ทั่วโลกยก 31 ก.ค. วันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก คนไทยไม่เคยลืมเสียงปืนสนั่นห้วยขาแข้งของชายที่ชื่อ "สืบ นาคะเสถียร"

ทั่วโลกยก 31 ก.ค. วันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก คนไทยไม่เคยลืมเสียงปืนสนั่นห้วยขาแข้งของชายที่ชื่อ "สืบ นาคะเสถียร"

World Ranger Day, 31 กรกฎาคม วันผู้พิทักษ์ป่าโลก วันนี้ในทุกๆ ปี สมาพันธ์ผู้พิทักษ์ป่าระหว่างประเทศได้กำหนดให้เป็นวันที่ระลึกถึงผู้พิทักษ์ป่าซึ่งบาดเจ็บและเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ “แม้ว่าเราไม่สามารถนำพวกเขาเหล่านั้นกลับมาได้ แต่เราสามารถแสดงความเคารพและไม่ลืมเลือนความเสียสละของพวกเขาได้”

 

จุดเริ่มต้นและที่มาของวันผู้พิทักษ์ป่าโลกเกิดขึ้นจาก ในการประชุม World Congress Ranger ปี 2006 ที่สกอตแลนด์ ผู้เข้าร่วมประชุมจาก International Federation Ranger (IRF) หรือสมาพันธ์ผู้พิทักษ์ป่าระหว่างประเทศ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า ผู้เป็นกำลังสำคัญในการทำหน้าที่ปกป้องพื้นที่คุ้มครองของโลก ได้ลงมติให้วันที่ 31 กรกฎาคมของทุกปี เริ่มต้นในปี 2007 เป็นวันผู้พิทักษ์ป่าโลก จัดขึ้นครั้งแรกในวาระครบรอบปีที่ 15 ของการก่อตั้ง IRF (วันที่ 31 กรกฎาคม 1992) ในวันผู้พิทักษ์ป่าโลกครั้งแรกได้รวบรวมเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้พิทักษ์ป่าทั่วโลกแสดงเป็นภาพยนต์ในรอบปฐมทัศน์เรื่อง “The Thin Green Line”


และในประเทศไทย บุคคลที่เมื่อพูดถึงการอนุรักษ์ รักษาผืนป่าและเป็นต้นแบบที่ชัดเจนมากที่สุดก็คือบุคคลต้นแบบ "สืบ นาคะเสถียร" เพราะเป็นคนที่ยอมเสียสละชีวิตตัวเองเพื่อเรียกร้องให้สังคมได้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ช่วงที่มีชีวิตอยู่ สืบ ได้สร้างคุณประโยชน์ และผลงานต่างๆ ไว้มากมายแม้ในวันที่ตัดสินใจทำอัตวินิบาตกรรม ก็ยังทำเพื่อสังคม โดยในวันนี้สำนักข่าวทีนิวส์จะได้หยิบยกประวัติ คุณงามความดีของ สืบ นาคะเสถียร เพื่อให้คนไทยได้รำลึกถึงวีรชนคนกล้าเนื่องในวัน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก World Ranger Day

 

ทั่วโลกยก 31 ก.ค. วันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก คนไทยไม่เคยลืมเสียงปืนสนั่นห้วยขาแข้งของชายที่ชื่อ "สืบ นาคะเสถียร"


 

สืบ นาคะเสถียร ชื่อเดิม สืบยศ ชื่อเล่นว่า "แดง" เกิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 เสียชีวิตวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 รวมอายุ 40 ปี 244 วัน เป็นนักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติชาวไทย มีชื่อเสียงจาการพยายามปกป้องแก่งเชี่ยวหลานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เกิดที่ตำบลท่างาม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของนายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี กับนางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมดสามคน สืบ เองเป็นคนโต สืบมีบุตรสาวหนึ่งคน คือ ชินรัตน์ นาคะเสถียร

 

ประวัติการศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2514 หลังจากสำเร็จการศึกษาได้เข้าทำงานที่การเคหะแห่งชาติ จนถึงปี พ.ศ. 2517 และได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสาขาวิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518

 

เมื่อสำเร็จปริญญาโท สืบเข้ารับราชการเป็นพนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ขณะนั้นกองอนุรักษ์สัตว์ป่าเพิ่งก่อตั้งขึ้น และสืบเลือกหน่วยงานนี้เพราะต้องการงานเกี่ยวกับสัตว์ป่า งานแรกของสืบคือการประจำอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี 

 

ต่อมาปี พ.ศ. 2522 สืบได้รับทุนการศึกษาจากบริติชเคาน์ซิล จึงศึกษาระดับปริญญาโทอีกที่สาขาอนุรักษวิทยา มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ และสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2524 แล้วกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ ปี พ.ศ. 2526 สืบขอย้ายไปเป็นนักวิชาการประจำกองอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่อทำหน้าที่วิจัยสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียว

 

งานวิจัยเริ่มแรกว่าด้วยจำนวน ชนิด พฤติกรรม และการทำรังของนก สืบริเริ่มใช้เครื่องมือสมัยใหม่บันทึกการวิจัย เช่น กล้องวีดิทัศน์ กล้องถ่ายภาพ และการสเก็ตซ์ภาพ ข้อมูลของสืบกลายเป็นผลงานวิจัยสัตว์ป่าชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งในภายหลัง เช่น สไลด์ภาพสัตว์ป่าหายาก กับทั้งวีดิทัศน์ความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าและการทำลายป่าในประเทศไทย ทีสืบผลิตขึ้นเองทั้งสิ้น

 

สืบได้เป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในพื้นที่มากกว่าหนึ่งแสนไร่ แต่มีงบประมาณเริ่มต้นเพียงแปดแสนบาท ไม่มีการอนุมัติอุปกรณ์ช่วยชีวิตสัตว์ป่า แต่สืบยังคงพยายามทำงานและศึกษาข้อมูลทั้งทางหนังสือและพรานท้องถิ่น


ในปี พ.ศ. 2529 สืบได้เป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) บริเวณแก่งเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี สืบได้ช่วยอพยพสัตว์ป่าที่ตกค้างอยู่ในแก่งเพราะปัญหาการสร้างเขื่อนจนเกิดน้ำท่วม ช่วยเหลือสัตว์ได้ 1,364 ตัว ส่วนมากที่เหลือถึงแก่ความตาย

 

สืบจึงเข้าใจว่า งานวิชาการเพียงอย่างเดียวไม่อาจช่วยพิทักษ์ป่าซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติได้ ในภายหลังจึงได้ร่วมกิจกรรมหลายอย่าง เช่น คัดค้านรัฐบาลในการที่จะสร้างเขื่อนน้ำโจน ในบริเวณทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี สืบยังได้รายงานผลการอพยพสัตว์ต่อสาธารณชนเพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักภัยป่า โดยยืนยันว่าการสร้างเขื่อนมีโทษมากกว่าคุณ เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติชนิดที่ชดเชยภายหลังมิได้ แต่ความพยายามของสืบนั้นไร้ผล จนกระทั่งนักอนุรักษ์ได้รวมกลุ่มสนับสนุนสืบ โครงการสร้างเขื่อนน้ำโจนจึงระงับไป

 

ทั่วโลกยก 31 ก.ค. วันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก คนไทยไม่เคยลืมเสียงปืนสนั่นห้วยขาแข้งของชายที่ชื่อ "สืบ นาคะเสถียร"

การทำงานที่ห้วยขาแข้ง ในปี พ.ศ. 2531 สืบกลับเข้ารับราชการที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า และพยายามเสนอให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกเพื่อเป็นหลักประกันว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดังกล่าวจะได้รับการพิทักษ์รักษาถาวร (ปัจจุบันมีอนุสาวรีย์สืบ นาคะเสถียร ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง)

 

สืบ ได้ทำกิจกรรมหลายประการเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและอพยพสัตว์ป่าที่ยังตกค้างอยู่ในแก่งเชี่ยวหลานแต่ความพยายามของสืบนั้นประสบผลสำเร็จน้อย เพราะผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไม่ให้ความสนใจ ชาวบ้านท้องถิ่นก็สนใจปากท้องมากกว่า จึงรับจ้างผู้มีอิทธิพลเข้ารุกรานป่าเสมอมา สืบเสนอให้สร้างแนวป่ากันชนเพื่อกันชาวบ้านออกนอกแนวกันชน และพัฒนาพื้นที่ในแนวกันชนให้เป็นป่าชุมชนที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจเช่นกัน

 

ด้วยความที่ต้องรับแรงกดดันกดดันหลายๆ ด้าน และเป็นการเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐให้ใส่ใจต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างแท้จริง สืบจึงตัดสินใจประท้วงด้วยการฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืนในบ้านพักของสืบที่ห้วยขาแข้ง โดยได้เตรียมการไว้แล้ว วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2533 สืบยังคงปฏิบัติงานตามปกติ และได้เตรียมจัดการทรัพย์สินที่หยิบยืมและทรัพย์สินส่วนตัว และอุทิศเครื่องมือเครื่องใช้ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่าให้แก่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สั่งให้ตั้งศาลเคารพดวงวิญญาณเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตในการรักษาป่าห้วยขาแข้ง

 

ในช่วงหัวค่ำของสืบยังคงปฏิบัติตัวพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตามปกติดั่งเช่นเคยทำ ช่วงดึกสืบขอลากลับไปบ้านพัก โดยกลับไปเตรียมจัดการทรัพย์สินที่เหลือและได้เขียนจดหมายหกฉบับ มีเนื้อหาสั้นๆ ชี้แจงการฆ่าตัวตาย จนกระทั่งเช้ามืดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 มีเสียงปืนดังขึ้นจากบ้านพักของสืบหนึ่งนัด จนกระทั่งช่วงก่อนเที่ยงของวันจึงได้มีเจ้าหน้าที่ของกรมฯ เข้าไปดู ซึ่งก่อนหน้าเข้าใจว่าสืบไม่สบาย และเมื่อเข้าไปพบร่างของสืบนอนตะแคงข้างห่มผ้าเรียบร้อย พอเข้าไปใกล้จึงได้เห็นอาวุธปืนตกอยู่ข้างๆ และเห็นบาดแผลที่ศีรษะด้านขวา สืบได้จบชีวิตลงอย่างเตรียมตัวและพร้อมอย่างสงบ

 

สองสัปดาห์ต่อมา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงประชุมกำหนดมาตรการป้องกันการบุกรุกป่าห้วยขาแข้ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สืบได้พยายามขอให้ประชุมมาแล้วหลายครั้ง จึงมีผู้กล่าวว่า ถ้าไม่มีเสียงปืนในวันนั้น ก็ไม่มีการประชุมดังกล่าว จากการจากไปของสืบในวันนั้น ทำให้มีการกำหนดวันที่สืบเสียชีวิต วันที่ 1 กันยายน ของทุกปี เป็นวันสืบนาคะเสถียร ขึ้น

 

ทั่วโลกยก 31 ก.ค. วันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก คนไทยไม่เคยลืมเสียงปืนสนั่นห้วยขาแข้งของชายที่ชื่อ "สืบ นาคะเสถียร"

 

ขอบคุณ : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , http://www.thairanger.com , กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช