1 ก.ย. ย้อนรำลึกอาลัย วีรบุรุษแห่งห้วยขาแข้ง "สืบ นาคะเสถียร"

ย้อนรำลึกอาลัย 1 ก.ย. ครบรอบการจากไป "สืบ นาคะเสถียร" วีรบุรุษแห่งห้วยขาแข้ง

1 ก.ย. ย้อนรำลึกอาลัย วีรบุรุษแห่งห้วยขาแข้ง "สืบ นาคะเสถียร"

 

    1 ก.ย. 2533 เสียงกัมปนาทของดินปืน แผ่กังวาลกึกก้องไปทั่วทั้งผืนป่า ลมหายใจสุดท้ายของ วีรบุรุษไพรแห่งห้วยขาแข้งสิ้นสุดลงบัดเดี๋ยวนั้น เป็นอันปิดฉากสมรภูมิการต่อสู้เพื่อสรรพสัตว์และผืนป่ามากว่า 20 ปี

   
    วันที่ 1 กันยายน ของทุกปี จึงเป็นวันรำลึกการจากไปของชายผู้หนึ่ง นามว่า สืบ นาคะเสถียร ผู้มีอุดมการณ์และปณิธานอันแรงกล้า ที่สละชีวิตของตนโดยกระทำอัตวินิบาตกรรม หวังเพียงเพื่อ เรียกร้องให้สังคมและหน่วยงานราชการ ได้ตระหนักและหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ไว้ซึ่งพื้นที่ป่าไม้ และแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง

 

    และในวันนี้เป็นวันครบรอบ 28 ปี การจากไป ของ สืบ นาคะเสถียร  สำนักข่าวทีนิวส์ขอสดุดีวีรกรรมและความเสียสละ ด้วยการพาทุกท่านได้ทำความรู้จักประวัติ ตลอดจนชีวิตการทำงานและคุณูปการที่ชายผู้นี้ได้สร้างไว้ เพื่อเป็นเสมือนเครื่องย้ำเตือนจิตใจ และไม่ลืมเลือนชายผู้นี้ไปตามกาลเวลา เพราะหากไม่มี สืบ นาคะเสถียร ในวันนั้น อาจไม่มีมรดกโลก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ในวันนี้
    

    สืบ นาคะเสถียร แต่เดิมชื่อว่า "สืบยศ" มีชื่อเล่นว่า "แดง"  เป็นคน จ.ปราจีนบุรีโดยกำเนิด มีบิดาคือนายสลับ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และมารดาคือนางบุญเยี่ยม สืบ เป็นบุตรชายคนโตจากพี่น้องทั้งหมด 3 คน 

 

    ด้วยอุปนิสัยส่วนตัวที่มีความมุ่งมั่น และมีความตั้งใจอย่างจริงจัง ในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ประสบความสำเร็จ ส่งผลให้ผลการเรียนของเขาอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาโดยตลอด ภายหลังจากศึกษาในระดับประถมต้น มีเหตุให้เขาต้องจากครอบครัวเพื่อไปเรียนต่อโรงเรียนเซนต์หลุยส์ จ.ฉะเชิงเทรา จนกระทั่งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5

 

 

1 ก.ย. ย้อนรำลึกอาลัย วีรบุรุษแห่งห้วยขาแข้ง "สืบ นาคะเสถียร"

 

    ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อในคณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากคำบอกเล่าของเพื่อนผู้ใกล้ชิดกล่าวว่า สืบมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีเยี่ยม เข้าร่วมกิจกรรมของทางมหาวิทยาลัยอยู่เสมอ ภายหลังจบการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยใน ปี 2514 ชีวิตการทำงานของเขาเริ่มต้นที่ การเคหะแห่งชาติ พร้อมกับศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสาขาวิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ ควบคู่กันไปด้วย

    เส้นทางชีวิตการรับราชการในกรมป่าไม้ของสืบได้เริ่มต้นในปี 2518 โดยบรรจุในตำแหน่ง พนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงหน่วยงานขนาดเล็กที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นไม่นาน เหตุผลที่ตัดสินใจเลือกหน่วยงานนี้ เพราะมีความตั้งใจว่าต้องการทำงาน เกี่ยวกับสัตว์ป่าโดยตรง มีพื้นที่รับผิดชอบคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมภู่ จ.ชลบุรี

 

 

1 ก.ย. ย้อนรำลึกอาลัย วีรบุรุษแห่งห้วยขาแข้ง "สืบ นาคะเสถียร"

 

    การปฏิบัติงานของสืบนั้น ไม่ต่างอะไรกับการเป็นผู้รักษากฏหมาย แต่สิ่งที่เขาได้สัมผัสด้วยตัวเอง กลับเป็นความเจ็บปวดจากการที่เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ผู้ซื่อสัตย์ เพราะเหล่าผู้มีอิทธิพลและผู้รุกทำลายป่า ที่เขาจับกุมได้นั้น ล้วนแล้วแต่ได้รับการปฏิบัติอย่างสุภาพนุ่มนวล ราวกับไม่ใช่ผู้ต้องหา

 

    ต่อมาในปี 2522 ด้วยประสบการณ์และความสามารถของสืบ ทำให้เขาได้รับทุนการศึกษาจากบริติชเคาน์ซิล สาขาอนุรักษวิทยา มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษและสำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2524 และได้กลับมารับตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ โดยทำหน้าที่ทั้งการเป็นวิทยากร ฝึกอบรมพนักงานพิทักษ์ป่าอีกหลายรุ่น แต่อาจด้วยเพราะความบอบช้ำจากการได้เห็นถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น สองปีต่อมาเขาจึงตัดสินใจเดินหน้าเป็นนักวิชาการเต็มตัว ด้วยย้ายไปเป็นนักวิชาการประจำกองอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่อทำหน้าที่วิจัยสัตว์ป่าแต่เพียงอย่างเดียว

 

    หลากหลายงานวิจัยที่สืบได้อุทิศตนค้นคว้า ราวกับเป็นชีวิตและจิตใจ มีการริเริ่มใช้เครื่องมือสมัยใหม่เพื่อบันทึกการวิจัยทั้งการใช้กล้อง วีดีโอ ตลอดจนการสเก็ตซ์ภาพ ทำให้เขามีความใกล้ชิดกับสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นความผูกพันในเวลาต่อมา และผลงานวิจัยของเขานั้นล้วนแล้วแต่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่วงการป่าไม้ไทยแทบทั้งสิ้น เช่น การทำรังวางไข่ของนกบางชนิดที่ อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี สัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทย พ.ศ. 2524 ,รายงานการสำรวจนก บริเวณอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี สัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทย พ.ศ. 2526 เป็นต้น

 

1 ก.ย. ย้อนรำลึกอาลัย วีรบุรุษแห่งห้วยขาแข้ง "สืบ นาคะเสถียร"
 
   

    อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญอันเป็นภาพตราตรึงใจและถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์จวบจนทุกวันนี้ ในปี 2529 สืบได้รับมอบหมาย ปฏิบัติงานในหน้าที่ หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้าง ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนรัชชประภาหรือเขื่อนเชียวหลาน จ.สุราษฏร์ธานี เพื่อทำการช่วยเหลืออพยพสัตว์ป่าที่ตกค้างในอ่างเก็บน้ำ เกิดจากการสร้างเขื่อนจนเกิดน้ำท่วม สืบได้พยายามอย่างเต็มที่ เท่าที่สติปัญญาและความสามารถของเขาจะอำนวย โดยมิได้คำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองแม้แต่น้อย

 

 

1 ก.ย. ย้อนรำลึกอาลัย วีรบุรุษแห่งห้วยขาแข้ง "สืบ นาคะเสถียร"

 

    ภาพของชายผู้หนึ่งที่พยายามปั๊มหัวใจกวางให้รอดชีวิตจากการจมน้ำ หรือแม้กระทั่งปีนต้นไม้เพื่อช่วยลิงให้รอดพ้นจากความตาย ยังคงเป็นที่เล่าขานจวบจนทุกวันนี้ แต่แล้วสองมือเขาของไม่อาจช่วยสัตว์ป่าได้ทุกตัว มีเพียง 1,364  ชีวิตเท่านั้นที่รอด 

 

 

    ในที่สุดเขาก็ตระหนักได้ว่างานด้านวิชาการแต่เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถพิทักษ์ไว้ซึ่งผืนป่าที่เป็นปัญหาระดับชาติได้ ในปี 2531 เขาตัดสินใจกลับมารับราชการที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่าอีกครั้ง และใช้ความพยายามครั้งสุดท้ายในการเสนอให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกเพื่อเป็นหลักประกันว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดังกล่าวจะได้รับการพิทักษ์รักษาถาวร ปลายปี 2532 สืบได้รับการศึกษาต่ออีกครั้ง ในระดับปริญญาเอก ที่ประเทศอังกฤษ พร้อมกับการได้รับมอบหมาย ให้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งควบคู่ไปด้วย

 

    แต่แล้วความพยายามของเขากลับไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยความที่ต้องรับแรงกดดันจากหลายด้านและภาครัฐยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้ง ลูกน้องคนใกล้ชิดของเขาหลายคน ต้องพลีชีพเพื่อผืนป่าจบชีวิตลงด้วยน้ำมือของผู้มีอิทธิพลและไม่สามารถจับตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีได้

1 ก.ย. ย้อนรำลึกอาลัย วีรบุรุษแห่งห้วยขาแข้ง "สืบ นาคะเสถียร"

 

    จวบจนกระทั่งวันที่ วันที่ 31 สิงหาคม 2533 เป็นอีกวันหนึ่งที่สืบเหมือนจะปฏิบัติงานตามปกติ โดยที่ไม่มีใครรู้ สืบได้เตรียมจัดการทรัพย์สินที่หยิบยืม และทรัพย์สินส่วนตัว และอุทิศเครื่องมือเครื่องใช้ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่าให้แก่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สั่งให้ตั้งศาลเพื่อเคารพดวงวิญญาณเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตในหน้าที่การรักษาป่าห้วยขาแข้ง ต่อมาในช่วงค่ำสืบยังคงทักทายลูกน้องสั่งงานตามหน้าที่ดั่งเช่นปกติที่เคยทำ เมื่อกลับถึงบ้านพักเขาเขียนจดหมายทั้งหมดหกฉบับ โดยมีเนื้อความสั่งเสียและชี้แจ้งคนใกล้ชิดถึงการฆ่าตัวตาย

 

    ในที่สุด เช้ามืดวันที่ 1 กันยายน 2533 ยังไม่ทันที่แสงอาทิตย์จะพ้นขอบฟ้า เสียงปืนคำรามไปทั่วราวป่า สืบตัดสินใจประท้วงด้วยการฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืนในบ้านพัก เป็นการปิดม่านชีวิตผู้พิทักษ์ป่าในวัยเพียง 40 ปี 

 

    หลังจากนั้นอีกสองอาทิตย์ต่อมา ราวกับประกายไฟจากปากกระบอกปืนนั้น เป็นแสงแห่งความหวัง เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมป่าไม้ รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ นายอำเภอ ป่าไม้เขต และ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ แทบจะเรียกได้ว่าหน่วยงานจากทุกภาคส่วน จัดการประชุมอย่างเร่งด่วนที่ห้วยขาแข้งเพื่อหามาตรการป้องกันการบุกรุก การประชุมครั้งนี้สืบได้ทำการร้องขอให้เกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง แต่ก็เป็นเรื่องเศร้านักเพราะเขาไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมการประชุม จนภายหลังมีผู้กล่าวว่า "หากไม่มีเสียงปืนนัดนั้น การประชุมก็คงไม่เกิดขึ้น"  1 ปีต่อมา ปณิธานของสืบ นาคะเสถียร ก็สัมฤทธิ์ผล เมื่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยองค์การยูเนสโกเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2534

 

 

1 ก.ย. ย้อนรำลึกอาลัย วีรบุรุษแห่งห้วยขาแข้ง "สืบ นาคะเสถียร"

 

    สืบ นาคะเสถียร ได้อุทิศตนเพื่อรักษาไว้ซึ่งมรดกทางธรรมชาติ แต่ก็ยังคงมีหลายครั้งหลายคราที่เรามักพบข่าวการบุกรุกป่า และล่าสัตว์เพียงเพื่อสนองกิเลสตัณหาของตน ในวันที่ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติเหลือน้อยลงเต็มที แต่อุดมการณ์และความเสียสละของสืบจะไม่สูญเปล่าหากคนรุ่นหลังพร้อมที่จะสานต่อเจตนารมณ์ และช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติต่อไป

 

1 ก.ย. ย้อนรำลึกอาลัย วีรบุรุษแห่งห้วยขาแข้ง "สืบ นาคะเสถียร"