มาเป็นทีม!! ‘ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิ์’ จี้ยุติดำเนินคดี ‘หมวดเจี๊ยบ’ ซัดละเมิดสิทธิ์ คุกคามเสรีภาพ ?

มาเป็นทีม!! ‘ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิ์’ จี้ยุติดำเนินคดี ‘หมวดเจี๊ยบ’ ซัดละเมิดสิทธิ์ คุกคามเสรีภาพ ?

 

วันที่ 24 ธ.ค.60 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดี ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง มีรายละเอียดระบุว่า สืบเนื่องจาก พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้าแจ้งความว่า ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง (เลิศภควัต) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัววิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และรัฐบาล เป็นการกระทำความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน และกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ตามมาตรา 14 พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา รวม 2 คดี 9 ข้อความ และยังมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีกเป็นคดีที่ 3 นั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มีความเห็นดังต่อไปนี้

   ตลอดระยะเวลา 3 ปี 7 เดือน ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ ได้ใช้กลไกกฎหมายในการควบคุมการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน และมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาตินำมาบังคับใช้อย่างกว้างขวางเพื่อปิดกั้นและคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน แม้คดีจะไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตราดังกล่าวก็ตาม อาทิเช่น คดีขันแดง คดีโพสต์แผนผังราชภักดิ์ คดีโพสต์กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ โอนเงินไปต่างประเทศ หรือคดีของ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ล้วนเป็นการดำเนินคดีเพื่อให้ประชาชนหยุดวิพากษ์วิจารณ์ คสช.หรือรัฐบาล เช่นเดียวกับกรณี ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง ซึ่งถูกฝ่ายกฎหมายของ คสช.ดำเนินคดีเพื่อให้ยุติการวิจารณ์รัฐบาล

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุอีกว่า ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีของพันธกรณีระหว่างประเทศหลายฉบับ มีพันธกิจที่ต้องปฏิบัติตาม โดยรัฐไทยต้องรับรอง เคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพนั้นได้อย่างไม่เลือกปฏิบัติ สอดคล้องกับข้อ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งรับรองว่า บุคคลมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง

ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ยังเคยมีข้อสังเกตเชิงสรุปต่อประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มี.ค.60 ว่า รัฐไทยควรงดเว้นการใช้พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ และกฎหมายอาญาเพื่อปราบปรามการแสดงความเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์และไม่เห็นพ้องกับรัฐ เสรีภาพในการแสดงออกเป็นหัวใจสำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประชาชนย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของบุคคลใดก็ตามซึ่งใช้ภาษีในการบริหารประเทศ

"การที่บุคคลอย่างในกรณีล่าสุดคือ ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง ใช้เสรีภาพในการแสดงออกของตนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนของคณะรัฐประหารดำเนินคดีด้วยมาตรา 116 นั้น เป็นเครื่องบ่งชี้อันสำคัญว่าการประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติในปี 2561 - 2562 ของรัฐไทยไม่เกิดผลได้จริง และการรักษากฎหมายตามที่ คสช.กล่าวอ้าง แท้แล้วคือการใช้กฎหมายเป็นอำนาจในการบั่นทอนหลักนิติรัฐของประเทศไทย" แถลงการณ์ ระบุ

ด้วยเหตุดังกล่าวศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงขอเรียกร้องให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยุติการดำเนินคดีต่อบุคคลซึ่งวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือ คสช.โดยสุจริต รวมถึงกรณี ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง เพื่อรักษากระบวนการยุติธรรมไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ และบังคับใช้กฎหมายอย่างสุจริตเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน