นักวิชาการโพสต์เตือนสติสังคมไทย มากไปมั๊ยแจกเกลื่อนชุดครุยบัณฑิตน้อยลามมัธยม

ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง คณะศึกษาศาสตร์และศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “ประภาศ ปานเจี้ยง”

ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง คณะศึกษาศาสตร์และศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “ประภาศ ปานเจี้ยง” โดยได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง เด็กไทยและการจบการศึกษา พร้อมทั้งพูดถึงการสวมใส่ชุดครุยตอนพิธีจบการศึกษาของเด็ก ๆ ซึ่งได้บอกว่า ชุดครุยที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่สมควรเอามาใส่กันจนเกลื่อนดังเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า "เด็กไทยบ้าใบเรียนจบเกินไป"

 

ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง แนะ เด็กไทยบ้าใบเรียนจบเกินไป

 

โดยรายละเอียดมีอยู่ว่า ครุยและพิธีการ “บัณฑิตน้อย” ลามจากอนุบาลถึง ป.6-ม.3-ม.6 “บ้าใบ” มากไปมั้ย? การศึกษาไทย ครุยและพิธีการ “บัณฑิตน้อย” ที่เคยมีกันเฉพาะระดับอนุบาล และส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนเอกชน มาบัดนี้ “ลาม” ครอบคลุมกินพื้นที่มากขึ้น ทั้งประเทศเหมือนภัยแล้ง และไฟไหม้ป่าเพลานี้ ผมเขียนอีกครั้ง (หลังจากเขียนบทความ “บัณฑิตน้อย ความบ้าใบของการศึกษาไทย” 

 

นักวิชาการโพสต์เตือนสติสังคมไทย มากไปมั๊ยแจกเกลื่อนชุดครุยบัณฑิตน้อยลามมัธยม

 

1.สิ้นเปลือง สิ้นเปลืองเงินทองของผู้ปกครอง ไหนบ่นกันอุบว่าเศรษฐกิจย่ำแย่? ไหนพูดกันว่าเราจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครอง?

 

2.สร้างสังคมที่ยึดมั่น “พิธีการ” และให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นแก่นสารน้อยกว่า พิธีการหลาย ๆ อย่างในสถานศึกษาหลาย ๆ สถานศึกษากำลังพันธนาการคุณภาพการศึกษาของเราให้อยู่กับที่ ฉุดขึ้นยากมาก ผมไม่โทษผู้บริหารสถานศึกษาครับ ที่ผ่านมาเราก็ต่างมีส่วนสร้างให้สิ่งนี้เกิดขึ้น

 

3.ทำให้ “ครุย” ไม่สมเกียรติ เกลื่อนเมือง ครุยระดับปริญญาของมหาวิทยาลัย ถูกลดคุณค่าและความหมายลง ผมกล่าวถึงที่มาของคำว่า "บ้าใบ" ว่าเป็นอาการของผักสวนครัวที่มีแต่ใบ แต่ไม่มีลูกมีผลตามที่ต้องการ กล่าวที่มาของชุดครุย และให้ข้อมูลว่าครุยของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นั้น มีกฎหมายระดับ พ.ร.บ. รองรับ)

 

ครุยและพิธีการ “บัณฑิตน้อย” ที่มีอยู่แค่ระดับอนุบาล ก็ยังพอยินดี ดูความน่ารักของเด็ก ๆ คิดเสียว่าเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ภายในครอบครัวที่มีสถานศึกษาอำนวยการให้ แต่ยิ่งอยู่ ครุยและพิธีการ “บัณฑิตน้อย” ยิ่งลามถึง ป.6 ม.3 ม.6 ปวช ปวส ลามจากโรงเรียนเอกชน จนถึงโรงเรียนของรัฐบาล ลามจากพื้นที่น้อย ๆ จนกินพื้นที่กว้างขึ้น ๆ ครอบคลุมทั้งประเทศ

 

ก่อนเขียนโพสต์นี้ผมลองสำรวจเล็ก ๆ จาก ผอ.สถานศึกษาที่เป็นกัลยาณมิตรกันจำนวนหนึ่ง ว่ากรณีครุยและพิธีการบัณฑิตน้อยของ ม.3 และ ม.6 นั้น เป็นความต้องการของใคร? สถานศึกษา ผู้ปกครอง หรือ นักเรียน ได้คำตอบว่า โดยส่วนใหญ่เป็นความประสงค์ของนักเรียน นักเรียนของเราเป็นเด็ก เราเป็นครู เราต้อง “เอาใจ” เขาหลายเรื่องอยู่แล้ว เพื่อให้เขาเป็นเด็กดี ตั้งใจเรียน

 

แต่..“หยุด” เอาใจเด็ก ๆ ของเรา ในเรื่องที่ไม่ควรเอาใจเถอะครับ...เพื่อฝึกนิสัยการประหยัดและไม่ยึดติดกับสิ่งที่เป็นสาระน้อยกว่าให้แก่เยาวชนของเรา เพื่อสร้างวัฒนธรรมประหยัดร่วมกันกับสังคม เพื่อสร้างสังคมที่มีแก่นสารมากกว่านี้ร่วมกัน และเพื่อสร้างสังคมการศึกษาที่รักษามาตรฐานของ "ครุย" เอาไว้ในที่ที่ควรเป็นร่วมกัน...สิ่งนี้ต่างหากที่เราจะสัมผัสได้ว่า "การศึกษาคือความเจริญงอกงามของมนุษย์และสังคมมนุษย์"

 

ครุยและพิธีการ “บัณฑิตน้อย” ลามจากอนุบาล ถึง ป.6 ม.3 ม.6… ลามจากโรงเรียนเอกชน เข้าสู่โรงเรียนรัฐ...เป็นมหกรรมแล้วครับ ...“บ้าใบ” มากไปมั้ย? การศึกษาไทย กระทรวงศึกษาธิการ "เบรค" เรื่องนี้บ้างเถอะครับ..ให้จัดกันอย่างเรียบง่าย ประหยัดเงิน ประหยัดเวลา ก็พอแล้ว เน้นความภาคภูมิใจเชิงนามธรรมครับ ผมมั่นใจว่า สังคมและการศึกษาของเราจะดีขึ้นแน่...โดยการ "ไม่มองข้าม" เรื่องที่บางคนอาจจะคิดว่า "เป็นประเด็นเล็ก" แบบนี้แหละครับ

 

ทั้งนี้ มีการให้ข้อมูลเอาไว้ว่า ครุยวิทยฐานะไทย เป็นชุดพิธีการซึ่งสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยโดยถือรับธรรมเนียมปฏิบัติมาจากพิธีการสำเร็จการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาทางตะวันตก ปัจจุบันครุยวิทยฐานะใช้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเพื่อแสดงถึงปริญญาวิทยฐานะที่ได้จากการสำเร็จการศึกษา

 

ครุยวิทยฐานะสำหรับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐจะกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาหรือกฎหมายอื่น ส่วนสถาบันอุดมศึกษาของเอกชนกำหนดไว้ในข้อบังคับของตน การใช้ครุยวิทยฐานะสำหรับมหาวิทยาลัยรัฐโดยไม่ชอบนั้นมีโทษ

 

อนึ่ง มีการเข้าใจผิดว่าครุยวิทยฐานะไทยเป็นเป็นเสื้อครุยที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งมีเพียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังจากการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง สถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ จึงได้ออกแบบครุยวิทยฐานะขึ้นเองโดยไม่ต้องขอพระราชทาน แต่ถูกเข้าใจผิดว่าครุยวิทยฐานะไทยทั้งหมดเป็นของพระราชทานและให้ความสำคัญในมุมมองของความศักดิ์สิทธิ์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"หมึกบลูริง" โผล่กลางทะเลระยอง นักวิชาการเตือนพิษร้ายแรงกว่างูเห่า 20 เท่า

นักวิชาการ แนะ "หลักการพัฒนาค่าแรงขั้นต่ำ" เป็นทางออก..หลังพรรคใหญ่ชูธงจ่อดันขึ้น 400 บาท !!

หยุดสร้างความขัดแย้ง! นักวิชาการ ชี้ การเมืองต้องไม่แบ่งคนรุ่นใหม่-เก่า อย่าปลูกฝังความเกลียดชัง!

ขอบคุณ : ประภาศ ปานเจี้ยง