคยมีปัญหาแต่อย่างใด จึงน่าสงสัยว่าเหตุที่รถโดยสารรถนี้ไม่ผ่านการตรวจสอบในครั้งนี้เป็นเพราะเหตุใด

ขณะที่นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากรก็ออกมาเปิดเผยถึง กรณีที่มีกระแสข่าวกรมศุลกากรไม่ปล่อยรถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติ (NGV) ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่นำเข้ามาทางท่าเรือแหลมฉบัง ว่า ข้อเท็จจริงคือ เนื่องจากกรมได้ตรวจสอบแล้ว พบว่ารถเมล์ NGV ที่นำเข้ามา 2 ล็อต ยี่ห้อ "Sunlong" โดยผู้นำเข้าเดียวกันคือ บริษัทซุปเปอร์ซาร่า ซึ่งล็อตแรก จำนวน 1 คัน และล็อตที่ 2 อีกจำนวน 99 คัน โดยการสำแดงราคาต้นทุนไม่ได้ต่ำผิดปกติ แต่มีข้อมูลที่ชี้ว่ารถเมล์ดังกล่าวมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศจีน ด้านผู้นำเข้าแจ้งว่า ถิ่นกำเนิดมาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งภาระภาษีจะมีความแตกต่างกัน ขณะนี้ทางกรมฯจะหาความชัดเจนเพิ่มเติม เนื่องจากได้ตั้งข้อสงสัยว่าสินค้าดังกล่าวไม่น่าจะผลิตในมาเลเซีย

นายชัยยุทธกล่าว "การนำเข้าเที่ยวแรก บริษัทสำแดงว่ามีถิ่นกำเนิดจากประเทศมาเลเซีย โดยขอยกเว้นอากรภายใต้สิทธิพิเศษทางการค้าภายใต้กรอบอาเซียน (ฟอร์ม D) แต่จากการตรวจสอบของกรม พบว่ารถดังกล่าวนำเข้าโดยตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งตรวจสอบพบว่า เป็นหมายเลขเดียวกับที่นำเข้ามา โดยส่งออกมาจากประเทศจีน และมีเอกสารระบุว่า เป็นการส่งออกรถยนต์ NGV ยี่ห้อ ชนิด และโมเดลเดียวกับที่นำเข้ามาไทย เมื่อ 28 ต.ค. แล้วไปยังมาเลเซียเมื่อ 9 พ.ย. จากนั้นจึงส่งออกจากมาเลเซีย เมื่อ 23 พ.ย. แล้วมาถึงแหลมฉบัง เมื่อ 30 พ.ย. ส่วนการนำเข้าเที่ยวที่ 2 อีก 99 คัน ก็พบเส้นทางในลักษณะเดียวกัน ออกจากจีน 13 พ.ย. ถึงมาเลเซีย 19 พ.ย. และออกจากมาเลเซีย 26 พ.ย. ถึงแหลมฉบัง 1 ธ.ค."

ทั้งนี้ ความแตกต่างกันเรื่องอัตราภาษีอากร คือ ถ้าผลิตในมาเลเซียจะได้ถิ่นกำเนิดอาเซียน หรือ ฟอร์ม D จะได้รับยกเว้นภาษี แต่หากมีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีนจะต้องเสียภาษีศุลกากร 40% ของมูลค่ารถ พร้อมกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อีก 7%

 

นายชัยยุทธกล่าวต่อว่า "ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานงานกับกรมศุลกากร มาเลเซียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปมาเลเซียด้วย เพื่อตรวจสอบถิ่นกำเนิดที่แท้จริง น่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนในการตรวจสอบ แต่หากผู้ประกอบการต้องการนำรถออกก่อนเพื่อนำไปแสดง จะสามารถวางเงินประกันแล้วนำรถออกได้ ซึ่งเงินวางประกันก็ต้องคุ้มค่าภาษีอากรและค่าปรับ ส่วนการนำเข้าทั้ง 2 รอบ ทางบริษัทได้ยื่นหลักฐานว่าสินค้าทั้ง 2 ล็อต ผลิตจากมาเลเซีย ฉะนั้นในเบื้องต้นทางบริษัทก็ขอยกเว้นอากร ซึ่งหากตรวจสอบแล้ว รถไม่ได้ผลิตในมาเลเซีย บริษัทจะต้องเสียภาษีเพิ่ม โดยถ้าเป็นการผลิตในจีน ผู้ประกอบการจะต้องเสียอากรศุลกากรเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2 ล้านบาทต่อคัน และมีความผิดฐานสำแดงเท็จ รวมถึงหลีกเลี่ยงภาษีอากรด้วย ก็ต้องเสียค่าปรับประมาณ 2 เท่า"

ทั้งนี้ นายชัยยุทธ กล่าวด้วยว่า สำหรับตัวบริษัทผู้นำเข้านั้น ไม่ได้อยู่ในลิสต์ความเสี่ยงของกรมศุลฯ มาก่อน เพียงแต่กรมก็มีข้อมูลเบื้องต้นที่ตรวจสอบแล้วพบว่า มีข้อสังเกต จึงต้องตรวจสอบในรายละเอียด ซึ่งก็พบว่ามีความผิดปกติ นอกจากนี้ กรมศุลฯ ยืนยันว่าการตรวจสอบกรณีนี้เป็นการทำงานปกติ ไม่ได้ทำเพื่อสินบนรางวัลนำจับ เพราะไม่ได้อยู่แล้ว

ซึ่งต่อมาล่าสุด ทางนายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด แถลงถึงประเด็นรถเมล์เอ็นจีวี เกิดความล่าช้าที่กรมศุลกากรไม่ยอมปล่อยรถเมล์ออกว่า ทางเบสท์รินมีหน้าที่ในส่วนของการนำเอกสาร ที่ผู้ส่งออกจัดเตรียมมานำส่งให้ทางกรมศุลกากร เพื่อประกอบการสำแดงสินค้าตามระเบียบ ซึ่งบริษัทเบสท์รินไม่ได้เป็นผู้จัดทำเอกสารเอง ผู้ที่ออกเอกสารฟอร์ม ดี คือ กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งทางกรมศุลกากรมาเลเซียก็ปฎิบัติหน้าที่ตามกฎระเบียบ

กรณีที่มีข้อสงสัยถึงสถานที่ผลิตรถเมล์ล๊อตนี้ว่าอาจมาจากประเทศจีนนั้น  บริษัทเบสท์รินยืนยันว่าสั่งซื้อรถ ขสมก. ล๊อตนี้กับโรงงานประกอบรถยนต์ที่มาเลเซีย โดยเรื่องเอกสารประกอบการนำเข้าทางโรงงานผู้ผลิตนำมาส่งให้ ทางบริษัทเบสท์รินมั่นใจในรายละเอียดของเอกสารที่ยื่นแสดงต่อกรมศุลกากรเป็นของจริง เพราะเคยใช้เอกสารแบบเดียวกันนี้ยื่นต่อกรมศุลกากรมาก่อนแล้วรอบหนึ่ง

"เอกสารที่ออกโดยรัฐบาลมาเลเซีย ผมจึงมั่นใจความโปร่งใส่ของหน่วยงานภาครัฐของมาเลเซีย ตอนนี้เบสท์รินทำอะไรไม่ได้ ต้องรอการยืนยันความถูกต้องจากมาเลเซีย จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว"

สำหรับเรื่องดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีกรมศุลกากรกักรถเมล์NGVจำนวน 100 คัน ที่ ขสมก. สั่งซื้อ เพราะมีปัญหาเรื่องการสำแดงเอกสารภาษี ว่า ทุกอย่างต้องทำให้เกิดความชัดเจนให้ได้ เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับใบสำแดงภาษี เราจะต้องตรวจสอบให้ชัดเจน ให้ถูกต้อง เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ปล่อยปะละเลยเรื่องดังกล่าว เพราะฉะนั้นจะต้องไปตรวจสอบให้ชัดเจน

ตรวจสอบข้อมูล บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป พบว่า จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่  22 เมษายน 2546 โดยจดทะเบียนชื่อบริษัท เดฟฟารีเทคโนโลยีแอนด์ดีเวลลอปเม้นท์ไทยแลนด์ จำกัด    DEVARI TECHNOLOGY & DEVELOPMENT (THAILAND) CO.,LTD.

 

ต่อมาวันที่17 พฤษภาคม 2549 จดทะเบียนชื่อใหม่  โดยใช้ชื่อบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด BESTRIN GROUP  แรกเริ่มก่อตั้งมีทุนจดทะเบียน 120 ล้านบาท

 

ตัวเลข ณ เดือนมกราคม 2558 มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท

เข้ามาในช่วงสุดท้ายกับเจาะข่าวร้อน ล้วงข่าวลับ วันนี้เป็นเรื่องท่าทีนายกรัฐมนตรีที่เปลี่ยนแปลงไป

นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคสช. พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ในช่วงระยะหลังๆมานี้ จะไม่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนมากนัก คือสัปดาห์หนึ่งจะให้สัมภาษณ์เพียง1-2ครั้งเท่านั้น และการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี ใน1สัปดาห์ก็จะเป็นวันอังคาร หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี.

โดยการให้สัมภาษณ์ จะใช้วิธีให้นักข่าวเขียนคำถามที่ต้องการถามผ่านทีมงานนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีจะลงมาตอบในทุกคำถามที่นักข่าวเขียนถามไป พร้อมกับการแถลงเนื้อหาสำคัญในการประชุมครม. และใน1สัปดาห์ก็อาจจะมีบ้าง บางวันที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์นักข่าวเป็นพิเศษเพิ่มเติม ทั้งนี้ยิ่งช่วงปรับครม. นายกรมต.ยิ่งปิดปากสนิท ไม่ยอมหลุดให้สัมภาษณ์ใดๆทั้งสิ้น นิ่งอย่างเดียวยกตย.สัปดาห์นี้ทั้งสัปดาห์นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เพียงครั้งเดียวหลังการประชุมครม.เท่านั้น  เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดก็เพื่อไม่ให้เกิดอารมณ์หงุดหงิด หรือโกรธให้เสียการเสียงานนั่นเอง เพราะฉะนั้นจากนี้ไปการให้สัมภาษณ์ยาวๆ หรือพูดทีละนาน คงเป็นอดีตไปซะแล้วสำหรับพล.อ ประยุทธ์. จันทร์โอชา