"กกต." สรุป 476 องค์กร เสนอชื่อผู้สมัคร ส.ว. ระบุ "กลุ่มการศึกษา-สาธารณสุข" มากสุด 

"กกต." สรุป 476 องค์กร เสนอชื่อผู้สมัคร ส.ว. ระบุ "กลุ่มการศึกษา-สาธารณสุข" มากสุด 

"กกต." สรุป 476 องค์กร เสนอชื่อผู้สมัคร ส.ว. ระบุ "กลุ่มการศึกษา-สาธารณสุข" มากสุด 

 

วันนี้ (27 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงผลสรุปการยื่นคำขอลงทะเบียนองค์กรที่มีสิทธิแนะนำชื่อบุคคลเพื่อสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ กกต.จังหวัดทั่วประเทศ เปิดรับลงทะเบียนระหว่างวันที่ 15-24 ต.ค. 2561 มีองค์กรมาลงทะเบียน 476 องค์กร จาก 71 จังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดที่มีองค์กรมาลงทะเบียนมากที่สุด 6 อันดับ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร 115 องค์กร , สระแก้ว 52 องค์กร , นนทบุรี 18 องค์กร และนครราชสีมา ราชบุรี สมุทรปราการ 14 องค์กร โดยจังหวัดที่ไม่มีองค์กรไปลงทะเบียน จำนวน 6 จังหวัด ประกอบด้วย บึงกาฬ , แม่ฮ่องสอน , ระนอง , เลย , สตูล และอุทัยธานี ซึ่งเชื่อว่า ในจังหวัดที่ไม่มีองค์กรมาลงทะเบียน จะไม่มีปัญหา เพราะยังมีผู้สมัครอิสระไปสมัครได้

 

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ระบุว่า โดยในจำนวน 476 องค์กร ได้ยื่นขอลงทะเบียนและเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการคัดเลือกในกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้ กลุ่ม 1 กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง 51 องค์กร , กลุ่ม 2 กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 15 องค์กร , กลุ่ม 3 กลุ่มการศึกษาและการสาธารณสุข 87 องค์กร , กลุ่ม 4 กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง 79 องค์กร , กลุ่ม 5 กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน / อาชีพอิสระ 26 องค์กร , กลุ่ม 6 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารการพัฒนานวัตกรรม 18 องค์กร , กลุ่ม 7 กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ประกอบธุรกิจ หรือ อาชีพด้านการท่องเที่ยว 35 องค์กร , กลุ่ม 8 กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ 86 องค์กร , กลุ่ม 9 กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างวรรณกรรม 38 องค์กร และกลุ่ม 10 กลุ่มอื่น ๆ (ผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ย่อมมีสิทธิสมัครในกลุ่มอื่น ๆ)  41 องค์กร


 

เลขาฯ กกต. ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับกลุ่มอาชีพที่มีผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.กลุ่มการศึกษาและการสาธารณสุข จำนวน 87 องค์กร 2.กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ จำนวน 86 องค์กร 3.กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมงจำนวน 79 องค์กร 4.กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง จำนวน 51 องค์กร  และ 5.กลุ่มอื่น ๆ (ผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามย่อมมีสิทธิสมัครในกลุ่มอื่น ๆ) จำนวน 41 องค์กร