เตือนถึง 27 พ.ค.นี้ อุตุฯชี้ฝนเพิ่มมากขึ้น หนักบางแห่ง กรมชลฯ เขื่อนเจ้าพระยาเตือน 5 จังหวัดภาคกลางรับมือการระบายน้ำเพิ่ม

เตือนถึง 27 พ.ค.นี้ อุตุฯชี้ฝนเพิ่มมากขึ้น หนักบางแห่ง กรมชลฯ เขื่อนเจ้าพระยาเตือน 5 จังหวัดภาคกลางรับมือการระบายน้ำเพิ่ม

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศใน 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังมีฝนตกหนักได้บางพื้นที่ในบริเวณภาคใต้ฝั่ง ตะวันตก และภาคตะวันออก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังอ่อนลง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 22-27 พ.ค. ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้น และ มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะกำลังแรงขึ้นโดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร

กรมอุตุฯ ระบุว่าข้อควรระวังในช่วงวันที่ 22-27 พ.ค. ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนัก โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณที่ลาดเชิงเขา และพื้นที่ลุ่ม ในบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ที่อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากที่จะเกิดขึ้นในระยะนี้ ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กควรงดออกฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

สำหรับลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในวันที่ 21 พ.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และประเทศไทยมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังอ่อนลง สำหรับภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ส่วนในช่วงวันที่ 22-27 พ.ค. จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทะเลอันดามัน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ มีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทุกแห่งทั่วประเทศยังเหลือพื้นที่ความจุเฉลี่ย 50 เปอร์เซ็นต์ หรือครึ่งหนึ่งของความจุทั้งหมดที่เขื่อนจะรองรับปริมาณน้ำได้ แม้ว่าช่วงนี้จะมีฝนตกลงมาอย่างมาก เพราะเป็นช่วงต้นฤดูฝน แต่จะไม่มีผลทำให้น้ำในเขื่อนล้นออกมาจนสร้างความเสียหายให้บ้านเรือนประชาชนอย่างแน่นอน และน้ำที่ท่วมอยู่ขณะนี้เกิดจากน้ำป่าไหลหลาก และน้ำในที่ลุ่มระบายไม่ทัน

โดย ฝนที่ตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ยังทำให้มีปริมาณน้ำจากพื้นที่ตอนบนไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเช้าวันที่ 20 พ.ค. มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 476 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำจะสูงขึ้นในเกณฑ์ประมาณ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ไปจนถึง ต.บางหลวงโดด อ.บางบาล และ ต.บ้านกระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ นายสุชาติ เจริญศรี ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 12 ชัยนาทกล่าวว่า ในวันที่ 21 พ.ค.นี้ ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 609 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ถึง ต.บางหลวงโดด อ.บางบาล และ ต.บ้านกระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ประมาณ 1.00-1.50 เมตร

นายสุชาติระบุอีกว่า น้ำที่หลากลงมาจากภาคเหนือคาดว่าจะถึงจุดสูงสุดที่ จ.นครสวรรค์ ในช่วงบ่ายวันที่ 23 พ.ค. ประมาณ 1,450 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สำนักงานชลประทานที่ 12 จะต้องควบคุมปริมาณน้ำเข้าพื้นที่ชลประทานทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา 6.4 ล้านไร่ โดยพิจารณานำน้ำเข้าระบบชลประทานให้มากที่สุด ประมาณ 650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อีกส่วนหนึ่งการใช้น้ำทั่วไป โดยสถานีสูบน้ำต่างๆ ในชุมชน ประมาณ 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และไหลลงคลองธรรมชาติ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อีกส่วนหนึ่งระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 500-600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะไม่มีผล กระทบด้านท้ายน้ำแต่อย่างใด