น้อมรำลึกถึง ในหลวง ร.๙  "เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช" สู่ฐานทัพเรือสัตหีบ ราชอาณาจักรไทยแล้วอย่างสมเกียรติ

น้อมรำลึกถึง ในหลวง ร.๙ "เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช" เคลื่อนสู่ฐานทัพเรือสัตหีบ น่านน้ำราชอาณาจักรไทยแล้วอย่างสมเกียรติ

สืบเนื่องจากวานนี้ (5 มกราคม 61) กองทัพเรือโดย "พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์" ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ได้จัดเรือหลวงตากสิน หมายเลข 422 ,เรือหลวงนเรศวร หมายเลข 421 ,เรือหลวงรัตนโกสินทร์ หมายเลข 441 และอากาศยาน 2 ลำ เป็นหมู่เรือในการต้อนรับ "เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช" เรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำใหม่แห่งราชนาวีไทย ที่เดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ เข้าสู่น่านน้ำราชอาณาจักรไทย อย่างสมเกียรติ

 

พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์

 

โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระราชานุญาติและวินิจฉัยชื่อ เรือหลวงลำใหม่ที่ต่อจากประเทศเกาหลีใต้นี้ว่า "เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช" ซึ่งจะเดินทางถึง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ในวันนี้ (6 มกราคม) และ กองทัพเรือจะจัดพิธีต้อนรับ รวมทั้งขึ้นระวางประจำการ ในวันพรุ่งนี้ (7 มกราคม) โดยมี "พลเรือเอก ลือชัย"  เป็นประธานในพิธี ณ ท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี 

 

ในหลวง ร.10

 

ทั้งนี้ สำหรับ "เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช" เรือรบลำใหม่ของไทย เป็นเรือฟริเกตสมรรถนะสูง สร้างโดยบริษัท DSME. (DAEWOO Shipbuilding & Marine Engineering CO., LTD.) ของเกาหลีใต้ ภายหลังได้มีการออกแบบตรงกับความต้องการของกองทัพเรือ ตามแนวทางการจัดหายุทโธปกรณ์หลัก สามารถตอบสนองทุกภารกิจกองทัพเรือมากที่สุด มีการพัฒนามาจากเรือพิฆาตชั้น Kwanggaeto Class Destroyer (KDX-I) โดยใช้มาตรฐานทางทหารของสหรัฐฯ และกองทัพเรือเกาหลีใต้ในการต่อเรือ มีระวางขับน้ำสูงสุด 3,700 ตัน ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 30 นอต ระยะปฏิบัติการประมาณ 4,000 ไมล์ทะเล ทนทะเลได้ถึงสภาวะระดับ 6 ขึ้นไป มีกำลังพลประจำเรือ 136 นาย 

 

เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช

 

 

ส่วนโครงสร้างเรือมีความแข็งแรง มีโอกาสอยู่รอดสูงในสภาพแวดล้อมของการสู้รบ และการปนเปื้อนทางนิวเคลียร์ เคมี-ชีวะ สามารถตรวจการครอบคลุมทุกมิติทั้งกลางวันและกลางคืน เนื่องจากมีการติดตั้งระบบอำนวยการรบ และระบบตรวจการณ์ที่ทันสมัย รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลและสื่อสารกับเรือ อากาศยาน และหน่วยบนฝั่ง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

อีกทั้งยังสามารถปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติคือ ผิวน้ำ ใต้น้ำ และทางอากาศ โดยการปฏิบัติการสงครามใต้น้ำสามารถตรวจจับเป้าหมายระยะไกลด้วยโซนาร์ลากท้าย และโซนาร์ติดใต้ท้องเรือ แล้วต่อตีเรือดำน้ำได้ที่ระยะไกลด้วย Vertical Launch Anti-Submarine Rocket หรือตอร์ปิโด ส่วน การปฏิบัติการสงครามต่อต้านภัยทางอากาศ ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติระยะไกล และระยะปานกลาง ในการค้นหา ตรวจจับ และติดตามเป้าข้าศึก โจมตีเป้าหมายด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีฯ แบบ ESSM และอาวุธปืนของเรือ

 

นอกจากนี้ การป้องกันทางอากาศระยะไกล (ผิวน้ำ) หรือพื้นที่ชั้นนอกของกองเรือ (Battle Group) จะใช้การปฏิบัติการร่วมกับอากาศยานของกองทัพอากาศในการค้นหา ตรวจจับและโจมตี และการปฏิบัติการสงครามผิวน้ำ โดยสามารถโจมตีเป้าหมายได้ที่ระยะไกล โดยปฏิบัติร่วมกับเรือและอากาศยานในการพิสูจน์ทราบเป้า ส่งมอบเป้าและให้ใช้อาวุธจากระยะพ้นขอบฟ้า รวมทั้งโจมตีเป้าพื้นน้ำและใต้น้ำด้วยเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือ

 


 

ส่วนของการป้องกันตนเองนั้นจะโจมตีด้วยอาวุธปล่อยนำวิถี ปืนใหญ่เรือ และปืนรองต่อสู้อากาศยาน ระบบอาวุธป้องกันระยะประชิด (CIWS) ระบบลวงทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบบควบคุมความเสียหายแบบรวมการที่สั่งการได้จากศูนย์กลางหรือแยกสั่งการ มีระบบควบคุมการแพร่สัญญาณออกจากตัวเรือ อีกทั้งสามารตรวจจับ ดักรับ วิเคราะห์ และก่อกวนสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าของเป้าหมายได้

 

ยิ่งไปกว่านี้ "เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช" ยังสามารถใช้ในการปฏิบัติการรบร่วม โดยผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี ให้สามารถปฏิบัติการรบร่วมในลักษณะกองเรือ (Battle Group)ได้แก่ ร.ล.จักรีนฤเบศร เรือฟริเกต ชุด เรือหลวงนเรศวร เรือคอร์เวต ชุด เเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการปฏิบัติการรบร่วมกับ เครื่องบินกองทัพอากาศ ตามบทบาทหน้าที่ที่จะได้รับมอบหมาย ซึ่งเรือฟริเกตสมรรถนะสูง จะทำหน้าที่ควบคุมการปราบเรือดำน้ำเป็นหลัก

 

 อย่างไรก็ตาม ด้วยศักยภาพและสมรรถนะที่แข็งแกร่งของ"เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช" กองทัพเรือจะนำไปใช้ในภารกิจสงคราม ป้องกันอธิปไตยเหนืออาณาเขตทางทะเลของไทย รวมถึงการคุ้มกันกระบวนเรือลำเลียง และนอกเหนือจากนั้น ในยามสงบจะดูแลรักษาความมั่นคง และความปลอดภัยของเส้นทางคมนาคมทางทะเล พิทักษ์รักษาสิทธิอธิปไตยทางทะเล ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล รวมทั้งช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และบรรเทาภัยพิบัติด้วย

 

ในหลวง ร.9