"จาตุรนต์" ร่ายยาว “หลังรัฐประหารปราบคอรัปชั่นล้มเหลว” ชี้ 4 ปี ไม่มีความหวัง

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แกนนำพรรคเพื่อไทย เขียนบทความเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ใจความว่า  

การต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นนั้น มีองค์ประกอบหลายด้าน เช่น กฎหมายและระเบียบต่างๆ บทบาทของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมไปถึงค่านิยม จิตสำนึกของคนและวัฒนธรรมประเพณีของสังคม

 

องค์กรในภาครัฐที่มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น ความจริงแล้ว มีทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ การทำหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ย่อมมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน การจะจัดการกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นได้ดี ต้องอาศัยกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ มีช่องโหว่ รูรั่วน้อย การบริหารที่โปร่งใสตรวจสอบได้ และการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นไปตามหลักนิติธรรม

สิ่งหนึ่ง ที่มีความสำคัญอย่างมาก ก็คือระบบและกลไกที่ใช้จัดการกับการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงมาตามยุคสมัย แต่น่าเสียดายที่กลับไม่พัฒนา

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาจนถึงปี 2514 กลไกที่ใช้ในการจัดการกับปัญหาการทุจริต คือ หน่วยงานราชการ

องค์กรป้องกันปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นแต่เดิมนั้น ใช้หน่วยงานราชการเป็นหลัก ต่อมาในปี 2514 จึงมีการตั้งองค์กรขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งในช่วงแรกเป็นการตั้งโดยคณะรัฐประหาร ต่อมาภายใต้รัฐบาลพลเรือนมีการออกกฎหมายตั้งองค์กรที่ขึ้นกับฝ่ายบริหารที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ยังมีบทบาทอย่างจำกัดอยู่ มีความพยายามเพิ่มบทบาทอำนาจหน้าที่ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

คณะรัฐประหารมักตั้งองค์กรพิเศษขึ้น โดยองค์กรเหล่านี้ขึ้นต่อคณะรัฐประหารหรือรัฐบาล เช่น ในปี 2514 มีคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ(กตป.)ตั้งโดยประกาศคณะปฏิวัติมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ปี 2534 มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินขึ้นตามประกาศ รสช.ฉบับที่ 26 เรื่องให้อายัดและห้ามจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินเป็นต้น ปี 2549 มีการตั้ง คตส. และหลังการรัฐประหารปี 2557 มีการตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ที่มีหัวหน้าคสช.เป็นประธาน

การแทรกแซงหรือการเข้ามาจัดการปัญหาการทุจริตเสียเองของคณะรัฐประหาร มักนำไปสู่ความล้มเหลว ไม่ได้รับการยอมรับเชื่อถือ ที่มักเป็นปัญหาร่วมกัน คือ การตั้งให้ผู้ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญ และต่อมาก็ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตของผู้มีอำนาจเอง เช่น กตป.ซึ่งมีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นประธาน และมีพ.อ.ณรงค์ กิตติขจร เป็นรองเลขาธิการ ที่มีบทบาทมากกว่าเลขาธิการ เป็นองค์กรที่ถูกมองว่าเลือกปฏิบัติ มีไว้จัดการฝ่ายตรงข้าม กรณีนี้มีทั้งจุดเหมือนและจุดต่าง กับกรณีการตั้งประธาน ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ที่มาจากคนสนิทใกล้ชิดของรองนายกรัฐมนตรีที่กำลังถูกตรวจสอบอยู่ในขณะนี้

รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ให้กำเนิด ป.ป.ช.ที่เป็นองค์อิสระขึ้นมา โดยมีเจตนารมณ์ว่า ป.ป.ช.จะเป็นองค์กรที่มีอำนาจมากและเป็นอิสระจากทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ การมีองค์กรอิสระนี้ได้เสนอปัญหาใหม่ คือ อำนาจของฝ่ายบริหารในการจัดการกับปัญหาการทุจริตหายไปอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ ป.ป.ช.ก็มีงานล้นมือและทำไม่ทัน

ป.ป.ช.เองก็หนีไม่พ้นคำถามที่ว่า ถูกแทรกแซงได้ เลือกปฏิบัติและขาดประสิทธิภาพ แต่น่าเสียดายที่แทนที่จะมีการปรับปรุงระบบให้เข้มแข็งขึ้น การรัฐประหาร 2 ครั้งในปี 2549 และ 2557 ทำให้เกิดการวางระบบคุณสมบัติที่มาของ ป.ป.ช.จนทำให้ ป.ป.ช.กลายเป็นองค์กรภายใต้การครอบงำของผู้ที่ไม่มีอะไรยึดโยงกับประชาชน คำว่า “อิสระ” จึงมีความหมายว่าเป็นอิสระจากประชาชน ป.ป.ช.กลายเป็นองค์กรที่มีสังกัด ถูกมองว่าแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เลือกปฏิบัติ จนไม่ได้รับความเชื่อถือจากสังคม

หลังการรัฐประหารปี 2557 ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีบทบาทใดๆในการตรวจสอบการทุจริต สื่อมวลชนและภาคประชาชนก็มีบทบาทอย่างจำกัดมาก เนื่องจากขาดเสรีภาพ การใช้อำนาจตามอำเภอใจของ คสช. จากการให้คุณให้โทษแก่ข้าราชการและการแทรกแซงในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการใหญ่ๆ ทำให้การป้องกันปรามปรามการทุจริตเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและไม่โปร่งใส

การตั้งองค์กรที่รับผิดชอบการป้องกันปราบปรามการทุจริตที่ซ้ำซ้อน ทำให้องค์กรต่างๆที่ควรเป็นอิสระไม่เป็นองค์กรอิสระ ทั้งในทางนิตินัยและพฤตินัย ระบบถูกรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ คสช.โดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายต่างๆในสังคม ขณะที่มีข่าวที่น่าสงสัยว่าจะมีการทุจริตคอรัปชั่น แต่ไม่มีการตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ จนไม่มีใครรู้ว่า ยังมีการทุจริตในกรณีอื่นๆอีกมากน้อยเพียงใด

ระบบที่จะใช้ในการจัดการกับปัญหาการทุจริตตั้งแต่นี้ต่อไป ถูกกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญที่อวดอ้างว่า เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น คือ เน้นการตรวจสอบและเอาผิดนักการเมืองกับเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระได้แก่ กกต. ป.ป.ช.และศาล

เมื่อกำหนดบทลงโทษหนักขึ้นมากและให้องค์อิสระ เช่น ป.ป.ช.เป็นต้น มีอำนาจมากขึ้นด้วยแล้ว ระบบตามรัฐธรรมนูญนี้ ก็เน้นเรื่องการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์ต่างๆเหล่านี้ไว้อย่างเข้มงวดที่เรียกกันว่า “ขั้นเทพ”

แต่สุดท้าย คุณสมบัติขั้นเทพนี้ก็ไม่ถูกนำมาใช้จริงในองค์กรสำคัญๆ เช่น ป.ป.ช.และ คตง. สังคมไทยจึงยังจะต้องอยู่กับระบบที่พิกลพิการภายใต้การครอบงำของผู้มีอำนาจไปอีกหลายปี

ความลักลั่นในการทำงานขององค์กรที่ คสช.ตั้งไว้ องค์กรสังกัดฝ่ายบริหารและองค์กรอิสระยังคงอยู่ต่อไป เกิดเป็นช่องโหว่ที่ไม่มีใครทำหน้าที่ปิดได้
 

 

ทั้งหมดนี้ ทำให้เข้าใจได้ไม่ยากว่าเหตุใดเวลาที่เขาจัดอันดับความสามารถในการจัดการกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในช่วง 3-4 ปีมานี้ ประเทศไทยจึงย่ำอยู่กับที่ในกลุ่มอ่อนด้อยล้าหลังและไม่มีวี่แววว่าจะกระเตื้องขึ้นเลย

การปราบคอรัปชั่นและการปฏิรูปประเทศเป็นข้ออ้างสำคัญของการยึดอำนาจและอยู่ในอำนาจของ คสช.มาตลอด แต่เกือบ 4 ปีมานี้เรากลับได้ระบบในการปราบปรามคอรัปชั่นที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม และไม่อาจฝากความหวังอะไรไว้ได้เลย นี่ย่อมหมายความว่าทั้งการปราบคอรัปชั่นและการปฏิรูประบบในการปราบปรามคอรัปชั่นภายใต้การปกครองของคสช.ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

การแก้ไขปรับปรุงระบบกลไกที่สำคัญ คงยังไม่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่ คสช.ยังมีอำนาจอยู่ เมื่อ คสช.พ้นอำนาจไปแล้ว การแก้ไขปัญหาบางส่วนสามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากสาระสำคัญของระบบที่เป็นปัญหาถูกสร้างขึ้นโดยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งยังแก้ไขได้ไม่ยากเหมือนตัวรัฐธรรมนูญเอง

ส่วนปัญหาของระบบในการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นทั้งระบบนั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับรัฐธรรมนูญ การจะแก้ไขแบบยกเครื่องคงต้องว่ากันอีกยาว