ยอมรับความจริงไหม!! "สถาบันสหรัฐฯ" จัด "ไทย" กลุ่มท้ายตาราง คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ล้าหลังที่สุดในอาเซียน

โดยศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาโลก (จีไอพีซี) แห่งหอการค้าสหรัฐฯ ได้ทำการเผยแพร่รายงานดัชนีทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (ไอไอพีไอ)

รายงานข่าวจากสหรัฐฯ  โดยศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาโลก (จีไอพีซี) แห่งหอการค้าสหรัฐฯ ได้ทำการเผยแพร่รายงานดัชนีทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (ไอไอพีไอ) ประจำปี 2560  เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา  ปรากฎว่าไทยนั้นมีคะแนนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเพียง 9.53 คะแนนจากเต็ม 35 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 40 จากที่สำรวจทั้งหมด 45 ประเทศ เหนือกว่าเพียง 5 ประเทศ ได้แก่ อียิปต์ (41) แอลจีเรีย (42) อินเดีย (43) ปากีสถาน (44) และเวเนซุเอลา (45)

 โดยทางด้านศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาโลก ได้ให้ข้อมูลว่า ไทยยังมีจุดอ่อนหลายด้าน ได้แก่ มาตรการคุ้มครองสิทธิบัตรที่ยังไม่เพียงพอ ช่องโหว่ในการขอสิทธิบัตร การกำกับดูแลลิขสิทธิ์ดิจิทัลที่ยังไม่สมบูรณ์ การจัดการระบบบล็อกเว็บไซต์ใหม่ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ยังไม่มีประสิทธิภาพ อัตราปลอมแปลงสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์แบบดั้งเดิมและดิจิทัลสูงมาก และการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่เข้มงวด

 

 

ขณะเดียวกัน หากแยกเฉพาะประเทศในอาเซียน พบว่า ไทยรั้งอันดับสุดท้ายของภูมิภาค โดยแชมป์อาเซียนตกเป็นของสิงคโปร์ ที่ได้อันดับ 8 ของโลก ตามด้วยมาเลเซีย (19) บรูไน (29) ฟิลิปปินส์ (34) เวียดนาม (37) และอินโดนีเซีย (39)

ส่วนจีน ซึ่งถูกชาติตะวันตกกล่าวหามานานว่ามีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างแพร่หลายนั้น อยู่ในอันดับที่ 27 ของโลก 

 

ขณะที่ประเทศที่มีคะแนนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสูงสุด 10 อันดับแรกในดัชนีไอไอพีไอ ได้แก่

สหรัฐฯ

สหราชอาณาจักร

เยอรมนี

ญี่ปุ่น

สวีเดน

ฝรั่งเศส

สวิตเซอร์แลนด์

สิงคโปร์

เกาหลีใต้

และอิตาลี

นายเดวิด เฮิร์สช์มานน์ ประธานจีไอพีซีระบุว่า ประเทศที่ยึดมั่นต่อการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาย่อมจะได้รับประโยชน์จากความพยายามดังกล่าว เพราะการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาจะส่งเสริมนวัตกรรม การสร้างงาน และทำให้เศรษฐกิจขยายตัว

ยอมรับความจริงไหม!! "สถาบันสหรัฐฯ" จัด "ไทย" กลุ่มท้ายตาราง คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ล้าหลังที่สุดในอาเซียน

 

เรียบเรียงโดย สถาพร สำนักข่าวทีนิวส์