อย่ามามั่วเอาดีเข้าตัว !!! "กรณ์" ปี๊ดแตกส่งถึง "เพื่อไทย" งานนี้มีหงายเงิบ ...แทนที่คอยใส่ร้ายผู้อื่นช่วยดูตัวเองด้วย (รายละเอียด)

สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายแจกเงินคนจน ล่าสุดนายกรณ์ จาติกวนิช อดีตรองนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นกรณีนโยบายแจกเงิน ระบุว่า ก็เป็นเรื่องของเขา แต่เขาได้พาดพิงมั่วๆถึงร

สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายแจกเงินคนจน
ล่าสุดนายกรณ์ จาติกวนิช อดีตรองนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นกรณีนโยบายแจกเงิน ระบุว่า
ก็เป็นเรื่องของเขา แต่เขาได้พาดพิงมั่วๆถึงรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ ในเรื่องนโยบาย เช็คช่วยชาติ ที่ผมรับผิดชอบโดยตรงในฐานะรัฐมนตรีคลัง โดยที่เพื่อไทยอ้างว่าเป็นนโยบายที่ ทำไปแล้วศูนย์เปล่า…ไม่เกิดประโยชน์เลย เช็คช่วยชาติ คือหนึ่งในยาแรงที่เราต้องใช้ในช่วงวิกฤตครั้งใหญ่ของโลกในปี ๒๕๕๑/๕๒ ที่ทำให้ GDP ไทยเราต้องหดตัวถึง 7% และภาคเอกชนเลิกจ้างแรงงานถึงเดือนละ 50,000 คนอยู่หลายเดือนติดต่อกัน เราจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นให้เกิดความคึกคักในเศรษฐกิจภายในประเทศโดยด่วน และวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือการเอาเงินใส่มือผู้มีรายได้น้อยทันที

ในช่วงนั้นมีการทำการสำรวจโดย ABAC พบว่าประชาชนที่ได้รับเช็คช่วยชาติส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.8 ระบุจะใช้จ่ายทันที ขณะที่ร้อยละ 17.2 ตั้งใจจะเก็บเอาไว้ก่อน โดยในกลุ่มที่จะใช้จ่ายทันที ร้อยละ 10.3 จะใช้หนี้สิน ร้อยละ 70.6 จะซื้ออาหาร ร้อยละ 52.2 จะซื้อของใช้ และ 0.7 จะนำไปรวมเงินดาวน์ซื้อสินค้า เราติดตามประเมินอย่างใกล้ชิดและเห็นการจัดเก็บภาษี VAT จากการบริโภคที่ก้าวกระโดดทันทีหลังจากการออกนโยบายนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าผลลัพท์ที่เห็นภายในไม่กี่เดือนคือเศรษฐกิจไทยฟื้นเป็นรูปตัว V และเป็นการฟื้นตัวที่เร็วเป็นอันดับสองในโลก (รองจากไต้หวันถ้าจำไม่ผิด
 ควบคู่กับ ‘เช็คช่วยชาติเราได้ออกมาตรการอื่นๆที่มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจเช่น ไทยเข้มแข็ง (การลงทุน 20,000 โครงการทั่วประเทศ) ต้นกล้าอาชีพ (ฝึกอาชีพการงานให้รากหญ้า) และประกันรายได้ (ช่วยเสริมรายได้ให้เกษตรกร) ข้อดีของเช็คช่วยชาติ (และประกันรายได้) อีกข้อหนึ่งคือทุกบาทถึงมือประชาชนโดยไม่มีการรั่วไหล ส่วนนโยบายของรัฐบาลนี้จะส่งผลอย่างไรก็คงต้องรอดู แต่ที่แน่นอนก็คือผู้รับเงินมีความเดือดร้อนจริง และเงินถึงมือเขา ไม่รั่วไปเข้ามือใคร ซึ่งแทนที่จะมาคอยใส่ร้ายผู้อื่นและเอาดีเข้าตัว ทีมเศรษฐกิจเพื่อไทยควรไปทำการบ้านว่าเหตุใดในสมัยไทยรักไทยพวกเขาจึงมีหลายนโยบายที่ดี ไม่ว่าจะเป็น 30 บาท หรือ OTOP แต่ในช่วงเพื่อไทยจึงมีแต่การแจก tablet รถคันแรก หรือการทำ G2G เก๊

ขณะที่ นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่คลังเสนอเกี่ยวกับมาตรการเพิ่มรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเหตุผลในการออกมาตรการนี้ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนที่มีรายได้น้อยมีสัญญาณชะลอตัวลง แม้ว่ารัฐบาลได้ดำเนินมาตรการอย่างต่อเนื่อง แต่การเติบโตของเศรษฐกิจยังคงมีความเปราะบาง ส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรมีความเสี่ยงด้านรายได้ เพื่อการอุปโภคบริโภค และเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2559 ครม.ได้เห็นชอบมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยไปแล้ว แต่ยังเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่อยู่นอกภาคเกษตร และได้ลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐอีก 5.4 ล้านราย ที่ยังได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้มีมาตรการเพิ่มรายได้ดังกล่าว

สำหรับผู้มีสิทธิ์รับการช่วยเหลือ ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ณ วันที่ 15 ส.ค.2559 และเป็นผู้ว่างงาน หรือมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปีในปี 2558 โดยผู้ที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อรายครั้งเดียว โดยคาดว่าจะมีผู้ได้รับสิทธิ์ 3.1 ล้านราย ใช้วงเงินดำเนินการ 9,300 ล้านบาท และผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,001 บาท/ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี จะได้เงินช่วยเหลือ 1,500 บาท/คนครั้งเดียว โดยคาดว่ามีจำนวนผู้มีสิทธิ์ 2.3 ล้านคน ใช้เงินวง 3,450 ล้านบาท เมื่อรวมทั้งหมดจะมีผู้ได้รับสิทธิ์ 5.4 ล้านคน รวมวงเงินที่ใช้ 12,750 ล้านบาท

นายณัฐพรกล่าวต่อว่า การโอนเงินนั้นมอบหมายให้ ธ.ก.ส., ออมสิน และกรุงไทย โอนเงินเข้าบัญชีผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนไว้กับธนาคาร โดยกรณีผู้มีสิทธิ์เป็นลูกค้าจะโอนเข้าบัญชีโดยตรง โดยสามารถตรวจสอบเงินในบัญชีได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ธนาคารแจ้ง แต่หากผู้มีสิทธิ์มีมากกว่า 1 บัญชี ธนาคารจะโอนเงินเข้าบัญชีที่มีการเคลื่อนไหวล่าสุด ส่วนกรณีผู้มีสิทธิ์ไม่ได้เป็นลูกค้าของธนาคาร ให้ไปแสดงตัวและเปิดบัญชีเงินฝากที่สาขาธนาคารที่ไปลงทะเบียนตามโครงการ และตรวจสอบเงินในบัญชีหลังเปิดบัญชีภายใน 7 วันเช่นกัน

 

 

เรียบเรียงโดย ชนุตรา สำนักข่าวทีนิวส์