ครบรอบ 1 ปี ย้อนคดี "น้องเมย" การจากไปที่สังคมยังคาใจ ไขรหัส ซ่อม หรือ ซ้อม

สละแล้วสิ้นซึ่งชีวิตวัยรุ่น แบกความฝันและความหวังไว้บนบ่า ก้าวเข้าสู่สถาบันอันทรงเกียรติ ด้วยหวังจะเป็น "รั้วของชาติ" ในอนาคต จากนักเรียนพลเรือนสู่นักเรียนทหาร

ครบรอบ 1 ปี ย้อนคดี "น้องเมย" การจากไปที่สังคมยังคาใจ ไขรหัส ซ่อม หรือ ซ้อม

 

    สละแล้วสิ้นซึ่งชีวิตวัยรุ่น แบกความฝันและความหวังไว้บนบ่า ก้าวเข้าสู่สถาบันอันทรงเกียรติ ด้วยหวังจะเป็น "รั้วของชาติ" ในอนาคต จากนักเรียนพลเรือนสู่นักเรียนทหาร กว่า 7 ปี ที่ผ่านการบ่มเพาะระเบียบวินัยพร้อมเจนจบทุกศาสตร์วิชาการรบ พวกเขาถูกหล่อหลอมขึ้นจากคำปฏิญาณที่ก้องอยู่ในโสตอันความว่า "ตายในสนามรบเป็นเกียรติของทหาร" 

 

    เช่นเดียวกับนักเรียนเตรียมทหารนามว่า นตท.ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ "น้องเมย" หนึ่งในเด็กหนุ่มผู้ฝ่าฟันด่านอรหันต์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนเตรียมทหาร เส้นทางชีวิตของเขาหลังจากนี้ควรถูกลิขิตไว้ตามแบบฉบับของว่าที่ผู้หมวดหนุ่มอนาคตไกล 

 

    แต่แล้ววันที่ 17 ต.ค. 2560 เป็นวันที่หัวใจของครอบครัวตัญกาญจน์ ต้องแตกสลาย เมื่อน้องเมย นักเรียนเตรียมทหารปีที่ 1 วัย 18 ปี ได้เสียชีวิตลงอย่างปริศนา หลังจากกลับเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้เพียง 1 วัน เหตุการณ์นี้ได้สร้างแรงกระเพื่อมขึ้นในสังคมไทย ที่ต่างพร้อมใจกันตั้งคำถามและให้ความสนใจ ถึงการตายอย่างมีเงื่อนงำของน้องเมย หากอีกประการหนึ่งอาจด้วยเพราะประเทศไทยยังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและรัฐบาลยังคงเสมือนอันหนึ่งอันเดียวกัน อีกทั้งผู้นำประเทศในช่วงเวลานี้ล้วนแต่เคยผ่านรั้วโรงเรียนเตรียมทหารมาทั้งสิ้น จึงไม่แปลกใจนักที่ประเด็นดังกล่าวจะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด 

 

 

ครบรอบ 1 ปี ย้อนคดี "น้องเมย" การจากไปที่สังคมยังคาใจ ไขรหัส ซ่อม หรือ ซ้อม

 

    เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ด้วยคล้ายว่ากองทัพจะพยายามปกปิดเรื่องนี้ไม่ให้ออกสู่สาธารณชนภายหลังเกิดเหตุทันที อย่างที่พึงกระทำ จนเวลาล่วงเลยเข้า วันที่ 20 พ.ย. 2560 ครอบครัวตัญกาญจน์ ประกอบไปด้วย บิดามารดา คือ พิเชษฐ และ สุกัลญา รวมถึงพี่สาว คือ เมี่ยง สุพิชชา ตัญกาญจน์ ได้ออกมาร้องผ่านสื่อมวลชน เพื่อเรียกร้องขอความ "ยุติธรรม" ต่อการตายของน้องเมย

 

    พร้อมกันนั้นได้เล่าเพิ่มเติมว่า พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผบ.สส. ในขณะนั้น เปิดเผยผลพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์จาก รพ.พระมงกุฏฯ ว่าน้องเมยเสียชีวิตจาก "ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน" แน่นอนว่าเกิดการตั้งคำถามในเวลาต่อมาว่า นักเรียนเตรียมทหารที่มีสุขภาพกายแข็งแรง มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดังกล่าวมากน้อยเพียงใด 

 

    และอีกประเด็นที่จุดชนวนขึ้นในสังคมจนปะทุขึ้นเป็นความโกรธแค้น แบบแทบจะนั่งกันไม่ติด ถึงขั้นพร้อมใจกันล่ารายชื่อเพื่อให้มีการสอบสวนถึงสาเหตุการตายของน้องเมยอีกครั้ง เมื่อพี่สาวของน้องเมยเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2560 ทางครอบครัวได้จัดพิธีฌาปนกิจน้องเมย แต่มิได้นำศพมาเผาจริง เพราะต้องการนำศพน้องชายส่งผ่าพิสูจน์รอบ 2 ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ผลที่ปรากฏคือนอกจากจะพบรอยช้ำบนร่างกาย ยังพบว่ามีการหักของซี่โครงซี่ที่ 4 ด้านขวา ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่ทำ CPR หัวใจ และยังพบรอยช้ำที่มุมขวาด้านหน้า เช่นเดียวกับบริเวณแผ่นหลัง เลวร้ายที่สุดคือ "เครื่องใน" ของอดีตนักเรียนเตรียมทหารกลับหายไปอย่างไร้ร่องรอย

    ซึ่งทางครอบครัวน้องเมยได้ยืนยันว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยได้รับการบอกกล่าวหรือขออนุญาตจากใครเกี่ยวกับกระบวนการดังกล่าวทั้งสิ้น จะมีก็เพียงแต่ผู้อำนวยการกองการแพทย์ โรงเรียนเตรียมทหาร ที่ขอตัดชิ้นเนื้อบางส่วนเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตเท่านั้น จนทางครอบครัวได้ทำการยื่นเรื่องเพื่อขออวัยวะคืน จากทางผู้อำนวยการกองการแพทย์ ในวันที่ 8 พ.ย. 2560 หลังจากนั้นไม่นานทุกหน่วยงานของกองทัพที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ กองบัญชาการกองทัพไทย โฆษกพร้อมกับผู้บัญชาการโรงเรียนเตรียมทหาร จนถึงโรงพยาบาลผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ระบุว่าน้องเมยเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน มิได้ถูก "ธำรงวินัย" หรือ "ซ่อม" แต่อย่างใด

 

 

ครบรอบ 1 ปี ย้อนคดี "น้องเมย" การจากไปที่สังคมยังคาใจ ไขรหัส ซ่อม หรือ ซ้อม

 

    แน่นอนว่ากระแสหลักของสังคมต่างมองว่า มีความเป็นไปได้ที่น้องเมยจะเสียชีวิตจากการถูกธำรงค์วินัยหรือใช้กำลังมากกว่าเกิดจากอุบัติเหตุ ซึ่งหากผ่านมุมมองของกองทัพ หรือความเป็นทหาร ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าการธำรงค์วินัยหรือซ่อมนั้น ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ก่อให้เกิดความเป็น "เอกภาพ" ขึ้นในกองทัพ การเปลี่ยนสถานะจาก "พลเรือน" มาเป็น "ทหาร" จำต้องละลายพฤติกรรม เพื่อทำลายความเป็นปัจเจก และให้ความสำคัญกับ "กลุ่ม" หรือ "พวกพ้อง" มากกว่าความเป็น "ตัวตน"

 

    การธำรงวินัย หรือที่เรียกว่าทำโทษ เพื่อให้ทหารอยู่ในกฏระเบียบ จึงเป็นสิ่งที่เข้ามามีบทบาทอย่างเลี่ยงมิได้ ถึงแม้จะเป็นวินัยที่มาจากความกลัว หาใช้เป็นวินัยที่มาจาก self control แต่เมื่อพิจารณาอย่างเป็นกลางและตรงไปตรงมา จะพบว่า สถาบันโรงเรียนทหาร เป็นสถาบันที่ใช้ระบบ "รุ่นพี่ปกครองรุ่นน้อง" เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ธรรมเนียมพร้อมปลูกฝังความเป็นทหาร ด้วยการจำลองสถานการณ์ในบทบาทของ "ผู้บังคับบัญชา" และ "ผู้ใต้บังคับบัญชา"

ครบรอบ 1 ปี ย้อนคดี "น้องเมย" การจากไปที่สังคมยังคาใจ ไขรหัส ซ่อม หรือ ซ้อม

 

    โรงเรียนเตรียมทหารนั้น เป็นเสมือนสถาบันระดับเตรียมอุดมศึกษา ที่ใช้เวลาเรียนรวมกัน 2 ปี ก่อนจะก้าวเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาเพื่อแยกเหล่า ตามที่นักเรียนได้ทำการสอบไว้แต่แรก (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายร้อยตำรวจ โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศ) จากปัญหาที่ปรากฏพบว่า ช่วงอายุของนักเรียนเตรียมทหารจะอยู่ที่ประมาณ 16 - 18 ปี ซึ่งถือว่ายังไม่บรรลุนิติภาวะ การตัดสินใจ ความรอบคอบตลอดจนวิจารณญาณ อาจยังไม่เพียงพอต่อการที่จะใช้อำนาจในการปกครองผู้อื่น ในบางโอกาสอาจเกิดความ "พลาดพลั้ง" จากการใช้ความ "คึกคะนอง" เป็นตัวตั้ง 

 

    จึงต้องมีบุคคลที่สามมาเป็น "คนกลาง" ที่เรียกว่า "นายทหารปกครอง" หรือนายทหารสัญญาบัตรที่ได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ปกครองบังคับบัญชานักเรียนอีกทีหนึ่ง ซึ่งโดยปกติการธำรงวินัยจะอยู่ไม่ไกลหูไกลตานายทหารปกครองมากนัก แต่ก็มีบางครั้งที่นักเรียนอาศัยจังหวะไปธำรงวินัยกันเองอยู่บ้างประปราย ต่างจากโรงเรียนนายร้อยที่อายุของนักเรียนอยู่ในช่วง 19 - 23 ปี ถือว่าบรรลุนิติภาวะ ผ่านประสบการณ์การเป็นนักเรียนทหารมาในระดับหนึ่ง จึงสามารถแก้ไขสถานการณ์และเลือกวิธีการธำรงวินัยได้อย่างเหมาะสม

 

 

ครบรอบ 1 ปี ย้อนคดี "น้องเมย" การจากไปที่สังคมยังคาใจ ไขรหัส ซ่อม หรือ ซ้อม

 

    อย่างไรแล้วเรื่องราวของน้องเมยก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะสิ้นสุดโดยง่าย เพราะมีข้อมูลเพิ่มเติมเผยว่า ช่วงเดือน ส.ค.2560 น้องเมยเคยโดนรุ่นพี่ลงโทษ หรือ ธำรงค์วินัยจนหัวใจหยุดเต้น จากคำบอกเล่าของมารดาของน้องเมยเล่าว่า รุ่นพี่เรียกน้องเมยเข้าห้องน้ำ พร้อมสั่งทำโทษด้วยท่าโหม่งโลก (มือไพล่หลังหัวปักพื้น) จวบจนกระทั่งวันที่ 8 ธ.ค. 2560 ผลการชันสูตรอวัยวะจากทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ชี้ว่า น้องเมยมีรอยช้ำตามร่างกายจากการถูกทำร้าย ซี่โครงที่หักไม่ได้เกิดจากการทำ CPR แต่ผลการตรวจอวัยวะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จากนั้นกล่าวว่า การชันสูตรทั้งหมดนี้ จะใช้ดำเนินคดีในชั้นศาลกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

 

    เช่นเดียวกับอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ดุจดั่ง "ไฟไหม้ฟาง" เพราะหลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏชื่อ "น้องเมย" ทั้งบนสื่อสิ่งพิมพ์หรือโซเชียลใดๆ แต่กระบวนการทางกฏหมายยังคงดำเนินต่อไป เพราะเมื่อเดือน ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา ได้มีการสั่งฟ้องนักเรียนเตรียมทหารรุ่นพี่ จำนวน 1 คน ในข้อหาทำร้ายร่างกาย แต่ความคืบหน้าล่าสุดกลับเป็นเรื่องทีน่าเศร้าเพราะในช่วงเดือน ส.ค. 2561 ได้ปรากฏพาดหัวบนสื่อบางเจ้าว่าคดีนี้ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

 

    จากจุดเริ่มต้นของความตายอันเป็น "ปริศนา" ล่วงเลยจนเวียนมาบรรจบครบ 1 ปี ณ เวลานี้บางคนเลือกที่จะ "นิ่งเฉย" และปล่อยให้เป็นไปตาม "ยถากรรม" ถึงแม้จะสวนทางกับครรลองของกระบวนทางกฏหมายอยู่บ้าง แต่ความอยุติธรรมในครั้งนี้ก็ประหนึ่งเป็นการทำลาย "ศรัทธา" ของประชาชนที่มีต่อ "กองทัพ" อย่างปฏิเสธไม่ได้ อย่างไรทุกคนต่างหวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์สลดเกิดขึ้นซ้ำสอง เพราะพวกเขานักเรียนทหารต่างมีปณิธานที่จะตายในสนามรบเพื่อเป็นเกียรติ หาใช่ตายในสถาบันอันทรงเกียรติที่เขารัก

 

 

ครบรอบ 1 ปี ย้อนคดี "น้องเมย" การจากไปที่สังคมยังคาใจ ไขรหัส ซ่อม หรือ ซ้อม

 

 

ครบรอบ 1 ปี ย้อนคดี "น้องเมย" การจากไปที่สังคมยังคาใจ ไขรหัส ซ่อม หรือ ซ้อม