โลกเราทำได้! พบผู้ป่วยโรคเอดส์ ปลอดเชื้อ รายที่ 2

โลกเราทำได้! พบผู้ป่วยโรคเอดส์ ปลอดเชื้อ รายที่ 2

เว็บไซต์เดอะการ์เดี้ยน มีรายงานข่าวสำคัญในวงการแพทย์ หลังจากมีการเปิดเผยว่า ผู้ป่วยชายในประเทศอังกฤษ ได้กลายมาเป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส HIV รายที่ 2 ที่ปลอดเชื้อ HIV ภายหลังได้รับปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ โดยตลอด 18 เดือนที่ผ่านมา เขาได้หยุดใช้ยาต้านไวรัส แต่ผลตรวจร่างกายกลับไม่พบร่องรอยของการติดเชื้อแล้ว

       
โดย สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น เผยว่า ข่าวดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature โดยมีการเรียกผู้ป่วยรายนี้ว่า "ผู้ป่วยในลอนดอน" กรณีดังกล่าวนับเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเมื่อ 10 ปีก่อน มีรายงานกรณีของ "ผู้ป่วยในเบอร์ลิน" ที่ปลอดเชื้อ HIV ภายหลังได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคที่มีการกลายพันธุ์ของพันธุกรรมอย่างหาได้ยาก 

ด้าน รวินทรา กุปตา ศาสตราจารย์และนักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญด้าน HIV จากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมแพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วยรายดังกล่าว เปิดเผยว่า ผู้ป่วยรายนี้ได้รับเชื้อ HIV ในปี 2546 ก่อนที่เขาจะได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน ในปี 2555 จากนั้นในปี 2559 โรคมะเร็งทำให้เขาอยู่ในสภาพป่วยหนัก แพทย์จึงต้องมองหาทางเลือกในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์แก่เขา เพราะนั่นอาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่เขาจะรอดชีวิต 

  โลกเราทำได้! พบผู้ป่วยโรคเอดส์ ปลอดเชื้อ รายที่ 2

ในที่สุดแพทย์ก็พบผู้บริจาคที่แมตช์กับผู้ป่วย และผู้บริจาครายนี้ยังมีการกลายพันธุ์ของพันธุกรรมที่หาได้ยาก จนทำให้มีภาวะต่อต้านเชื้อไวรัส HIV ซึ่งการปลูกถ่ายครั้งนั้นเป็นไปได้อย่างราบรื่น แม้จะเกิดผลข้างเคียงอย่างภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้านร่างกาย (Graft versus host disease) กล่าวคือเป็นภาวะที่ภูมิคุ้มกันของสเต์มเซลล์ใหม่จากผู้บริจาค ไม่ยอมรับร่างกายของผู้ป่วย และเกิดปฏิกิริยากับภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้รับบริจาค 
 

จนตอนนี้เวลาผ่านไปนานร่วม 3 ปีแล้วนับตั้งแต่การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ และเป็นเวลา 18 เดือนที่ผู้ป่วยหยุดใช้ยาต้านไวรัส แต่ผลการตรวจร่างกายผู้ป่วย กลับไม่สามารถตรวจจับไวรัสได้เลย เขาไม่มีอาการของโรคปรากฏแล้ว อย่างไรก็ตาม ศ.รวินทรา กุปตา ชี้ว่ามันยังเร็วไป ที่จะบอกว่าผู้ป่วยรายนี้ได้รับการรักษาจนหายแล้ว 

ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ มองว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่หนทางการรักษาดังกล่าว จะเป็นวิธีรักษาเดียวสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ทุกคน เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง มีความซับซ้อน มีความเสี่ยง อีกทั้งยากจะหาผู้บริจาคที่สเต็มเซลล์แมตช์กับผู้ป่วย แถมผู้บริจาคยังต้องมีการกลายพันธุ์ของพันธุกรรมเช่นกันด้วย 

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังมองว่า ไม่ชัดเจนว่าการต้านทานไวรัสจากการกลายพันธุ์ของพันธุกรรม เป็นกุญแจสำคัญเพียงอย่างเดียวที่ทำให้ผู้ป่วยปลอดเชื้อ HIV หรือภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้านร่างกายจะมีความสำคัญด้วยเช่นกัน เนื่องจาก "ผู้ป่วยในเบอร์ลิน" ที่ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จนปลอดเชื้อ HIV ก็เคยเผชิญกับภาวะนี้เช่นกัน 

โลกเราทำได้! พบผู้ป่วยโรคเอดส์ ปลอดเชื้อ รายที่ 2