"แอมเนสตี"จัดแคมเปญ ลงชื่อถึงรัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีและข้อกล่าวหา รุ้ง

เพจเฟซบุ๊ก Amnesty International Thailand แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ระบุเนื้อหาดังนี้

คุณเชื่อว่าการเขียนเปลี่ยนโลกได้ไหม?

เราเชื่อ และนี่คือปีที่ 20 ที่เราเชื่อว่าการเขียนจะเปลี่ยนโลกอีกครั้ง

กลับมาอีกครั้งในปีนี้ กับโครงการ Write for Rights เขียน เปลี่ยน โลก แคมเปญรณรงค์สิทธิมนุษยชนประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งผู้คนนับล้านทั่วโลกมารวมตัวกันเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน และนี่คือปีแรกที่เรามีเคสจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในเคสหลัก นั่นคือเคสของ “รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” ที่ได้ส่งถึงผู้สนับสนุนของแอมเนสตี้ทั่วโลกให้ช่วยกันส่งข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยเพื่อให้ยุติการดำเนินคดีและข้อกล่าวหา

“Write for Rights”

ปัจจุบันทั่วโลกยังมีคนที่กำลังถูกคุกคามเสรีภาพ การลิดรอนเสรีภาพ ที่ไม่ได้หมายถึงแค่การถูกคุมขังเสมอไป แต่อาจหมายถึงการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เพราะว่ารัฐบาลไม่ต้องการให้ประชาชนออกมาพูดพาดพิงถึงความ อยุติธรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจหมายถึงการที่ชุมชนถูกบังคับให้ออกจากถิ่นฐานของบรรพบุรุษ การเลือกปฏิบัติในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศสภาพ ศาสนา และอัตลักษณ์ทางเพศ และเพราะว่าโลกใบนี้มีความอยุติธรรมเกิดขึ้นมากมาย ที่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แคมเปญ “เขียน เปลี่ยน โลก” สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง.. ด้วยถ้อยคำหรือข้อความจาก “คุณ”

“Write for Rights” หรือ “เขียน เปลี่ยน โลก” นั้นเป็นวิธีการรณรงค์ที่สำคัญของแอมเนสตี้ทั่วโลก โดยแบ่งการเขียนเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ 1. การเขียนเพื่อส่งไปกดดันรัฐบาลประเทศต่างๆ ให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำความยุติธรรมมาสู่ผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และ 2.การเขียนเพื่อส่งไปให้กำลังใจผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวโดยตรง เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่าไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง

“Write for Rights”

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า วันนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทั่วโลกเปิดตัวแคมเปญ “Write for Rights” หรือ “เขียน เปลี่ยน โลก” และได้กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของแคมเปญนี้ เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มนักกิจกรรมในโปแลนด์จัดงานเขียนจดหมายมาราธอน 24 ชั่วโมง โดยเขียนจดหมายทั้งวันทั้งคืนในนามของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ และ 20 ปีต่อมาก็กลายเป็นการรณรงค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเรา ที่เราทุกคนมาร่วมกันปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับผู้ที่เผชิญความเสี่ยง

“จากจดหมาย 2,326 ฉบับในปี 2544 กลายเป็น 4.5 ล้านฉบับในปี 2563 รวมทั้งทวีตและลายเซ็น ในวันนี้ผู้สนับสนุนแคมเปญ Write for Rights ได้ใช้พลังที่จะส่งเสียงของพวกเขาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ร่วมกันเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนมากกว่า 100 คน ปลดปล่อยพวกเขาจากการทรมาน การล่วงละเมิด หรือการคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม”

ในปีนี้ ตัวอักษรของคุณจะสามารถเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาทั้งสี่เคสจากทั่วโลก ในสี่ประเด็น นั่นคือ โควิดและเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิของผู้หญิงและการต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิงสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และสิทธิในเสรีภาพของการชุมนุมโดยสงบ สามารถกดติดตามรายละเอียดของแต่ละเคสได้ที่ภาพ และร่วมเขียนเพื่อเปลี่ยนโลกได้ที่ http://aith.or.th

“Write for Rights”