มันส์หยด!!! ฟัง "ผักกาดหอม" เล่าเรื่อง "สืบทอดอำนาจ" สุดเด็ด..สนุกกว่านั้นหากอนาคตอันใกล้นายกฯ ชื่อ "บิ๊กตู่" หน.ฝ่ายค้านคือ "ลูกโอ๊ค"

ผักกาดหอม เล่าเรื่อง "สืบทอดอำนาจ" ของไทย ลั่น ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ส่วนฝ่ายค้านคือ ลูกโอ๊ค-พานทองแท้

 

มันส์หยด!!! เมื่อ "ผักกาดหอม" เล่าเรื่อง "สืบทอดอำนาจ"ของไทยแบบรู้จริง..และยิ่งสนุกกว่านั้นหากในอนาคตอันใกล้นายกฯ ชื่อ "ประยุทธ์" หัวหน้าฝ่ายค้านคือ "ลูกโอ๊ค-พานทองแท้" ว่าที่นายใหญ่แห่งบ้าน "ตระกูลชิน"


วันนี้ (30 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในคอลัมน์ "คนปลายซอย" ของ "เปลว สีเงิน" แห่งไทยโพสต์ ซึ่งวันนี้เขียนโดย "ผักกาดหอม" ได้มีบทความน่าสนใจยิ่งชิ้นหนึ่ง นั่นคือเล่าเรื่อง "สืบทอดอำนาจ" ของไทยตั้งแต่ยุคอดีต และอาจจะรวมไปถึงอนาคตอันใกล้ ซึ่งกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมในขณะนี้ สำนักข่าว Tnews จึงขอนำบางส่วนของงานเขียนมาเล่าต่อ เพื่อเป็นประโยขน์แก่ผู้สนใจปัญหาบ้านเมือง

 

"สืบทอดอำนาจ"

 

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ รัฐบาลเผด็จการทั้งทหารและพลเรือนในหมู่คณะราษฎรสลับกันครองอำนาจ และพยายามสืบทอดอำนาจนับครั้งไม่ถ้วน

 

สมัยนั้นยังไม่มีพระราชบัญญัติพรรคการเมือง การกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีอยู่ที่หมู่ชนชั้นนำจะตกลงกัน แล้วไปผ่านพิธีกรรมในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร


หลังปี พ.ศ. ๒๕๐๐ จนถึงปัจจุบัน รูปแบบการสืบทอดอำนาจ มีทั้งผ่านพรรคการเมือง และการทำรัฐประหาร

พรรคเสรีมนังคศิลา ถือเป็นโมเดลเริ่มแรกของการสืบทอดอำนาจโดยอาศัยพรรคการเมือง มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าพรรค และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค


เป็นต้นแบบของการใช้เงินซื้อเสียง ทุ่มทุนกวาดต้อน ส.ส.เข้าพรรค สุดท้ายชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลสมใจอยาก

 

จอมพล ป.เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่สืบทอดอำนาจโดยเริ่มจากการทำรัฐประหาร แล้วไปต่อยอดด้วยการตั้งพรรคการเมือง แรงจูงใจนอกจากอำนาจ การล้างแค้น แล้วยังมีประเด็นคอร์รัปชัน เป็นองค์ประกอบหลัก


หมดยุคจอมพล ป. ถึงคราวพรรคสหภูมิ ได้รับการสนับสนุนจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บุญคุณต่างตอบแทน พรรคสหภูมิโหวตให้ จอมพลสฤษดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี


มาถึงยุคถนอม ณรงค์ ประภาส สืบทอดอำนาจผ่านการรัฐประหารตัวเอง และพรรคการเมืองผ่านพรรคสหประชาไทย ที่มีหัวหน้าพรรคชื่อ จอมพลถนอม กิตติขจร

ยุค "ป๋าเปรม" เป็นนายกรัฐมนตรี ๘ ปี ทั้งหมดสืบทอดอำนาจด้วยกระบวนการในรัฐสภา มีพรรคประชาธิปัตย์ค้ำเก้าอี้ การสืบทอดอำนาจ ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ แรงจูงใจ แตกต่างกันไป


สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นยุคของการสืบทอดอำนาจที่มีประโยชน์ต่อการวางรากฐานให้ประเทศมากที่สุด โดยเฉพาะการสลายความขัดแย้งของประชาชนในชาติที่ถึงขั้นจับอาวุธขึ้นมาฆ่ากันเอง ผ่านนโยบายการเมืองนำการทหาร ด้วยคำสั่ง ๖๖/๒๓

หรือการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก การสร้างท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด และ แหลมฉบัง ให้รัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ไปต่อยอดเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า


...มาวันนี้มีเสียงตะโกนจากฝั่งคนไม่รักลุงตู่ว่า...ลุงตู่จะสืบทอดอำนาจผ่านพรรคสามัคคีธรรมโมเดล ที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เคยใช้เมื่อปี ๒๕๓๕


ก่อนพูดเรื่องลุงตู่ ย้อนกลับไปปี ๒๕๔๑ กำเนิดพรรคไทยรักไทย พรรคการเมืองนี้แทบจะลอกแบบมาจาก พรรคเสรีมนังคศิลา

ใช้เงินทุ่มซื้อตัว ส.ส. ควบรวมพรรคการเมือง ซื้อเสียงเลือกตั้งกันมโหฬาร มีทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค เสนาะ เทียนทอง เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค

 

แรงจูงใจคืออะไร?


พ่อค้าตั้งพรรคการเมือง ไม่ต้องอธิบายอะไรกันมาก เพราะทั้งหมดประจักษ์ด้วยสายตาแล้วว่า ระบอบทักษิณเต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน ติดคุกไปกี่คนแล้ว


ประเด็น "ลุงตู่" จะสืบทอดอำนาจ มีพวกลักไก่ใช้สร้างสถานการณ์แซะกันรายวัน และคนที่แซะไม่ใช่อื่นไกล ก็พวกที่คลั่งไคล้อยากสืบทอดอำนาจนั่นเอง

จากทักษิณ ชินวัตร สู่สมัคร สุนทรเวช มาสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จนถึง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ต่อไปอาจมี พานทองแท้ ชินวัตร เป็นของแถม นี่คือการสืบทอดอำนาจอีกรูปแบบหนึ่ง แม้จะอ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตย นั่นมันแค่รูปแบบ แต่เนื้อหาคือการสืบทอดเพื่อฉกฉวยผลประโยชน์

อาจยังไม่มีใครทันคาดคิด ด้วยเงื่อนไขรัฐธรรมนูญใหม่ "ลุงตู่" อาจใช้โมเดล "เราทำได้" อย่างที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยทำสำเร็จมาแล้ว

พรรค ๑๘ เสียงเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

หากเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ มีบทเรียนให้จดจำเยอะ เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีศรัทธาจากประชาชนด้วย

"คึกฤทธิ์" มีเหลี่ยมคูการเมืองแพรวพราว ปราดเปรื่อง เทียบชั้นอัจฉริยะ สุดท้ายก็ไปไม่รอด

แม้มีความพยายามที่จะรักษาอำนาจ ด้วยการควบรวมพรรคการเมือง ดึง ส.ส.จากพรรคธรรมสังคม เข้ามาซบพรรคกิจสังคม แต่ไม่พอที่จะเป็นพรรคการเมืองอันดับหนึ่งได้


ขณะที่ ลุงตู่ มีในสิ่งที่ต่างออกไป และเหนือกว่า "คึกฤทธิ์" นั่นคือมี ๒๕๐ ส.ว.คอยค้ำบัลลังก์

แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นหลัก แน่นอนครับ คสช.จะไม่เปิดฉากการเลือกตั้งอย่างเอิกเกริก ด้วยการตั้งพรรคการเมืองแบบสามัคคีธรรม หรือไทยรักไทย


แต่หากใช้โมเดล "เราทำได้" ดูจะมีความเป็นไปได้มากกว่า

พรรคเล็กเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี มีพรรคขนาดกลาง และ ๑ พรรคใหญ่สนับสนุน

ถึงตอนนั้นทุกคนจะหันไปที่พรรคประชาธิปัตย์ แล้วตั้งคำถามว่า จะเอาไง?

ร่วมรัฐบาลเพื่อให้ปฏิรูปประเทศมีโอกาสเป็นจริงได้ หรือจะเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งอาจจะมีผู้นำฝ่ายค้านชื่อ พานทองแท้ ชินวัตร

หากจะมองว่านี่คือการสืบทอดอำนาจของ คสช. ก็ต้องยอมรับในความเป็นจริงครับว่า มันจะเป็นเช่นนั้น

อย่าเหนียมอายกับคำว่า "สืบทอดอำนาจ" เพราะคำนี้ไม่ได้มีความหมายเพียงด้านเดียว อยู่ที่สืบทอดเพื่ออะไร มีแรงจูงใจอะไร


สืบทอดอำนาจไม่ได้หมายความว่า สืบทอดการทำชั่วเหมือนที่ระบอบทักษิณทำมาตลอดระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา


ที่ส่งผลให้คนที่รับใช้ทักษิณทยอยติดคุกคนแล้วคนเล่า


สืบทอดอำนาจยังมีความหมายเดียวกับการใช้อำนาจเพื่อวางรากฐานให้ประเทศ อย่างที่ "ป๋าเปรม" ใช้เวลา ๘ ปีเต็ม

 

เมื่อกระบวนการเข้าสู่อำนาจเปิดทางให้ทางถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และมีศรัทธาจากประชาชน มันหนีไม่พ้นครับ


แค่รักษาศรัทธา ทำความฝันของประชาชนให้เป็นจริง.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-พระราชโองการ การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องการเมือง เป็นการกระทำที่มิบังควรอย่างยิ่ง

-อดีตโฆษกกรธ.ชี้ชัดโทษยุบพรรคทษช.ผลแรง ตัดสิทธิ์การเมืองกก.บริหารตลอดชีวิต

 

ขอบคุณ : ผักกาดหอม แห่งไทยโพสต์