ความเชื่อ “อาบน้ำเพ็ญจันทร์” ชำระอัปมงคลให้พ้นตัว ในคืนวันเพ็ญเดือน ๑๒

ความเชื่อ “อาบน้ำเพ็ญจันทร์” ชำระอัปมงคลให้พ้นตัว ในคืนวันเพ็ญเดือน ๑๒ ซึ่งตรงกับประเพณีวันลอยกระทงที่สืบต่อกันมา

แสงนวลผ่องในคืนจันทร์เพ็ญ  สาดส่องกระทบผิวน้ำเป็นประกายระยับ บ่งบอกถึงพลังอำนาจแห่งจันทรา ณ คืนเพ็ญ เดือน ๑๒  ซึ่งตรงกับประเพณีวันลอยกระทงที่สืบต่อกันมาอย่างช้านาน หากแต่ความสำคัญของวันลอยกระทงนั้นหัวใจสำคัญอยู่ที่การขอขมาพระแม่คงคาผู้หล่อเลี้ยงทุกสรรพสิ่ง  

ความเชื่อ “อาบน้ำเพ็ญจันทร์” ชำระอัปมงคลให้พ้นตัว ในคืนวันเพ็ญเดือน ๑๒

ขณะเดียวกันก็มีเชื่อความศรัทธาที่ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยโบราณ นั่นคือ “พิธีอาบน้ำเพ็ญจันทร์” ในคืนวันเพ็ญเดือน ๑๒  ในสมัยก่อนจะใช้วิธีการลงไปอาบในแม่น้ำลำคลองเพื่อชำระสิ่งไม่ดีให้ออกไป  หากแต่ในปัจจุบัน ตามวัดต่างๆก็ได้มีการจัดพิธีกรรมอาบน้ำเพ็ญจันทร์ขึ้นมาตามความเชื่อ เพื่อชำระล้างอัปมงคล และรับพลังดีๆจากพระจันทร์ คือพลังด้านเมตตามหานิยม มหาเสน่ห์  ความเป็นมงคลทั้งหลายให้เกิดกับตน

 สำหรับผู้ที่ไม่สามารถไปร่วมพิธีได้ ก็สามารถอาบน้ำเพ็ญด้วยตนเอง โดยปฏิบัติตามความเชื่อของคนโบราณ คือ ให้ตักน้ำจากแม่น้ำลำคลองมาอาบในช่วงเวลาเที่ยงคืน โดยนำภาชนะใส่น้ำไปตั้งไว้กลางแจ้ง ห้ามไม่ให้อยู่ใต้ชายคา หรือสถานที่ที่มีร่มเงาใดๆอันจะบดบังแสงจันทร์ รอจนกระทั่งบังเกิดเงาของพระจันทร์ลอยเด่นอยู่ภายในขันน้ำมนต์ เพื่อให้น้ำได้ซึมซับพลังงานจากพระจันทร์ไว้อย่างเต็มที่ แล้วให้อาบชำระร่างกายในตอนนั้นทันที

 

ความเชื่อ “อาบน้ำเพ็ญจันทร์” ชำระอัปมงคลให้พ้นตัว ในคืนวันเพ็ญเดือน ๑๒

 

อีกวิธีหนึ่ง คือ ใช้วิธีทำแบบน้ำมนต์ โดยก่อนอาบน้ำเพ็ญจันทร์ ต้องจุดเทียนให้น้ำตาเทียนหยดลงน้ำ  พร้อมๆไปกับสวดคาถากำกับ ซึ่งมีการใช้หลากหลายคาถา เช่น คาถาประจำวันจันทร์ สวดจำนวน 15 จบ  คือ   “ อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา” เป็นต้น แล้วอธิษฐานจิตในสิ่งที่ตนปรารถนา เมื่อเงาของดวงจันทร์ ปรากฏบนขันน้ำมนต์แล้วจึงอาบทันที

อย่างไรก็ดี การอาบน้ำเพ็ญจันทร์มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาในบางพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างกำลังใจตามความเชื่อ แต่สิ่งที่ควรต้องทำอยู่อย่างเสมอในทุกๆวัน คือ การทำความดี เพื่อให้เกิดผลที่ดีเป็นสิ่งตอบแทน ความเป็นมงคลก็จะเกิดขึ้นกับตนเองในทุกๆวันเช่นกัน

 

ความเชื่อ “อาบน้ำเพ็ญจันทร์” ชำระอัปมงคลให้พ้นตัว ในคืนวันเพ็ญเดือน ๑๒

 

 

 

เครดิตภาพ : วัดป่าโนนวิเวก, พระจันทร์เริงร่า