ชาวบ้านถูกปลอมชื่อกู้เงินกองทุนฟื้นฟูกว่า 43 ล้านบาท

เวลา 10.00 น.วันที่ 4 มี.ค.2562 ชาวบ้าน ต.ฝายนาแซงและตำบลน้ำก้อ อ.หล่มสักและ ต.หล่มเก่า อ.หล่มเก่า เข้าให้การกับเจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูจังหวัดเพชรบูรณ์รวมทั้งเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หล่มเก่า กรณีถูกปลอมแปลงรายมือชื่อเพื่อกู้เงินกับกองทุนฟื้นฟูจังหวัดเพชรบูรณ์ทำให้กลายเป็นหนี้รวมแล้วกว่า 43 ล้านบาท

นางสง่า นาเมือง อายุ 62 ปี บ้านเลขที่ 4 หมู่ 5 ต.ฝายนาแซง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อประมาณปลายปี 2558 ได้มีคนในหมู่บ้านเดียวกันได้มาชักชวนเพื่อที่จะกู้เงินฟื้นฟูจำนวน 1 หมื่นบาท พร้อมทั้งขอสำเนาเอกสารบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านตนจึงมอบให้ไปพร้อมกับรับรองสำเนาถูกต้อง แต่ไม่ได้เซ็นต์สัญญากู้ใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้มีหนังสือจากกองทุนฟื้นฟูแจ้งมาว่าตนเป็นหนี้จำนวน 75,000 บาท รู้สึกตกใจมากจึงได้ปรึกษากับลูก ๆ เดินทางไปพบกับเจ้าหน้าที่กองทุนจึงได้พบว่าถูกปลอมแปลงรายมือชื่อเพื่อขอกู้เงินกับกองทุนฟื้นฟูดังกล่าว

 

ชาวบ้านโร่ร้องขอความเป็นธรรม หลังถูกปลอมแปลงลายเซ็นกู้เงินกองทุนกว่า 43 ล้านบาท หลังสหกรณ์ตอบว่า "ไม่อนุมัติ" แต่เป็นหนี้

 

นางสมจิตร เกตุสำเนา อายุ 53 ปี บ้านเลขที่ 80/72 หมู่ 11 ต.น้ำก้อ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ได้มีอดีตเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งหนึ่งมาชักชวนให้กู้เงินกับสหกรณ์อำเภอหล่มเก่าและจะเป็นผู้เดินเรื่องให้ ตนจึงได้มอบสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านพร้อมรับรองสำเนาถูกต้องมอบให้ไป จากนั้นอีก 2 อาทิตย์ตนได้ไปทวงถามได้คำตอบว่าสหกรณ์ไม่อนุมัติ ตนจึงขอเอกสารคืนแต่ก็ได้รับการบ่ายเบี่ยงและผลัดมาโดยตลอด กระทั่งมีหนังสือแจ้งว่าตนเป็นหนี้อยู่กับกองทุนฟื้นฟูจังหวัดเพชรบูรณ์จำนวนหนึ่งจึงเดินทางมาพบกับเจ้าหน้าที่

 

ชาวบ้านโร่ร้องขอความเป็นธรรม หลังถูกปลอมแปลงลายเซ็นกู้เงินกองทุนกว่า 43 ล้านบาท หลังสหกรณ์ตอบว่า "ไม่อนุมัติ" แต่เป็นหนี้

 

ด้านนายหินชนวน อโศกตระกูล หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูจังหวัดเพชรบูรณ์กล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากว่าเกษตรกรและชาวบ้านได้รับใบแจ้งหนี้จากกองทุนฟื้นฟู แต่ชาวบ้านได้มาแจ้งว่าไม่ได้เป็นหนี้แต่อย่างใด ตนจึงได้ทำการบันทึกข้อความพร้อมทั้งนำสัญญากู้ยืมมาให้ตรวจสอบพบ ซึ่งชาวบ้านได้แจ้งว่าไม่ใช่ลายมือตนเองจึงคาดว่าถูกปลอมแปลงรายมือชื่อรวมทั้งนำเอกสารนำไปใช้ในสัญญาสำนักงานจึงแนะนำให้เกษตรกรเดินทางมาแจ้งความ เพราะก่อนหน้านี้ได้มีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้วในพื้นที่อำเภอเขาค้อมีเกษตรกรได้รับความเสียหาย 13 ราย ซึ่งขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินคดีอาญาซึ่งอยู่ในอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) เขต 6

สำหรับการทำสัญญากู้เงินปลอมนั้นพบว่ามีการทำ 2 ครั้งโดยในครั้งแรกทำสัญญากู้เงินปลอมกับสหกรณ์การเกษตร 3 สหกรณ์ซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอหล่มเก่าจำนวน 198 ราย จำนวนเงินกว่า 43 ล้านบาท จากนั้นได้ทำการปลอมแปลงเอกสารให้เป็นว่าเกษตรกรทั้ง 198 รายไม่สามารถชำระหนี้ได้จากนั้นนำเอาสัญญาดังกล่าวไปให้กองทุนฟื้นฟูซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยกองทุนจะชำระหนี้ให้จากนั้นเกษตรกรก็ไปชำระหนี้กับกองทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่จะต้องมาทำสัญญากับกองทุนซึ่งก็เกิดการปลอมแปลงลายมือชื่อเป็นครั้งที่สอง ซึ่งในส่วนนี้เองกองทุนฟื้นฟูก็เป็นผู้เสียหายซึ่งกองทุนก็ได้ดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจนพ้นสภาพพนักงานไปแล้วขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดีอาญาซึ่งอยู่ในอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) เขต 6 ดังที่กล่าวมาแล้ว

 

ชาวบ้านโร่ร้องขอความเป็นธรรม หลังถูกปลอมแปลงลายเซ็นกู้เงินกองทุนกว่า 43 ล้านบาท หลังสหกรณ์ตอบว่า "ไม่อนุมัติ" แต่เป็นหนี้

 

อารีย์ สีแก้ว ผู้สื่อข่าวภูมิภาค สำนักข่าวทีนิวส์เพชรบูรณ์