ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

เว็บไซต์เดลี่เมล์ของอังกฤษ ได้เผยแพร่บทความจากการให้สัมภาษณ์ของ Jason Mallinson และ Chris Jewell ซึ่งเป็นนักดำน้ำอังกฤษที่เดินทางมาสมทบในปฏิบัติการช่วยเหลือสมาชิกและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี่ออกจากถ้าหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยระบุว่าปฏิบัติการดังกล่าวมีโอกาสสูงมากที่มีผู้เสียชีวิต แต่ยังโชคดีที่ไม่เกิดขึ้น

นักดำน้ำของอังกฤษเผยว่า แผนเดิมของหน่วยซีลของไทย คือ การให้เด็กๆ อยู่ในถ้ำต่อไป เพื่อรอจนน้ำลดแล้วจึงออกมาจากถ้ำ แต่เนื่องจากสภาวะอากาศที่ยังคงมีฝนตกลงมาอย่างหนัก รวมถึงสุขภาพของเด็กที่แย่ลง และระดับออกซิเจนภายในถ้ำน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้หากยังคงแผนเดิมต่อไป อาจทำให้ทั้ง 13 คน ไม่มีโอกาศรอดชีวิตออกมา

ในบทสัมภาษณ์ดังกล่าวของเดลี่เมล์ เชื่อว่ายาที่ ดร.ริชาร์ด แฮร์ริส วิสัญญีแพทย์ชาวออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจนำเด็กและโค้ชทั้ง 13 คนออกมา ได้ใช้ยา Ketamine ซึ่งเป็นยากล่อมประสาทที่จะไม่ทำให้สลบ แต่จะทำให้ผู้ที่ได้รับตกอยู่ในภวังค์

 

นักดำน้ำอังกฤษ เผยหมูป่าถูกใช้ "ยาเค" เพื่อทำให้สงบ ก่อนลำเลียงออกจากถ้ำ

2 นักดำน้ำอังกฤษ เปิดเผยว่า พวกเขาเดินทางมาถึงประเทศไทยและเริ่มปฏิบัติภารกิจในวันที่ 6 กรกฎาคม โดยได้ใช้เวลาวันแรกในการทำความคุ้นเคยกับการดำน้ำในถ้ำตั้งแต่บริเวณโถง 3 ไปจนถึงเนินนมสาวซึ่งเป็นจุดที่อยู่ของทีมหมูป่า โดยเป็นการดำน้ำที่ยาวกว่า 1 ก.ม. และเต็มไปด้วยอุปสรรค รวมถึงช่องแคบต่างๆ ที่พร้อมจะทำให้ใครก็ตามตายได้ตลอด นอกจากนั้นพวกเขายังทำหน้าที่ทดสอบระดับของออกซิเจนในอากาศในที่ที่เด็กๆ อยู่ด้วย ซึ่งพวกเขาระบุว่า คุณภาพอากาศแย่มาก ระดับออกซิเจนที่น้อย ความชื้นที่ทำให้เหงื่อออกตลอดเวลา ทำให้รู้สึกเหมือนอยู่บนยอดเขาสูง

เมื่อกลับออกมา เสียงในหัวพวกเขาบอกว่านี่คงเป็นครั้งสุดท้ายที่พวกเขาจะได้เห็นเด็กๆ มีชีวิตอยู่ และก็เป็น Jason Mallinson นี่เองที่นำสมุดโน้ตใต้น้ำติดตัวไปด้วย และยื่นให้เด็กๆ เขียนจดหมายถึงผู้ปกครองเพื่อสร้างกำลังใจให้กับผู้ปกครองและตัวเด็กเอง

พวกเขายอมรับว่ารู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในการที่ต้องทิ้งเด็กๆ ไว้ที่นั่น แต่แม้กระนั้นเจ้าหน้าที่ของไทยก็ยังปฏิเสธข้อเสนอที่จะให้เด็กๆ ดำน้ำออกมา จนกระทั่งเกิดเหตุการเสียชีวิตของ จ.อ.สมาน กุนัน (ยศในขณะนั้น) เจ้าหน้าที่ไทยถึงยอมรับว่า การให้เด็กว่ายน้ำออกมาเป็นทางเลือกเดียวที่เป็นไปได้ แม้จะเป็นทางเลือกที่เสี่ยงที่สุดก็ตาม 

การตายของ จ.อ.สมาน ทำให้เจ้าหน้าที่ไทยตระหนักว่า พวกเขาโชคดีมากที่ส่งหน่วยซีลไปถึงที่อยู่ของเด็กๆ ได้โดยยังไม่มีใครตาย และการใช้นักดำน้ำต่างชาติเป็นทางเลือกเดียวในการช่วยเหลือเด็กๆ ออกมา ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ไทยตัดสินใจเลือกทางเลือกนี้ในที่สุด

British Cave Rescue Council (BCRC) จึงระดมนักดำน้ำในถ้ำมายังประเทศไทยเพิ่มเติมเพื่อปฏิบัติการครั้งสำคัญ หนึ่งในนั้นก็คือ Josh Bratchley ซึ่งพวกเขาจะทำหน้าที่ในการเปลี่ยนถังอากาศและพาเด็กสไลด์ข้ามเนินดินก่อนที่จะลงดำอีกครั้ง

Jason Mallinson และ Chris Jewell ยังเป็น 2 ใน 4 นักดำน้ำที่ไปเตรียมเด็กให้พร้อมกับการดำ แม้ว่าเด็กๆ จะไม่มีโอกาสที่จะฝึกใช้หน้ากากก็ตาม พวกเขาให้เด็กๆ ใส่ Wetsuit ใส่หน้ากากเต็มหน้า และดูขอบกันน้ำให้พร้อม ก่อนให้เด็กๆ หันหน้าลง และพาดำลงน้ำไป

แต่พวกเขากล่าวว่า แม้ว่าจะเป็นผลจากยาด้วยที่ทำให้เด็กๆ ไม่ตกใจ แต่มันก็น่าแปลกใจมากที่เด็กๆ สงบนิ่งได้อย่างน่าประหลาด แม้ว่าพวกเขาจะไม่ใช่นักดำน้ำก็ตาม นั้นแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญเป็นอย่างมากของเด็กๆ และพวกเขาไม่เห็นสัญญาณใดเลยที่เด็กๆ จะเกิดอาการตกใจ

การดำน้ำช่วงแรกเป็นการดำ 320 เมตร ต่อเนื่อง แต่โถงมีลักษณะกว้าง พวกเขาจะถามเด็กๆ โดยใช้ศัพท์ง่ายๆ ว่า เด็ก โอเคไหมเพื่อทำให้พวกเขาใจเย็น เนื่องจากเด็กๆ รู้ภาษาอังกฤษไม่กี่คำ

โดยรวมแล้วนักดำน้ำ 1 คนจะเป็นผู้พาเด็กๆ ให้เคลื่อนที่ ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีเสื้อช่วยลอยตัวอยู่ซึ่งจะมีสายโยงที่ทำให้นักดำน้ำสามารถดึงเด็กๆ มากับตัวได้ และอีกมือหนึ่งจะต้องจับเชือกนำทางไว้ ถ้าปล่อยเชือก หมายความว่าทั้งนักดำน้ำทั้งเด็กจะหลงทาง

พวกเขารู้สึกถึงความรับผิดชอบที่ชีวิตเด็กๆ อยู่ในมือพวกเขา จะต้องระวังไม่ทำให้หน้ากากของเด็กๆ หลุดออก ซึ่งมันเครียดมาก ในบางช่วงพวกเขาจะต้องดันเด็ก ๆ ผ่านช่องที่มีความแคบเพียง 15 นิ้วในขณะที่ยังต้องถือถังอากาศของทั้งเด็ก ๆ และของตัวเขาเอง ในน้ำที่มีทัศนวิสัยเหมือนกับการดำน้ำในกาแฟ และด้วยการที่พวกเขาอยากจะสัมผัสผนังถ้ำเพื่อให้รู้สึกได้ว่ามีอะไรอยู่รอบๆ ตัวเขา พวกเขาจึงตัดสินใจไม่สวมถุงมือ นั้นทำให้มือและข้อนิ้วของพวกเขาถูกกระทบเป็นอย่างมาก เหมือนกับการที่เอามือต่อยกำแพง

 

นักดำน้ำอังกฤษ เผยหมูป่าถูกใช้ "ยาเค" เพื่อทำให้สงบ ก่อนลำเลียงออกจากถ้ำ

ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับอุปกรณ์ของเด็กๆ หรือดันเด็กๆ ไปกระแทกกับผนังถ้ำ เด็กๆ จะต้องตายอย่างแน่นอน เพราะพวกเขาทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการว่ายน้ำให้เร็วที่สุดเพื่อไปยังโถงอากาศต่อไป ซึ่งมันใช้เวลาราว 2 - 3 ชั่วโมงในการนำเด็กแต่ละคนผ่านส่วนนี้ส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่สหรัฐและไทย ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาจะเริ่มคุ้นเคยกับจังหวะการหายใจของเด็กๆ และสิ่งที่บ่งบอกว่าเด็กๆ ยังหายใจอยู่ก็คือฟองอากาศที่ลอยออกมาจากหน้ากากของเด็ก ๆ ที่พวกเขาสามารถได้ยินเสียงได้

ในวันสุดท้าย ทุกคนตระหนักว่าเวลาเหลือน้อยลงแล้ว และจำเป็นจะต้องนำเด็กๆ ที่เหลือ 5 คนออกมา ซึ่งทำให้ Jason Mallinson ต้องนำเด็กดำน้ำลงมา ส่งผ่านให้กับนักดำน้ำคนอื่น และว่ายย้อนกลับไปรับเด็กคนอื่นมาใหม่ เมื่อนำเด็กคนสุดท้ายดำลง ทัศนวิสัยแย่มากจนแม้แต่มือตัวเองก็มองไม่เห็น ทำให้พวกเขาต้องกอดเด็กๆ ไว้ใกล้กับตัวให้มากที่สุดเพื่อที่ว่าถ้าจะชนผนังถ้ำ พวกเขาจะได้เป็นคนชนก่อนที่เด็กจะชน

ในขณะที่ดำน้ำนำเด็กๆ ออกมา พวกเขาต้องทำใจให้สงบที่สุด แต่ในการนำเด็กคนสุดท้ายออกมา มันก็เริ่มช่วยไม่ได้ที่จะคิดว่าเราทำสำเร็จแล้วและเริ่มมีการจุกๆ ในคอ จนเมื่อผู้ปกครองของเด็กเข้ามาขอบคุณพวกเขา นั่นก็ทำให้พวกเขาตื้นตันและน้ำตาคลอ

พวกเขายังกล่าวว่า พวกเขาแปลกใจที่หน่วยซีลของไทยใช้มาตรการความปลอดภัยที่ต่างจากนักดำน้ำต่างชาติอย่างสิ้นเชิง Jason Mallinson กล่าวว่าการดำน้ำในถ้ำ ทำให้พวกเขาออกจาก Comfort zone และนั่นทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดอุบัติเหตุ พวกเขาไม่ได้ใช้วิธีการที่ถูกต้องและไม่มีอุปกรณ์ที่้เหมาะสม เช่นในขณะที่นักดำน้ำในถ้ำจะมีอุปกรณ์สำรองและพกถังอากาศอย่างน้อยสองถัง ตัวปรับแรงดันสองตัว และไฟฉายสามอันเสมอ แต่พวกนักดำน้ำในถ้ำสังเกตุว่าหน่วยซีลมักจะใช้ถังอากาศและตัวปรับแรงดันแค่ตัวเดียว ซึ่งถ้าอุปกรณ์มีความผิดพลาด พวกเขาก็จะเจอปัญหา

และพวกเขารู้สึกตกใจเป็นอย่างมากที่พบว่า หน่วยซีลทั้ง 4 นายนั้นไม่มีอากาศเพียงพอสำหรับขากลับ เพราะพวกเขาทำตามคำสั่งว่าให้ดำน้ำมาอยู่กับเด็กๆ จนจบเท่านั้น แต่ในระหว่างทางพวกเขาใช้อากาศจนหมด ทำให้นักดำน้ำในถ้ำทั้งสี่คนคือ Jason Mallinson, Chris Jewell, Rick Stanton, และ John Volanthen ต้องนำถังอากาศมาให้กับซีลทั้งสี่นายในขณะที่ดำน้ำมารับเด็กๆ ด้วย

แต่ Josh Bratchley กล่าวว่าภารกิจนี้ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าที่คิดไว้มาก สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในปฏิบัติการนี้จะช่วยเหลือผู้คนมากมายที่อาจจะติดในถ้ำในอนาคต และย้ำว่าภารกิจนี้คือการทำงานเป็นทีมไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติใดก็ตาม

Daily Mail ยังชื่นชมว่าพวกนักดำน้ำในถ้ำแต่ละคนต่างปฏิเสธที่จะพูดว่าตัวเองเป็นฮีโร่หรือกล่าวถึงความกล้าหาญของตน แม้ว่าพวกเขาต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก สภาวะแวดล้อมที่เลวร้ายที่มีแค่ไม่กี่คนที่กล้าพอที่จะเข้าไปก็ตาม

 

 

นักดำน้ำอังกฤษ เผยหมูป่าถูกใช้ "ยาเค" เพื่อทำให้สงบ ก่อนลำเลียงออกจากถ้ำ

 

ภาพ :AFP, REUTERS