สุดประทับใจ!พี่น้อง“มานิ”ออกจากป่า-เขาร่วมถวายดอกไม้จันทน์ นักวิชาการวอนเลิกเรียก“ซาไก-เงาะป่า”

สุดประทับใจ!พี่น้อง“มานิ”ออกจากป่า-เขาร่วมถวายดอกไม้จันทน์ นักวิชาการวอนเลิกเรียก“ซาไก-เงาะป่า”

บรรยากาศที่สีดำห่มคลุมแผ่นดินไทยวานนี้(26 ต.ค.) กับการร่วมถวายดอกไม้จันทน์ของพสกนิกรในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.9 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊คของ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ( สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน ) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้โพสต์ภาพและเนื้อหา ของ พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ "มานิ" ซึ่งคนทั่วไปจะคุ้นกับคำเรียกว่า ซาไก หรือเงาะป่า ซึ่งได้เดินทางลงมาจากป่าเขาซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อร่วมถวายดอกไม้จันทน์ที่ จ.สตูลและพัทลุง สะท้อนให้เห็นถึงพระบารมีปกเกล้าของ ในหลวง ร.9  ที่เข้าไปถึงพสกนิกรในแผ่นดินทุกคน ขณะเดียวกันดร.ไชยณรงค์ ยังได้เรียกร้องให้คนไทยเลิกใช้คำเรียกกลุ่มชาติพันธ์ “มานิ” ว่า ซาไก และเงาะป่า เนื่องจากเป็นคำเรียกที่มีนัยของการเหยียดชาติพันธุ์

 

 

“มานิ ไม่ใช่ซาไก หรือเงาะป่าซาไก

วันนี้ พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ "มานิ" ได้เดินทางลงมาถวายดอกไม้จันทน์ที่สตูลและพัทลุง ขณะที่สื่อบางฉบับเรียกพวกเขาว่า "ซาไก"หรือ "ชนกลุ่มน้อยซาไก"
ความจริงแล้ว ชื่อชาติพันธุ์ควรเรียกตามชื่อที่พวกเขาเรียกตนเอง เพราะความหมายจะต่างกันโดยสิ้นเชิง สำหรับคนกลุ่มนี้ พวกเขาเรียกตนเองว่า "มานิ" ที่แปลว่า "คน" หรือจะแปลว่า "พวกเรา" ก็ได้ ส่วนคำว่า "ซาไก" เป็นคำที่คนอื่นเรียก คำว่า "ซาไก" เป็นภาษามาลายู แปลว่า "ทาส" ตรงกับคำว่า "ข่า" (ภาษาลาว) หรือ "ขี้ข้า" (หรือทาสา-ทาส ในภาษาขะแมร์) ที่พวกไท (รวมถึงไทย) และลาวใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงในลุ่มน้ำโขง

 

คำว่า "เงาะป่า" ก็ควรตัดออกไป เพราะมีนัยของความล้าหลัง ไม่พัฒนา รวมถึงคำว่า "ชนกลุ่มน้อย" ด้วย เพราะมีนัยของการดูถูก และคำที่เป็นคำกลางๆ ที่ควรใช้ก็คือ "กลุ่มชาติพันธุ์" ตามที่นักมานุษยวิทยาเสนอ หรือเรียกว่า "ชนพื้นเมือง" ก็ได้ เพราะสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิชนพื้นเมือง (ไม่ควรใช้คำว่า ชนเผ่าหรือชนเผ่าพื้นเมือง เพราะมีนัยของการดูถูกเช่นกัน)

 

สำหรับคำใต้ที่มีการใช้เรียก "มานิ" อีกคำคือ "ไอ้เกลอ" ที่ฟังดูแล้วใกล้ชิดกันมาก เพราะคำว่า"เกลอ" ในภาษาใต้แปลว่าเพื่อนรัก
ในปัจจุบัน การดูถูกเหยียดหยามชาว "มานิ" ยังพบได้บ่อยๆ เช่น การนำ "มานิ" มาแสดงความเป็น "คนป่า" ให้คนชม ทั้งที่นั่นคือวิถีการผลิตของ "มานิ" ที่เป็นสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์ (hunting and gathering)

 

สุดประทับใจ!พี่น้อง“มานิ”ออกจากป่า-เขาร่วมถวายดอกไม้จันทน์ นักวิชาการวอนเลิกเรียก“ซาไก-เงาะป่า”

สุดประทับใจ!พี่น้อง“มานิ”ออกจากป่า-เขาร่วมถวายดอกไม้จันทน์ นักวิชาการวอนเลิกเรียก“ซาไก-เงาะป่า”

สุดประทับใจ!พี่น้อง“มานิ”ออกจากป่า-เขาร่วมถวายดอกไม้จันทน์ นักวิชาการวอนเลิกเรียก“ซาไก-เงาะป่า”

สำหรับชาวมานิที่สตูลพวกเขาลงมาถวายดอกไม้จันทน์เพราะพวกเขาได้รับสัญชาติไทย ขณะที่ยังมี "มานิ" อีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ
ManagerOnline ได้ระบุว่า นายไข่เล็ก ผู้นำกลุ่มซาไก ที่มาถวายดอกไม้จันทน์ที่สตูลบอกว่า รู้สึกเสียใจในการจากไปของพ่อหลวง และภูมิใจที่พ่อหลวงให้แก่พวกเรา คือ บัตรประชาชนให้สิทธิเหมือนประชาชนทั่วไปในการรักษาพยาบาล และสิทธิของประชาชนเต็มขั้น

 

ผมได้แต่หวังว่า ต่อไปนี้ พวกเราจะเลิกเรียก "มานิ" ว่า "เงาะป่าซาไก" หรือ "ซาไก" และพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มจะได้รับสัญชาติ เพราะการไม่มีสัญชาติคือการไม่มีสิทธิความเป็นพลเมืองได้ทำให้สิทธิด้านอื่นๆ หมดไปโดยปริยาย”

 

 

Cr. FB:Chainarong Sretthachau,ภาพ วิชาญ ช่วยชูใจ