ส่องชัดๆ ตัวเลขเสียหายจำนำข้าว(จะ)เพิ่ม-ลด?

ส่องชัดๆ ตัวเลขเสียหายจำนำข้าว(จะ)เพิ่ม-ลด?

กลับมาเป็นข้อถกเถียงกันอีกครั้งจากกรณีที่เกิดการท้วงติงว่าการคิดคำนวณมูลค่าความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว อาจจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ จนมีการตั้งคำถามถึงความคืบหน้าของขั้นตอนการออกคำสั่งทางปกครองเพื่อเรียกความเสียหายทางแพ่ง

โดยล่าสุดก็ได้รับการยืนยันจากนายกรัฐมนตรีว่าขั้นตอนทั้งหมดจะแล้วเสร็จก่อนเดือนกุมภาพันธุ์ 2560 อย่างแน่นอน ส่วนเรื่องของตัวเลขนั้นอยู่ระหว่างการคิดคำนวณโดยคณะทำงานที่เกี่ยวข้องแต่สำหรับฝ่ายผู้ถูกร้องหรือในที่นี้จะเรียกว่าจำเลยนั้น ก็ออกมาท้วงติงเหมือนกันว่า ข้อมูลรั่วไหลหรือไม่ ทำไมคนภายนอกที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อถึงล่วงรู้ตัวเลขความเสียหาย

วันนี้ (31 ส.ค.) นายนพดล เหลาทอง ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อขอให้สอบสวน คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง เกี่ยวกับการรั่วไหลของข้อมูลการสอบสวน และการถูกแทรกแซงโดยการสอบสวน ไม่สุจริต และไม่คำนึงถึงความยุติธรรม

นายนพดล กล่าวว่า อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ได้เปิดเผยความคืบหน้าการสรุปความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว ว่า ขณะนี้คณะกรรมการอยู่ในระหว่างการพิจารณา เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจาก น.ส. ยิ่งลักษณ์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในเดือน ก.ย. นี้

ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กลับล่วงรู้ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ ที่ยืนยันตัวเลขความเสียหาย และมีการปรับลดตัวเลข 20 เปอร์เซ็นต์ จากมูลค่ารวม 1.78 แสนล้านบาท เหลือเพียง 35.717 ล้านบาท และมีการเปิดแผนข้อมูลต่อสื่อมวลชน เสมือนได้รับรู้ข้อมูลภายใน ซึ่งเป็นการชี้นำสังคม ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เกิดความเสียหาย ทั้งที่กระบวนการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ พฤติกรรมดังกล่าว เชื่อโดยสุจริตว่าการสอบสวนของคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง มีบุคคลภายนอกบงการ ชี้นำ ทำให้การสอบสวนไม่เป็นไปโดยสุจริต และยุติธรรม ด้วยเหตุนี้จึง ยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ดำเนินการสอบสวนเรื่องดังกล่าว โดยข้อเท็จจริงแล้วหากพูดถึงตัวเลขความเสียหายโครงการรับจำนำข่าว จะเป็นที่น่าสังเกตว่าบุคคลภายนอกที่ออกมาประเมินความเสียหายนั้น จะมีสูตรของการคิดคำนวณ ซึ่งมีปัจจัยผันแปรมากมาย บางคนก็คำนวณตัวเลขสูง บางคนก็ต่ำ แต่ฐานอ้างอิงที่น่าเชื่อถือที่สุด ณ ตอนนี้ก็คือ 2.8แสนล้านบาท เพราะออกมาจากปากของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั่นเอง

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่านายจิรชัยได้รายงานตัวเลขความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งมีตัวเลขความเสียหายอยู่ที่ 286,639 ล้านบาท

ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ กับพวกนั้นอยู่ที่ 18,743 ล้านบาท
ทั้งนี้หลังจากที่มีการเปิดเผยตัวเลขความเสียหายมากกว่า286,639 ล้านบาท ต่อมา มีการเปิดเผยเพิ่มเติมออกมาจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ว่าตัวเลขความเสียหาย อาจจะมากกว่านั้นด้วยซ้ำ

พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 4/2559 ว่า ที่ประชุมรับทราบถึงสถานการณ์ข้าวในปีนี้และปีหน้า รับทราบสถานการณ์ข้าวในคลัง มีการรายงานเรื่องการจำหน่ายการระบายข้าว และหารือถึงสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่เดิม เพื่อแสวงหาทางออกตามกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายให้ได้

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวอีกว่า ขอยืนยันอีกครั้งว่า รัฐบาลนี้พยายามอย่างเต็มที่ในการทำให้โครงการรับจำนำข้าวเป็นธรรมมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและกำลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

 

ส่วนเรื่องตัวเลขที่มีการพูดมาแล้วนั้น เป็นการสำรวจเมื่อปี 2557 ที่มีการรับบัญชี สำรวจประเมินความเสียหายเท่านั้นอยู่ ซึ่งข้าวที่อยู่ในคลังจะมีความเสียหายมากยิ่งขึ้น จึงคาดการณ์ว่าอาจจะมีความเสียหายมากขึ้นไปกว่านั้นอีกเรื่องความรับผิดชอบความเสียหายตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มีสองอย่าง ทั้งของรัฐบาล และอดีตรัฐมนตรี ตัวเลขเดิมคือ 2.8 แสนล้าน และ 2 หมื่นล้าน เดี๋ยวจะเข้าสู่กระบวนการ โดยรัฐบาลมีหน้าที่นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อย่าไปมองตัวเลขมากนัก เพราะอาจจะมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากข้าวขายไม่ได้ จะเสื่อมสภาพไปเรื่อยๆ และจะขายมากๆ ก็ไม่ได้ เพราะต้องดูราคาตลาดด้วย

ส่วนตัวเลขข้าวที่ยังค้างอยู่ในโกดังนั้น เวลานี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้คำนวณไว้แล้ว เบื้องต้นคิดไว้ว่าความเสียหายอยู่ที่ 2.8 แสนล้าน หากเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ก็ต้องสรุปตัวเลขอีกที ซึ่งต้องมีทั้งค่าใช้จ่ายและเรื่องราคาข้าว ตรงนั้นจะบวกขึ้นไปอีก


ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียังยืนยันอีกว่า จะต้องมีผู้รับผิดชอบความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ส่วนที่ว่าใครเป็นคนทำให้เสียจริงหรือไม่ ทุจริตจริงหรือไม่ก็ไปสู้กันในศาล ตนมีหน้าที่สรุปขึ้นไปให้ได้ และศาลก็ต้องไปสืบต่อ

สำหรับคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ที่ระบุว่ามูลค่าความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวอาจจะเพิ่มสูงกว่านั้น เป็นการอธิบายตามหลัก สินค้าค้างสต๊อก เนื่องจากปัจจุบันยังมีข้าวในโกดังที่ไม่สามารถระบายได้อีกเป็นจำนวนมากซึ่งข้าวเหล่านั้นจะต้องมีค่าบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บ รักษา คัดเกรดเพื่อจำหน่าย รวมไปถึงค่าเสื่อมของสินค้า ที่ผันแปรไปตามระยะเวลาย้อนหลังกลับไปยังจุดเริ่มต้น จากข้อมูลของคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2557 โครงการรับจำนำข้าวเปลือก มีข้าวสารคงค้างอยู่ในสต็อก 18 ล้านตัน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นข้าวคุณภาพดี 10% ข้าวคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน 70% ข้าวป่นหรือข้าวเสื่อมสภาพมีประมาณ 5% และข้าวสูญหายอีก 1 แสนตัน

ผลการศึกษา ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า” ที่ระบุว่า ข้าวเปลือก 1 ตัน (1,000 กิโลกรัม) นำมาสีแปรสภาพได้ข้าวสาร 0.66 ตัน (660 กิโลกรัม) หากรัฐบาลรับจำนำข้าวเปลือกตันละ 14,500 บาท นำไปสีแปรสภาพเพื่อให้ได้ข้าวสารน้ำหนัก 1 ตัน จะมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 22,000 บาท ดังนั้น ถ้ารัฐบาลมีข้าวค้างสต็อก 18 ล้านตัน หมายความว่าข้าวสารของรัฐบาลลอตนี้มีต้นทุนประมาณ 396,000 ล้านบาท

หากนำข้อมูลผลการสำรวจปริมาณข้าวสาร 18 ล้านตัน ที่ค้างอยู่ในสต็อกตามข้อมูลข้างต้น มาวิเคราะห์ตามสูตรคำนวณดังกล่าวจะพบว่า ข้าวสารที่อยู่ในสต็อกของรัฐบาลที่ปริมาณข้าวมากที่สุด อันดับที่ 1 คือ ข้าวด้อยคุณภาพ มีปริมาณ 15.2 ล้านตัน ต้นทุนอยู่ที่ 334,382 ล้านบาท อันดับที่ 2 เป็นข้าวคุณภาพดี มีปริมาณ 1.8 ล้านตัน ต้นทุน 39,600 ล้านบาท ถัดไปเป็นข้าวเน่า ข้าวป่น 9 แสนตัน ต้นทุน 19,800 ล้านบาท และข้าวหายอีก 1 แสนตัน ต้นทุน 2,218 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ระบุว่าข้าวสารในสต็อกรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นข้าวด้อยคุณภาพ 85% ดังนั้น แนวทางในการบริหารจัดการข้าวในสต็อกให้เกิดผลขาดทุนน้อยที่สุดจึงขึ้นอยู่กับจังหวะและฝีมือในการระบายข้าวด้อยคุณภาพของกระทรวงพาณิชย์ หากระบายช้า ข้าวด้อยคุณภาพก็จะกลายเป็นข้าวเน่า แต่ถ้าระบายเร็วจะทำให้ราคาข้าวตกต่ำ เป็นต้น

เพราะฉะนั้นเมื่อเรามีฐานข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณ และคุณภาพข้าวออกมาแล้ว ทีนี้ลองมาคิดคำนวณกันค่ะว่า ตัวเลขความเสียหายจะออกมาเป็นเท่าไร
ซึ่งในที่นี้รายการเจาะข่าวร้อนล้วงข่าวลึก จะทำการคิดคำนวณตั้งแต่กรณีที่เลวร้ายน้อยที่สุดไปถึงมากที่สุดดังนี้

กรณีที่ 1 เลวร้ายที่สุด กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวด้อยคุณภาพตันละ 3,000 บาท
คาดว่าจะมีรายได้จากการระบายข้าวลอตนี้ 67,198 ล้านบาท ต้นทุนอยู่ที่ 396,000 ล้านบาท รัฐบาลขาดทุน 328,802 ล้านบาท

กรณีที่ 2 ขายข้าวด้อยคุณภาพตันละ 6,000 บาท คาดว่ารัฐบาลมีรายได้จากการระบายข้าวลอตนี้ 112,795 ล้านบาท ขาดทุน 283,205 ล้านบาท

กรณีที่ 3 ขายข้าวด้อยคุณภาพตันละ 9,000 บาท คาดว่ารัฐบาลมีรายได้จากการระบายข้าว 158,393 ล้านบาท ขาดทุน 237,607 ล้านบาท

และกรณีที่ 4 สถานการณ์ดีมาก กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวด้อยคุณภาพได้ราคาเท่ากับข้าวคุณภาพดี ตันละ 12,000 คาดว่ารัฐบาลมีรายได้จากการระบายข้าว 203,990 ล้านบาท ขาดทุน 192,010 ล้านบาท
สรุป หากกระทรวงพาณิชย์ระบายข้าวจนครบ 18 ล้านตัน คาดว่า รัฐบาลจะขาดทุนขั้นต่ำ 192,010 ล้านบาท และขาดทุนสูงสุดไม่เกิน 328,802 ล้านบาท

 

พิจารณาจากสูตรการคิดคำนวณดังกล่าวก็จะเห็นว่าตัวเลขความเสียหายจะวิ่งตั้งแต่192,010 ล้านบาท ไปจนถึง 328,802 ล้านบาทเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่า โอกาสที่ตัวเลขความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวมีโอกาสจะสูงขึ้นด้วยซ้ำ ส่วนกรณีที่มีการท้วงติงนั้นก็น่าที่จะเป็นการระแวดระวังหรือรักษาผลประโยชน์ของชาตินั่นเอง ใช่หรือไม่