ให้ข้าราชการทุกคน ยื่นบัญชีทรัพย์สิน กระตุ้น "ป้องกันโกง" ความหวังใหม่ประเทศไทย

ให้ข้าราชการทุกคน ยื่นบัญชีทรัพย์สิน กระตุ้น "ป้องกันโกง" ความหวังใหม่ประเทศไทย

การทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้ไม่เฉพาะมาจากพฤติกรรมของ "นักการเมือง" เพียงอย่างเดียว  เพราะหากข้าราชการไม่ร่วมมือด้วย การโกงย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้ 

ทั้งนี้ หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กระทั่งมีการจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้ให้ความสำคัญกับการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น ควบคู่ไปกับการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
 

 

 

มีการตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ คตช. ซึ่งประกอบด้วย 4 คณะกรรมการย่อย 1. คณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ด้านการปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ 2. คณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ด้านการป้องกันการทุจริต 3. คณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ด้านการประชาสัมพันธ์ 4. คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม ทั้ง 4 คณะจะคิดวางกรอบแผนงานในระดับนโยบาย

นอกจากนี้ยังตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ขึ้นภายในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ปปท.) ทำหน้าที่เป็นองค์กรอำนวยการระดับชาติ เพื่อให้การแก้ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอยู่ภายใต้คณะกรรมการ คตช. 

ศอตช.มีหน้าที่สำคัญคือ อำนวยการประสานการปฏิบัติ เร่งรัด ติดตาม กำกับดูแล ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตเป็นไปอย่างบูรณาการโดยมีเอกภาพชัดเจน พร้อมเรียกหรือสั่งการเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หรือให้งดเว้นการดำเนินการใดๆที่ขัดต่อกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หรือคำสั่งนายกรัฐมนตรี อันก่อให้เกิดความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน

ผลงานสำคัญของ ศอตช.คือการรวบรวมรายชื่อข้าราชการที่อาจเข้าข่ายทุจริต จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอหัวหน้า คสช.ออกคำสั่งให้สอบสวนก่อนลงโทษ ทั้งนี้ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมว่า ได้มีการออกคำสั่งให้สอบสวนข้าราชการที่ส่อว่าจะทุจริตแล้วทั้งสิ้น 353 ราย พบความผิดและสั่งลงโทษตามขั้นตอนราชการ 72 ราย ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบของหน่วยราชการ 193 ราย 

       เพื่อเอาจริงกับการทุจริตในภาคข้าราชการ ล่าสุดอนุกรรมการด้านการป้องกันการทุจริต ได้เสนอที่ประชุม คตช.ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน โดยเสนอมาตรการคุมเข้มป้องกันการทุจริตของเหล่าบรรดาข้าราชการไทย จึงเห็นควรให้ข้าราชการทุกคน ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินทุกคน เพราะเห็นว่านี่จะเป็นแนวทางสร้างการตระหนักรู้ป้องกันการโกงได้ในระดับหนึ่ง วิธีคิดคือ เมื่อข้าราชการทุกคนรู้ว่ามีกระบวนการตรวจสอบอยู่ ย่อมจะเกิดความกลัวไม่กล้ากระทำความผิด
 

 

 

วิธีการปฏิบัติคือ จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตั้งแต่เริ่มเข้ารับราชการ  โดยเป็นการยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อน จากนั้นข้อมูลบัญชีทรัพย์สินของข้าราชการก็จะไปบรรจุอยู่ในฐานข้อมูลของต้นสังกัดของแต่ละคน จนเมื่อข้าราชการมีการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ก็จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินอีกครั้ง หรืออาจจะยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นวงรอบ เช่น 3 ปีต่อหนึ่งครั้ง ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบว่าในระหว่างนี้มีความผิดปกติเกี่ยวกับบัญชีทรัพย์สิน หรือรายได้หรือไม่ หากมีความผิดปกติแล้วไม่สามารถชี้แจงได้ นั่นหมายถึงความผิด 

วิธีปฏิบัตินี้ยังอยู่ในขั้นของการศึกษา ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ยังศึกษาร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากระบบพร้อมเมื่อไหร่ ก็จะสามารถนำมาใช้ได้ในทันที