เปิดคะแนนเสียง ที่ประชุมรัฐสภาคว่ำฉบับไอลอว์  แต่ไม่ปิดโอกาสแก้รธน.ทำทันทีเริ่ม 24 พ.ย.

ที่ประชุมรัฐสภา มีมติตีตกร่างแก้ไขรธน.ฉบับไอลอว์ ตามคาดหมาย โดยมีสว.เห็นชอบในหลักการเพียง 3 เสียง

ติดตามมาอย่างต่อเนื่องกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะกับท่าทีของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ถึงกับส่งจดหมายกดดันให้พรรคเพื่อไทยต้องดำเนินตามเงื่อนไข โดยการให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขฉบับไอลอว์  ระบุใจความบางช่วงตอนว่า  "การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกระบวนการ เพื่อให้มี สสร. มาทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ทุกหมวด ทุกมาตรา ภายใต้กรอบ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นั้น สามารถทำได้ ไม่มีความผิดฐานล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด ... ยิ่งกลัว เขายิ่งกระทำกับพวกเรา...ยิ่งสยบยอม เขายิ่งบดขยี้พวกเราให้จมดิน...การถอยครั้งนี้ จะสร้างบรรทัดฐานที่ผิดไปตลอดกาลว่า รัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทุกหมวด ทุกมาตรา รวมถึง หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ และถ้าถอยในห้วงเวลาที่มีประชาชนมหาศาลสนับสนุน ย่อมทำให้ประชาชนสิ้นหวังกับสถาบันการเมืองในระบบทั้งหมด เมื่อรัฐสภาไม่ทำให้พวกเขา ประชาชนก็ต้องลงมือทำกันเอง..."

ล่าสุดที่ประชุมรัฐสภามีมติต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ  ดังนี้   1.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์กับคณะ เป็นผู้เสนอ)  ได้รับความเห็นชอบในวาระรับหลักการด้วยคะแนน  576 ต่อ 21เสียง งดออกเสียง 123  โดยมีเสียงส.ว.รับหลักการ 127 เสียง  

2. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 (นายวิรัช รัตนเศรษฐกับคณะ เป็นผู้เสนอ)  ได้รับความเห็นชอบในวาระรับหลักการด้วยคะแนน  647 ต่อ 17 งดออกเสียง 55 โดยมีเสียงส.ว.รับหลักการ 176 เสียง  เท่ากับทั้งสองร่างได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ในขณะนี้จำนวน 732 คน หรือ366 เสียงขึ้นไป  และในจำนวนกึ่งหนึ่งที่มีเสียงเห็นชอบนั้น ยังมีคะแนนเสียงของส.ว.เกิน 1ใน3 จึงถือว่าได้รับความเห็นชอบในวาระรับหลักการ  


3.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ยกเลิกมาตรา 270 และมาตรา 271 (นายสมพงษ์กับคณะ เป็นผู้เสนอ)  มีเสียงเห็นชอบด้วยคะแนน 213ต่อ 35 งดออกเสียง 472  โดยมีเสียงส.ว.รับหลักการ 4 เสียง 

4.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 259 และยกเลิกมาตรา 272 (นายสมพงษ์กับคณะ เป็นผู้เสนอ)   มีเสียงเห็นชอบ 268  ต่อ 20 งดออกเสียง 432 โดยมีเสียงส.ว.รับหลักการ 56 เสียง  

5. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ยกเลิกมาตรา 279  หรือ ยกเลิกรับรองประกาศคำสั่งคสช. (นายสมพงษ์กับคณะ เป็นผู้เสนอ)  มีเสียงเห็นชอบ 209  ต่อ 51 งดอกเสียง 460   โดยในร่างนี้ไม่มีเสียงส.ว.ให้ความเห็นชอบในวาระรับหลักการเลยแม้แต่เสียงเดียว  


6. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 91 มาตรา 92 และมาตรา 94 และยกเลิกมาตรา 93 มาตรา 101 (4) และมาตรา 105 วรรคสาม  หรือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งส.ส.ให้ใช้ระบบบัตร 2 ใบ  (นายสมพงษ์กับคณะ เป็นผู้เสนอ)   มีคะแนนเสียงเห็นชอบ 209 ต่อ 19 งดออกเสียง 432  มีส.ว.รับหลักการ 59 เสียง 

7. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ยกเลิกมาตรา 65 มาตรา 88 มาตรา 203 มาตรา 217 มาตรา 270 มาตรา 272 มาตรา 275 และมาตรา 279 และยกเลิกหมวด 16 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 142 มาตรา 159 วรรคแรก มาตรา 162 วรรคแรก มาตรา 252 วรรคสอง มาตรา 256 และมาตรา 269 และเพิ่มหมวด 17 (นายจอน อึ๊งภากรณ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 98,041 คน หรือ ฉบับไอลอว์เป็นผู้เสนอ)   มีเสียงเห็นชอบ 212ต่อ 139 งดออกเสียง 369 มีเสียงส.ว.รับหลักการ เพียง  3 เสียง 


สรุปคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ที่  3-7   รวมถึงฉบับไอลอว์  มีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่ง  ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ในขณะนี้ถือว่า เท่ากับไม่ได้รับความเห็นชอบในวาระรับหลักการ   


จากนั้นที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จำนวน 45 คน แบ่งเป็นส.ว. 15 คน ส.ส. 30 คน แยกเป็นพรรคเพื่อไทย  พรรคพลังประชารัฐ พรรคละ 8  คน พรรคภูมิใจไทย 4 คน พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคละ 3 คน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคละ 1คน สำหรับกรรมการชุดดังกล่าวมีกรอบทำงาน45วัน และมีการนัดประชุมครั้งแรกวันที่ 24 พ.ย. เวลา 9.30 น. ห้อง307 อาคารรัฐสภา 

 

 

ทั้งนี้   นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์    ผู้จัดการไอลอว์    ระบุว่า   สองวันที่ผ่านมาเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่เราได้นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาได้  แม้ที่สุดจะไม่ได้รับความเห็นชอบ   แต่ถือว่าได้ทำหน้าที่ของเราครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว

 

"ทางข้างหน้าต้องบอกว่าประตูของการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เปิดขึ้นแล้ว  การที่รัฐสภาลงมติอย่างไรไม่ได้เป็นผลให้ปิดประตูของประชาชนที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ไม่ใช่สิ่งที่ไอลอว์ทำโดยลำพัง  แต่ดำเนินการโดยคนจำนวนมหาศาลที่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นทางข้างหน้าจึงไม่ใช่หน้าที่ของเราเสมอไป  คงไม่ใช่เป็นไอลอว์ที่เป็นผู้ริเริ่มในการเข้าชื่ออีกครั้ง  ประชาชนคนอื่นๆก็สามารถเป็นผู้ริเริ่มได้"

 

 

ขณะที่ก่อนหน้านั้น   "อ.ชูชาติ ศรีแสง"   อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ศาลยุติธรรม   ให้ความเห็นแล้วคงยากที่ประชุมรัฐสภา จะยินยอมรับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับไอลอว์  โดยยกเหตุบางประเด็นว่า  "ถ้าร่างนี้ผ่านรัฐสภาผู้ที่ได้รับผลประโยชน์เต็มๆ คือนายทักษิณ ชินวัตร เจ้าของพรรคเพื่อไทย  นายทักษิณ , นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร , นายประชา มาลีนนท์ และอีกหลายคนที่หลบหนีการลงโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะได้กลับเมืองไทยอย่างคนทีไม่เคยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกเลย ผู้ที่ถูกจำคุกอยู่ก็จะต้องได้รับปล่อยตัว

นอกจากนี้  ร่างฯ ของไอลอว์   ยังแสดงเจตนาแก้หมวดหนึ่งและหมวดสองของรัฐธรรมนูญ   ที่ บัญญัติเกี่ยวกับรูปแบบของการปกครองของประเทศไทยและบทบัญญัติที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ด้วย  มาตรา 2  ที่บัญญัติว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข อาจแก้เป็นประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐก็เป็นได้ "

 

เปิดคะแนนเสียง ที่ประชุมรัฐสภาคว่ำฉบับไอลอว์  แต่ไม่ปิดโอกาสแก้รธน.ทำทันทีเริ่ม 24 พ.ย.

>> Lazada ช้อปดีลเด็ดลดต่อเนื่องจาก 11.11 แจกส่วนลด 150฿ คลิกเลย <<