พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี คุณอเนกอนันต์ ทั้งกษัตริย์นักพัฒนา กษัตริย์นักรบ (มีคลิป)

ติดตามข่าวสาร www.tnews.co.th

ขณะเดียวกันก็ต้องถือว่าวันนี้อีกหนึ่งวาระสำคัญที่จะสากลโลกได้ประจักษ์ชัดถึงความมั่นคงในสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย  ซึ่งยืนยาวสืบเนื่องมานานตั้งแต่  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาราชวงศ์โดยการปราบดาภิเษกเมื่อ พ.ศ. 2325 

และถือเป็นยุคเริ่มต้นราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ยาวนานกว่า 234 ปี แผ่นดินไทยมีพระมหากษัตริย์ปกครองมาแล้ว 9 พระองค์ และกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคของรัชกาลที่ 10 สืบเนื่องต่อไป

ซึ่งพระมหากษัตริย์ทั้ง 10 พระองค์นั้น แต่ละพระองค์นั้นทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านต่างๆแตกต่างกันอย่าง ทั้งพระมหากษัตริย์นักรบ และพระมหากษัตริย์นักพัฒนา

 

ภายหลังที่  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ  ได้ทรงเริ่มย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมายังเขตพระนคร   เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 

มีที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา และมีพื้นที่กว้างขวางเป็นชัยภูมิที่เหมาะแก่การป้องกันตัวเองจากข้าศึก

 

อย่างไรก็ตามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ยังมีศึกสงครามกับอริราชศัตรูเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ  โดยเฉพาะกับสงครามยิ่งใหญ่ที่หลายคนรู้จักในนามสงครามเก้าทัพ

 

จากรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช   ซึ่งครองราชสมบัติได้ 27  ปีเศษ  

กรุงรัตนโกสินทร์ได้เข้าสู่รัชสมัย   พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  พระบรมราชโอรสองค์ที่ 4  ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  และถือทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี

ในยุคสมัยนี้ต้องถือว่ามีความเจริญรุ่งเรือยิ่งในเรื่องวัฒนธรรมประเพณี  โดยเฉพาะบทพระราชนิพนธ์ ควบคู่ไปกับการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ  ทั้งชาติเอเชียและต่างชาติตะวันตก  ทั้งสหรัฐ  อังกฤษ  และโปรตุเกส 

ต่อมาในช่วงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสษฐ์มหาเจษฎาบดินทร์ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงครองราชย์  26  ปี   นับตั้งแต่ พ.ศ.  2367-2394  พระชนมายุ  64  พรรษา   และถือเป็นยุคของการฟื้นฟูบูรณะเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง  มีการปฎิสังขรณ์วัดวาอาราม การศึกษาพระปริยัติธรรม   การตั้งธรรมยุติกนิกาย   และมีการเผยแพร่ศาสนาอื่นเข้ามาในไทยจำนวนมาก

ในช่วงพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏฯ   พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  4   ทรงครองราชย์  16  ปี  พ.ศ. 2394 – 2411  พระชมมายุ  66พรรษา  

และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5  ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งยุคทองของกรุงรัตนโกสินทร์

เนื่องจากพระองค์ท่านมีพระราชกรณียกิจสำคัญ ๆ  อันเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดินเกิดขึ้นมากมาย  อาทิ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีเลิกทาส การป้องกันการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และจักรวรรดิอังกฤษ ได้มีการประกาศออกมาให้มีการนับถือศาสนาโดยอิสระในประเทศ  โดยบุคคลศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม  โดยพสกนิกรแต่ละคนสามารถปฏิบัติการในศาสนาได้อย่างอิสระ

นอกจากนี้ได้มีมีการนำระบบจากทางยุโรปมาใช้ในประเทศไทย ได้แก่ระบบการใช้ธนบัตรและเหรียญบาท ใช้ระบบเขตการปกครองใหม่ เช่น มณฑลเทศาภิบาล จังหวัดและอำเภอ และยังได้มีการก่อสร้างรถไฟ สายแรก คือ กรุงเทพฯ ถึง เมืองนครราชสีมา ลงวันที่ 1 มีนาคม ร.ศ.109 ซึ่งตรงกับ พุทธศักราช 2433

ที่สำคัญในยุครัชสมัยของ  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว    ยังเป็นช่วงเวลาที่แผ่นดินต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองอย่างหนัก จากการรุกรานของชาติมหาอำนาจซึ่งรุกคืบเข้ายึดครองอาณาเขตโดยรอบราชอาณาจักรสยามจนหมดสิ้น

ยกเว้นแผ่นดินในรัชสมัยของ  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ด้วยพระองค์ทรงพระวิริยะ อุตสาหะในการป้องการรุกรานของชาติตจะวันตกอย่างถึงที่สุด  ดังปรากฏในราชพงศาวดารว่า  ราชอาณาจักรไทยต้องสูญเสียแผ่นดินบางส่วนให้กับชาติตะวันตกไปเพื่อแลกกับการธำรงไว้ซึ่งเอกราชของราชอาณาจักร  

จะเห็นได้ว่าแต่ละรัชสมัยแห่งราชวงศ์จักรี  พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ต่างทุ่มเทพระวรกายในการทำนุบำรุงรักษาไว้ซึ่งเอกราชแผ่นดิน ตลอดจนการพัฒนาความเจริญก้าวหน้า และความผาสุขของปวงพสกนิกรอย่างที่สุด 

โดยพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีองค์ที่  6    คือ  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว    พระราชโอรสพระองค์ที่  29  ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จดำรงราชสมบัติรวม 15 ปีรวมพระชนมพรรษา 45 พรรษา

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในหลายสาขา ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้นับพันเรื่อง   กระทั่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า  "สมเด็จพระมหาธีราชเจ้า" 

ขณะที่รัชกาลที่  7  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว   ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 76 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5และถือเป็นยุคหนึ่งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมือง การปกครองประเทศไทย   เนื่องจากการช่วงเวลาที่ประเทศมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย

โดยหลังจากที่พระองค์ทรงครองราชย์ได้ 7 ปี  ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบบประชาธิปไตยขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  โดยบุคคลคณะหนึ่งซึ่งชื่อว่า "คณะราษฎร" มีพระยาพหลพลพยุหเสนากับพวก  เป็นผู้ก่อการยึดอํานาจการปกครองประเทศ  

 

ซึ่งพระองค์ได้ยอมรับรองอํานาจของคณะราษฎร  ที่จะจํากัดพระราชอภิสิทธิของพระองค์ เนื่องจากคณะราษฎรได้ให้คํามั่นสัญญาแก่ประชาชนชาวไทยว่าจะแก้ไขภาวะทางเศรษฐกิจที่ตกตํ่าให้ดีขึ้น

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

 

ไม่เท่านั้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.  2477  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงตัดสินพระทัย  สละราชสมบัติ    ดังพระราชหัตถเลขา ที่ทรงลาออกจากราชบัลลังค์   มีความตอนหนึ่งว่า 

"ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ  ที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิม  ให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป  แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของ  ข้าพเจ้าให้ แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจ โดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียง อันแท้จริงของ ประชาราษฎร"  ก่อนเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่  30  พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ด้วยโรคพระหทัยพิการ ณ ประเทศอังกฤษ

นอกจากจะเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีไม่ได้ทรงแค่เอาใจใส่อาณาประชาราษฎร์เท่านั้น แต่พระองค์ยังทรงไม่ยึดติดในพระราชอำนาจ  และพระราชสถานะเหมือนกับราชวงศ์ใด ๆ ในสากลโกลที่ล่มสลายไปก่อนหน้า 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประชาชนทั้งแผ่นดินมีความรักผูกพันกับพระมหากษัตริย์แห่งวงศ์จักรีเช่นเดิมนับตั้งแต่แรกเริ่มสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้นมา

โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์แห่งราชสกุล “มหิดล”  หรือ  รัชกาลที่ 8    พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร  พระโอรสในสมเด็จสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

 

โดยเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 8 แห่งราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะที่มีพระชนมายุเพียง 8 พรรษาและประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้น จึงมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ 

 

แต่ด้วยการเกิดเหตุไม่คาดฝัน  เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489  ณ   ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี

พี่ฟาง---ซึ่งก็เป็นที่มาต้องทำให้รัฐบาลตัดสินใจกราบบังคมทูลอัญเชิญ    พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช  ซึ่งมีพระชนมพรรษาเพียง 18 พรรษา กราบขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ 

สำคัญยิ่งตลอดรัชสมัยของพระองค์ ได้ทรงพระราชกรณียกิจและพระราชทานแนวพระราชดำริดพื่อพสกนิกรของพระองค์มากมายกว่า  4,000 โครงการ ทั้งการแพทย์สาธารณสุข การเกษตร การชลประทาน การพัฒนาที่ดิน การศึกษา การพระศาสนา การสังคมวัฒนธรรม การคมนาคม ตลอดจนการเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรในชนบท 

 

จนประชาชนคนไทยยกย่องพระองค์ท่านเปรียบเป็นองค์พ่อหลวงของแผ่นดิน   และทำให้ประเทศไทยมีความเป็นปึกแผ่น  ยากที่คนคิดร้ายจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี อันเป็นที่เคารพสูงสุดเสื่อมสลายและถูกทดแทนให้ระบอบการปกครองแบบอื่น ๆ เหมือนเช่นในหลายประเทศที่เคยมีสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วสูญสลายไปกลายเป็นระบอบสาธารณรัฐ

ซึ่งในวันนี้ประเทศไทยก็ก้าวเข้าสู่รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักกรีเป็นที่ทราบกันดีว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสนพระราชหฤทัยในด้านการทหาร มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

รวมทั้งพระองค์ได้จบการศึกษาด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลียและทรงรับราชการทหารมาโดยตลอด ซึ่งเห็นได้จากพระราชกรณียกิจต่าง ๆ

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นอเนกอนันต์ อันเป็นคุณูปการยิ่งแก่พสกนิกรชาวไทย ทรงเปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถ และพระอัจฉริยภาพหลากหลายด้าน รวมถึงด้านการบินและการทหาร

 

สมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสนพระทัยด้านอากาศยานและการบินตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พุทธศักราช 2515 ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา

ทรงเริ่มทำการบินตามหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ของโรงเรียนการบิน กองทัพอากาศ เมื่อ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๒๒ พระองค์เริ่มทำการบินเฮลิคอปเตอร์แบบยูเอช-๑ เอช และเฮลิคอปเตอร์แบบยูเอช-๑ เอ็น เมื่อสำเร็จตามหลักสูตรทรงขึ้นรับพระราชทานประดับเครื่องหมายแสดงความสามารถในการบินของกองทัพอากาศจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปีนั้นเองยังทรงสำเร็จหลักสูตรเฮลิคอปเตอร์โจมตีติดอาวุธ (Gunship) ของกองทัพบกรวม ๒ เดือน

 

ในช่วงปี ๒๕๒๓ ขณะติดตามสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐฯ ทรงเข้ารับการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์แบบยูเอช-๑ เอช ของกองทัพบกสหรัฐฯ ที่นอร์ธแคโรไลนา และปี ๒๕๒๕ เสด็จยังฐานทัพอากาศวิลเลียม รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา

ทรงฝึกศึกษาเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงแบบเอฟ ๕ อี/เอฟ และทรงเข้ารับการฝึกบินในหลักสูตรการบินรบชั้นสูง (Advance Fighter Course) กับเครื่องเอฟ ๕ ดี/เอฟ ที่กองบิน ๑ ฝูง ๑๐๒ จนสำเร็จตามหลักสูตร มีชั่วโมงบินทุกประเภทรวมกันกว่า ๑,๐๐๐ ชั่วโมง

 

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มิได้ทรงละเลยการฝึกบินแบบใหม่ๆ โดยทรงเข้ารับการฝึกบินกับเครื่องบินใบพัดแบบมาร์คเคตตี้ของฝูงขั้นปลาย โรงเรียนการบิน กองทัพอากาศ และฝึกบินกับเครื่องบินไอพ่นแบบที ๓๗ กับแบบที ๓๓ และจบหลักสูตรนักบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสูงกับเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ ๕ อี/เอฟ ของกองบิน ๑ ฝูงบิน ๑๐๒ รวมชั่วโมงบิน ๒๐๐ ชั่วโมง ด้วยความสนพระทัยอย่างมาก จนกระทั่งทรงพร้อมรบและครบ ๑,๐๐๐ ชั่วโมง เมื่อ ๑๗ เมษายน ๒๕๓๒ อีกทั้งยังทรงเข้าร่วมการแข่งขันใช้อาวุธทางอากาศประจำปี โดยทรงทำคะแนนได้สูงตามกติกา กองทัพอากาศจึงทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องหมายความสามารถในการใช้อาวุธทางอากาศชั้นที่ ๑ ประเภทอาวุธระเบิดสี่ดาว อาวุธจรวดสี่ดาว และอาวุธปืนสี่ดาว

ด้านการทหารนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมที่ตั้งกองทหารหน่วยต่าง ๆ อยู่เสมอ จากการที่ได้ทรงศึกษาด้านวิชาทหารมานาน ทรงมีความรู้เชี่ยวชาญอย่างมาก และได้พระราชทานความรู้เหล่านั้นให้แก่ทหาร 3 เหล่าทัพ ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างแก่นายทหาร เอาพระทัยใส่ในความเป็นอยู่ทุกข์สุขของทหารผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาอย่างทั่วถึง รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนการศึกษาแก่บุตรของทหาร สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความเทิดทูนและความจงรักภักดีแก่เหล่าทหารเป็นอย่างยิ่ง

ซึ่งการรับราชการของพระองค์ท่านมีดังนี้

ทรงเข้าประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษ เมืองเพิร์ท รัฐออสเตรเลียตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย

 

ทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้าย บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่บริเวณ รอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ณ เขาล้าน จังหวัดตราด

 

9 ธันวาคม พ.ศ. 2518 ทรงเข้ารับราชการเป็นนายทหารประจำกรมข่าวทหารบกกระทรวงกลาโหม

 

 

6 ตุลาคม พ.ศ. 2521 ทรงดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพัน ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

 

13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

 

30 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการ ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

 

9 มกราคม พ.ศ. 2535 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด

พระราชกรณียกิจทางด้านการทหารครั้งสำคัญที่ทำให้ปวงชนชาวไทยจดจำได้ไม่ลืมเลือน คือการที่พระองค์เสด็จฯเยี่ยม ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร ที่ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันชายแดน คุ้มครองบ้านหมากแข้ง ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 5 - 6 พฤศจิกายน 2519 ซึ่งบ้านหมากแข้งเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วนั้น เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่สีแดงอีกจุดหนึ่ง เนื่องจากมีการปะทะกันอย่างหนัก

พระองค์ได้เสด็จฯ นำกำลังทหารออกปฏิบัติการ ทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้ายในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และประทับแรมที่ฐานปฏิบัติการของทหาร จากนั้นในรุ่งเช้าได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรที่บ้านเรือนเสียหายจากการต่อสู้ พร้อมทั้งได้รับสั่งให้มีการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีด้วย สร้างความปีติยินดีแก่ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง ตลอดจนสร้างขวัญกำลังใจแก่ราษฎรชาวบ้านหมากแข้ง ทหารหาญ ให้มีใจฮึกเหิมต่อสู้ภัยก่อการร้ายดังกล่าวเป็นอย่างมาก

นอกเหนือจากความกล้าหาญของพระองค์แล้ว ในพระราชกรณียกิจครั้งนั้น ยังปรากฏภาพในขณะที่พระองค์ทรงพักผ่อนและเสวยพระกระยาหารอย่างเรียบง่าย โดยมีเพียงช้อนสังกะสี 1 คัน จานสังกะสีเพียง 1 จานเท่านั้น และเสวยเคียงข้างเหล่าทหารชั้นผู้น้อย อย่างไม่ถือพระองค์แม้แต่นิดเดียว

แม้จะเป็นพระราชภารกิจที่ต้องทรงเสี่ยงภยันตราย แต่ด้วยความที่ทรงเป็นชาติชายทหาร และเป็นพระราชภารกิจเพื่อความผาสุกของพสกนิกร และเพื่อมนุษยธรรมต่อผู้ประสบทุกข์ยาก จึงทรงปฏิบัติพระราชภารกิจดังกล่าวโดยเต็มพระราชกำลัง

 

เรียบเรียงโดย : วัสดา สำนักข่าวทีนิวส์