“กรรมการปฏิรูป” ไม่รวมอนุฯ 1 ปี ได้เบี้ยประชุมเฉลี่ย 95 ล้านบาท “ทำอะไรบ้าง”

“กรรมการปฏิรูป” ไม่รวมอนุฯ 1 ปี ได้เบี้ยประชุมเฉลี่ย 95 ล้านบาท “ทำอะไรบ้าง”


 วันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธาน เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ 120 คน 11 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านสังคม ด้านพลังงาน ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ                

ทั้งนี้ ตำแหน่งคณะกรรมการปฏิรูปยังว่างอีก 45 เก้าอี้ โดย ครม.จะทยอยแต่งตั้งจนครบ 165 คนตามจำนวน คณะละที่เกิน 15 คน 

 

 

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมการปฏิรูปจะไม่มีเงินเดือน แต่จะมีเพียงเบี้ยประชุมครั้งละ 6,000 บาท โดยคาดว่าใน 1 สัปดาห์จะประชุมกันได้ไม่เกิน 2 วัน ดังนั้นจึงจะได้รับเบี้ยประชุมเฉลี่ย 48,000 บาท  

       บวกลบคูณหารแล้ว คณะกรรมการจะได้เบี้ยประชุม คนละ 576,000 บาทต่อปี รวม 165 คน คิดเป็น 95,040,000 บาท ตัวเลขนี้ยังไม่รวมอนุกรรมการ ที่จะมีการตั้งขึ้นมาทำงานในคณะกรรมการชุดต่างๆ ซึ่งมี ความจำเป็นต้องตั้งเพื่อศึกษาหาวิธีการในเชิงปฏิบัติ

ถามว่าคณะกรรมการปฏิรูปมีหน้าที่ทำอะไร แตกต่างกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ตั้งและยุบไปก่อนหน้านั้นหรือไม่ ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูป เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดต้องมีการปฏิรูปด้านต่างๆ เช่น ด้านการเมือง ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีส่วนร่วมในการดําเนินกิจกรรมทางการเมืองรวมตลอดทั้งการตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐ รู้จักยอมรับในความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่างกัน และให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้ง และออกเสียงประชามติโดยอิสระปราศจากการครอบงําไม่ว่าด้วยทางใด เป็นต้น 

ตาม พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูป 2560 กำหนดระยะเวลาการจัดทําร่างแผนการปฏิรูปประเทศรวม 225 วัน หรือประมาณ 8 เดือน 

1.ให้ที่ประชุมกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดทําร่างแผนการปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แล้วให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 15 วัน หมายถึงต้องเสร็จภายในเดือนตุลาคม

2.ให้คณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้านจัดทําร่างแผนการปฏิรูปให้แล้วเสร็จ ภายใน 90 วัน จากนั้นเสนอให้ที่ประชุมใหญ่เห็นชอบภายใน 30 วัน รวมเป็นประมาณ 4 เดือน หมายความว่าจะต้องสรุปแผนการปฏิรูปแต่ละด้านในเดือนกุมภาพันธ์  

ในระหว่างทางให้คณะกรรมการปฏิรูป เชิญหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศในด้านนั้น เข้าร่วมชี้แจงหรือแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการดําเนินการ รวมทั้งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยวิธีการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและแสดงความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะได้โดยสะดวกและทั่วถึง ทั้งนี้ ต้องมีการแสดงข้อมูลที่เพียงพอแก่การที่ประชาชนจะเข้าใจและสามารถแสดงความคิดเห็นได้ด้วย
 
3.เมื่อที่ประชุมร่วมพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแผนการปฏิรูปประเทศแล้ว ให้เสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อพิจารณาความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท ซึ่งต้อง พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับร่าง หมายถึงภายในเดือนมีนาคม

4.ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสนอร่างแผนการปฏิรูปประเทศที่ผ่านการพิจารณาแล้วต่อ ครม.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 30 วัน หมายถึงภายในเดือนเมษายน  

คณะกรรมการปฏิรูปมีอํานาจ 1.กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทําร่างแผนการปฏิรูปประเทศโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 2.พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแผนการปฏิรูปประเทศ 3.กําหนดวิธีการการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการจัดทําแผนการปฏิรูปประเทศ และการมีส่วนร่วมในการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดําเนินการ ตามแผนการปฏิรูปประเทศ และมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทุกภาคส่วนดําเนินการ ให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ

4.เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเสนอแนะต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องเกี่ยวกับการดําเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ 5.กําหนดตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของการดําเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้หน่วยงาน ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศใช้ในการประเมินผล 6.ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น หรือตามที่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมอบหมาย

 

 

ล่าสุด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ว่า คณะกรรมการปฏิรูปมีภารกิจ 1.ยกร่างแผนการปฏิรูปประเทศให้เสร็จภายในเวลา 8 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จและบังคับใช้ได้ ภายในเดือนเมษายน 2561 จากนั้นทำภารกิจติดตามการทำงานของหน่วยงานของรัฐทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ว่าปฏิบัติหรือเดินตามแผนการปฏิรูปหรือไม่ ทั้งนี้ เรื่องใดที่กรรมการปฏิรูปต้องทำเอง เช่น ยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูป ก็สามารถทำได้เลย
//////////////