บทเรียนข้าราชการ!! จากอดีตสตง."คุณหญิงจารุวรรณ" สู่ "จำเลย" คดีจัดสัมมนาปลอมแฝงไปงานกฐิน

30 ม.ค.62 -  ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลนัดอ่านคำพิพากษาฎีกา คดีหมายเลขดำ 2054/2559 ที่พนักงานอัยการ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และนายคัมภีร์ สมใจ อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารงานและทรัพยากรบุคคล สตง. ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

 

บทเรียนข้าราชการ!! จากอดีตสตง."คุณหญิงจารุวรรณ" สู่ "จำเลย" คดีจัดสัมมนาปลอมแฝงไปงานกฐิน

 

กรณีจัดให้มีการสัมมนาที่ จ.น่าน วันที่ 31 ต.ค. 2546 ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการสัมมนากันจริง แต่จัดสัมมนาเพื่อให้ข้าราชการที่มีรายชื่อเข้ารับการสัมมนานั้น ได้ไปร่วมงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทานที่จัดขึ้นในวันเดียวกัน แล้วให้เบิกค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในงบเดียวกัน 294,440 บาท ทำให้ สตง.เสียหาย ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดคุณหญิงจารุวรรณและนายคัมภีร์

โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2558 ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามมาตรา 157 ให้จำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ จากนั้นคุณหญิงจารุวรรณ และนายคัมภีร์ ได้ยื่นสมุดบัญชีเงินฝากคนละ 200,000 บาทขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี

 

ขณะที่คดีได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ไปเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2560 เห็นว่าพฤติการณ์บ่งชี้ตรงกันว่า การจัดและอนุมัติโครงการสัมมนากระทำไปเพื่อให้ข้าราชการ สตง. ไปร่วมการถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน และการทอดผ้ากฐินสามัคคี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง แต่เบิกจ่ายงบประมาณ สตง. ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของส่วนราชการ พ.ศ.2545 โดยไม่มีการสัมมนาที่แท้จริง เป็นการเบิกจ่ายโดยไม่มีสิทธิทำให้ สตง.เสียหาย โดยจำเลยทั้งสองร่วมรู้เห็นตั้งแต่ต้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 157 ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

 

บทเรียนข้าราชการ!! จากอดีตสตง."คุณหญิงจารุวรรณ" สู่ "จำเลย" คดีจัดสัมมนาปลอมแฝงไปงานกฐิน

 

ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ เห็นว่าจำเลยทั้งสองรับราชการที่ สตง.มางานจนดำรงตำแหน่งระดับสูงนับว่าได้ทำคุณประโยชน์ให้กับราชการ ประกอบกับจำเลยทั้งสองมีอายุมากประมาณ 70 ปี มีเหตุควรปราณี ที่ศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง คนละ 2 ปี จึงหนักเกินไป สมควรแก้ไขให้เหมาะสม จึงพิพากษาแก้โทษจำคุกเหลือ 1 ปี โดยไม่รอลงอาญาเช่นกัน

 

ขณะที่ระหว่างฎีกาคุณหญิงจารุวรรณและนายคัมภีร์ อดีต ผอ.สำนักบริหารงานและทรัพยากรบุคคล สตง. ได้ประกันตัว

 

วันนี้คุณหญิงจารุวรรณ จำเลยที่ 1 มาศาล ส่วนนายคัมภีร์ อดีต ผอ.สำนักบริหารงานและทรัพยากรบุคคล สตง. จำเลยที่ 2 ไม่มาศาล โดยมีบุตรชายและทนายความมาแทน ยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดการอ่านคำพิพากษาฎีกาออกไปก่อน เนื่องจากจำเลยมีอาการภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งทนายความได้นำใบรับรองแพทย์จากรพ.รามคำแหง และ รพ.พระมงกุฏเกล้า มาแสดงต่อศาลว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรอผ่าตัด ใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 2 เดือน ซึ่งบุตรชายจำเลยที่ 2 ก็ยืนยันอาการป่วยต่อศาลด้วย

 

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีมีเหตุจำเป็นเกี่ยวกับอาการป่วยของจำเลย จึงอนุญาตให้เลื่อนไปอ่านคำพิพากษาฎีกาอีกครั้งในวันที่ 22 เม.ย.นี้ เวลา 10.00 น.

อนึ่ง ย้อนไปเมื่อวันที่6 ก.ย 54  คณะกรรมการ ป.ป.ช.เปิดแถลงข่าว ..ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องกล่าวหา คุณหญิงจารุวรรณ  เมณฑกา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กับพวก จัดสัมมนาโครงการ “สตง. ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา” เป็นเท็จ เนื่องจากแท้จริงแล้ว มีวัตถุประสงค์ที่จะนำบุคลากรของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ไปร่วมถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2546 ณ จังหวัดน่าน โดยมี ศาสตราจารย์ ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ นั้น

 

คณะอนุกรรมการไต่สวน  ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยรวบรวมพยานหลักฐาน และไต่สวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง แล้วปรากฏข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยคุณหญิงจารุวรรณ  เมณฑกา  ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้มีหนังสือถึงกรมการศาสนา แสดงความประสงค์จะขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินประจำปี 2546 ไปถวายพระสงฆ์จำพรรษา ณ วัดพญาภู และวัดพระธาตุช้างค้ำ อำเภอเมือง  จังหวัดน่าน และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้มีคำสั่ง .

 

ได้มีคำสั่ง ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2546 แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการการถวายผ้าพระกฐินพระราชทานประจำปี 2546  ซึ่งได้กำหนดในวันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม 2546 ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดพญาภู และวัดศรีพันต้น (วัดราษฎร์) อำเภอเมือง จังหวัดน่าน  โดยคณะกรรมการดำเนินการมีนางสาววิไลลักษณ์  อัญมณีรัตน์  ผู้อำนวยการสำนักงานผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นประธานกรรมการ และมีนายคัมภีร์  สมใจ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล  เป็นรองประธานกรรมการ โดยให้คณะกรรมการพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานต่าง ๆ  เพื่อให้การดำเนินงานกฐินพระราชทานดังกล่าวรวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องบรรลุวัตถุประสงค์  

 

 ต่อมา วันที่ 16 ตุลาคม 2546 สำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยนายคัมภีร์  สมใจ  ผู้อำนวยการ ได้ขออนุมัติจัดโครงการสัมมนา เรื่อง “สตง. ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา” ในวันที่ 31 ตุลาคม 2546  ระหว่างเวลา 08.30 – 18.30 น. ณ โรงแรมซิตี้ปาร์ค  อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการสัมมนา จำนวน 175 คน วิทยากรโดยนายสันติภาพ  อินทรพัฒน์  สมาชิกวุฒิสภา และวิทยากรของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน  ประมาณการค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 479,980 บาท และคุณหญิงจารุวรรณ  เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงนามอนุมัติในวันเดียวกันคือ วันที่ 16 ตุลาคม 2546    

 

ระหว่างวันที่ 22 – 24 ตุลาคม 2546 นางสาววิไลลักษณ์  อัญมณีรัตน์ แจ้งว่า ได้มีการสำรวจรายชื่อผู้เข้าร่วมกฐินพระราชทาน  ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่าย และค่าที่พักด้วยตนเอง มีจำนวน 100 คนเศษ  และเมื่อรวมกับผู้บริหารอีก 30 คน  ก็จะได้เพียง 130 คนเศษ  จึงได้มีการหารือกันระหว่าง คุณหญิงจารุวรรณ  เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน  นายพิศิษฐ์  ลีลาวชิโรภาส  ผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมาย นางสาววิไลลักษณ์  อัญมณีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานผู้ว่าการ-ตรวจเงินแผ่นดิน และนายคัมภีร์  สมใจ  ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล ได้พิจารณาร่วมกันแล้วเห็นสมควรให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเข้าร่วมพิธีกฐินพระราชทานก่อน เมื่อถวายผ้าพระกฐินพระราชทานเสร็จ จึงกลับมาสัมมนาที่โรงแรมซิตี้ปาร์ค โดยรวมหัวข้อเช้าและบ่ายเข้าด้วยกัน เริ่มสัมมนาตั้งแต่เวลา 15.45 น. จนถึง 19.00 น. ซึ่งผู้เข้าร่วมหารือไม่มีผู้ใดคัดค้าน

 

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2546  ผู้มีรายชื่อเข้าร่วมสัมมนาและผู้สังเกตการณ์เดินทางโดยรถโดยสารปรับอากาศ  และรถตู้ไปเข้าร่วมงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทานตามกำหนดการถวายกฐินพระราชทานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ช่วงเช้า ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร รับประทานอาหารกลางวันที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ช่วงบ่าย

ณ วัดพญาภู  และถวายกฐินสามัคคีของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ณ วัดศรีพันต้น    งานการถวายกฐิน ...

 

 งานการถวายกฐินพระราชทานแล้วเสร็จประมาณ 16.00 น. คณะสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้เดินทางเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวในที่พักและเดินทางไปยังสโมสรหมู่บ้านสันติภาพ 2 เป็นสถานที่เปิดโล่ง ไม่มีหลังคาคลุม มีอาคารอยู่หนึ่งหลังมีลักษณะชั้นเดียว หลังคาเป็นระเบียงข้างอาคารมีสระว่ายน้ำอยู่หนึ่งสระ มีการตกแต่งไฟ  มีเครื่องขยายเสียง  มีการจัดเวทีเขียนป้ายบนเวทีที่มิได้มีข้อความระบุว่ามีการสัมมนา แต่กลับมีข้อความว่า “ขอต้อนรับ คุณหญิงจารุวรรณ  เมณฑกา และคณะ ด้วยความรักยิ่ง 31 ตุลาคม 2546”  มีการจัดโต๊ะกลมแบบโต๊ะจีนหันหน้า เข้าหากัน แต่ละโต๊ะนั่งประมาณ 9 – 10 คน  จัดอยู่ชั้นระเบียง และชั้นล่างรอบสระว่ายน้ำและพื้นที่โดยรอบ

 

 เมื่อผู้เข้ารับการสัมมนามาถึงสโมสรหมู่บ้านสันติภาพ 2  จะมีการลงทะเบียนในรายชื่อผู้เข้าร่วมการสัมมนา  เรื่อง “สตง. ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา” วันที่ 31 ตุลาคม 2546 ระบุสถานที่ว่า โรงแรมซิตี้ปาร์ค อำเภอเมือง  จังหวัดน่าน ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลรับลงทะเบียนหน้าสถานที่จัดงาน ไม่มีการแจกเอกสารในการสัมมนา หรือการกำหนดกลุ่มให้ระดมความคิดเห็นแต่ประการใด

 

จากการไต่สวนฟังได้ว่าการจัดสัมมนาเรื่อง “สตง. ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา” ไม่มีการสรุปผลการสัมมนาในครั้งนี้เป็นเอกสารแต่อย่างใด  โดยปกติการจัดสัมมนาหากมีการเปลี่ยนแปลงวิทยากร เทคนิคการนำเสนอ  และสถานที่รวมทั้งงบประมาณจะต้องทำการเสนอขออนุมัติการเปลี่ยนแปลงกับผู้มีอำนาจ

 

การที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินนำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษา  ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดพญาภู จังหวัดน่านในวันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม 2546 และทราบกำหนดการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2546  แต่ยังมีการจัดโครงการสัมมนาในวันเวลาเดียวกัน ซึ่งมีกลุ่มบุคคลที่เข้าร่วมงานกฐินพระราชทานเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันกับกลุ่มบุคคลผู้เข้าร่วมสัมมนา ย่อมเล็งเห็นได้ว่าไม่สามารถดำเนินการตามแผนงานได้  พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมีเจตนานำคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ไปถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน โดยจัดโครงการสัมมนาเพื่อให้ผู้ร่วมเดินทางสามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากทางราชการได้ โดยมิชอบ