ราชบัณฑิต ขอพูดเมื่อผู้แทนพรรคการเมืองหนึ่ง กล่าวพระมหากษัตริย์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่เหมาะกับระบอบประชาธิปไตย

ดร.สุรพล ราชบัณฑิต ขอพูดเมื่อผู้แทนพรรคการเมืองหนึ่ง กล่าวพระมหากษัตริย์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่เหมาะกับระบอบประชาธิปไตย

จากกรณี ศ. ดร. สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ราชบัณฑิต  ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก  Surapone Virulrak ซี่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับ ความคิดเห็นของผู้แทนคนหนึ่งของพรรคการเมืองหนึ่ง ได้พูดถึง พระมหากษัตริย์ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่เหมาะกับระบอบประชาธิปไตย โดยราชบัณฑิตท่านนี้ ได้นำข้อมูลข้อเท็จจริงมาเผยแพร่ไว้ในโพสต์เกี่ยวกับเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีความผูกพันต่อประชาชนคนไทยมายาวนาน ดังนี้เห็นว่าข้อเขียนดังกล่าวมีคุณประโยชน์ที่สังคม ประชาชนจะได้รับทราบในวงกว้างผ่านทางสื่ออีกแขนงหนึ่ง จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อทั้งหมดดังนี้

 

ผมได้เห็นผู้แทนคนหนึ่งของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง กล่าวในทำนองว่า"พระมหากษัตริย์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง" จึงไม่เหมาะกับระบอบประชาธิปไตย

 

เรื่องนี้คงต้องพิจารณาพัฒนาการการเมืองของไทยโดยภาพกว้างว่า การที่มีพระราชโอรสของพระราชาองค์ใดสมควรจะได้เสวยราชสมบัตินั้น พระราชวงศ์ เสนา(ทหาร) อำมาตย์(พลเรือน) ต้องประชุมโดยพร้อมเพรียงกันเลือกสรรบุคคลโดยสายพระโลหิต โดยฐานานุศักดิ์ของพระบิดา โดยฐานานุศักดิ์ของพระมารดา และคุณูประการที่พระราชโอรสพระองค์นั้นทรงมีต่อแผ่นดิน ดังนั้น เมื่อสิ้นรัชกาลที่สองที่ประชุมจึง"เลือกรัชกาลที่สามซึ่งทรงอาวุโสสูงสุด และทรงบริหารราชการแผ่นดินสนองพระราชบิดามานาน ทั้งทรงชำนาญการศึกสงครามและการค้าขาย แม้จะมีพระมารดาเป็นพระสนมเอก ฐานานุศักดิ์ของพระองค์คือทรงกรมเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ไม่ได้ทรงเป็นเจ้าฟ้า ประสูติเมื่อพระราชบิดายังไม่เสด็จขึ้นครองราช และในเวลานั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ามงกุฎสมมตเทวาวงศ์ อันประสูติแต่พระมเหสีทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๕ พรรษา ที่ประชุมจึงเลือกและทูลเชิญ"กรมหมื่น"พระองค์นั้นขึ้นครองราชแทนที่จะเลือก"สมเด็จเจ้าฟ้า" เมื่อเสด็จขึ้นครองราชก็มีเรื่องเล่ากันสืบมาว่า

 

 

 

ราชบัณฑิต ขอพูดเมื่อผู้แทนพรรคการเมืองหนึ่ง กล่าวพระมหากษัตริย์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่เหมาะกับระบอบประชาธิปไตย

 

เมื่อพราหมณ์เชิญพระมหาพิชัยมงกุฎให้ทรงสวม พระองค์ทรงสวมแล้วทรงถอดคืนให้เจ้าพนักงานเชิญไปวางไว้ในที่อันควรพร้อมรับสั่งว่า"เอาเก็บไว้ให้เจ้าของเขา" อีกทั้งเวลาเสด็จออกขุนนางก็ทรงประทับบนตั่งหน้าพระราชอาสน์นอกเศวตฉัตร แลไม่ทรงมีละครผู้หญิงของหลวงอันเป็นเครื่องประกอบอิสริยยศอย่างหนึ่งในพระบรมมหาราชวังตลอดรัชกาล

 

ที่ผมพรรณนามาค่อนข้างยาวก็เพื่อแสดงถึงกระบวนการให้ได้มาซึ่ง"พระมหากษัตริย์"ในระบอบสมบูรณายาสิทธิราช อันได้ดำเนินตามขนบนี้ต่อมาเมื่อครั้งอัญเชิญรัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ ขึ้นครองราชครั้นเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การ "เลือก" ก็เปลี่ยนมาเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรคือผู้แทนของปวงชนชาวไทย จึงมีมติ "เลือก" และกราบทูล"เชิญ"พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ กับ หม่อมสังวาลย์ ในเวลานั้นขึ้นเป็น"พระมหากษัตริย์" รัชกาลที่ ๘ แห่งจักรีบรมราชวงศ์ และเมื่อเสด็จสวรรคตอย่างกระทันหัน สภาผู้แทนราษฎร ก็ได้ลงมติ "เลือก" และกราบบังคมทูล"เชิญ" สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชเป็น"พระมหากษัตริย์"รัชกาลที่ ๙ ครั้งล่าสุดนี้สภานิติบัญญัติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรประชุมสามวาระ แล้วมีมติให้กราบบังทูลเชิญ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จขึ้นครองราชเป็น"พระมหากษัตริย์" รัชกาลที่ ๑๐ และจะทรงเป็น"พระมหากษัตริย์"โดยสมบูรณ์เมื่อทรงผ่านพระราชพิธีพระบรมราชภิเษกที่จะมีขึ้นในวันที่ ๔,๕,๖ พฤษภาคม ศกนี้

 

ราชบัณฑิต ขอพูดเมื่อผู้แทนพรรคการเมืองหนึ่ง กล่าวพระมหากษัตริย์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่เหมาะกับระบอบประชาธิปไตย

 

ดังนั้น "พระมหากษัตริย์" จึงไม่ได้เป็นโดยอัตโนมัติ แต่ต้องมีองค์คณะบุคคลที่เป็นตัวแทนสถาบันทางสังคมของประเทศในแต่ละยุคประชุมปรึกษาหารือลงมติ"เลือก"บุคคลที่มีคุณสมบัติอันสมควร แล้ว"เชิญ"บุคคลนั้น และเมื่อบุคคลนั้น"รับเชิญ"แล้ว จึงดำเนินการตามพระราชประเพณีต่อไป ดังนี้

 

ประชาชนชาวไทย ให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะมีบทบาทสำคัญในการทำนุบำรุงบ้านเมือง เช่น การที่รับบริจาคเงินและสิ่งของจากผู้มีจิตศรัทธา จากนั้นเจ้านายแต่ละพระองค์ ก็ทรงนำไปอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้ด้อยโอกาส และแก่ผู้ที่ต้องการ ตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค ก็พอจะเข้าใจได้ว่าคนเหล่านั้นเขาไว้ใจที่จะให้สถาบันพระมหากษัตริย์ นำความช่วยเหลือของบุคคลที่มีโอกาสมีเหลือกินเหลือใช้ ให้ไปถึงมือประชาชนผู้ต้องการโดยตรง อย่างทั่วถึง ทันเวลา และเหมาะสมกับความต้องการ พระราชวงศ์แต่ละพระองค์ทรงมีโครงการช่วยเหลือสนับสนุนราษฎร อาทิ ทุนการศึกษาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้ได้เป็นแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และ อาชีพอื่น ๆ เมื่อได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศแล้วก็นำวิชากลับมาอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน หรือ โครงการวิจัย เรื่องพิษวิทยา มะเร็ง พยาธิใบไม้ในตับ พิษสุนัขบ้า หรือ โครงการโน้มน้าวใจให้เยาวชนห่างไกลยาเสพติด หรือ การทํานุบํารุงศิลปวัฒนธรรมไทย ให้มีทั้งการอนุรักษ์และพัฒนาสืบต่อมายังเยาวชนไทย เหล่านี้สถาบันพระมหากษัตริย์ทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยไม่มีมีค่าตอบแทน ใช่แต่เท่านั้นพระมหากรุณาธิคุณประการหนึ่งที่มักถูกมองข้ามไปก็คือการพระราชทานอภัยโทษ ผมเองเคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงมีรับสั่งกับข้าทูลละอองฯที่ห้องรับรองของสถาบันศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครั้งหนึ่งว่า มีฎีกาส่งขึ้นมาถวายเป็นเรื่องขอพระราชทานโทษแก่สามีภรรยาชาวเขาที่ผลิตยาเสพติดขาย ทรงพิจารณาแล้วพระราชทานลดโทษแก่ภรรยาให้อยู่เพื่อดูแลลูกทั้งแปดคนต่อไปมิฉะนั้นเด็ก ๆ ก็จะลำบาก คุณูปการของสถาบันพระมหากษัตริย์มีมากมายเกินพรรณนา จึงขอยกมาเพียงสังเขป ดังนี้

 

ผมมีชีวิตอยู่ในโลกนี้มา 75 ปีเศษ ผมได้เห็นคนมีอำนาจขึ้นมาบริหารประเทศ และพยายามล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ก็หลายครั้ง ผมจึงขอถือโอกาสนี้แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง มายังผู้อ่านทุกท่านได้โปรดพิจารณา

 

สุรพล วิรุฬห์รักษ์

22 มีนาคม 2562

 

ราชบัณฑิต ขอพูดเมื่อผู้แทนพรรคการเมืองหนึ่ง กล่าวพระมหากษัตริย์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่เหมาะกับระบอบประชาธิปไตย

 


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 
-ม.จ.จุลเจิม ชี้พรรคคนรุ่นใหม่ ไม่เคยใช้คำว่า ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
-คิดแบบ "ธนาธร" เป็นภัยกับ "ระบอบประชาธิปไตย" บทความพิเศษ :: ดร.เวทิน ชาติกุล
-"ทักษิณ"เป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข??
 

 

ขอบคุณเฟซบุ๊ก : Surapone Virulrak