กันไว้ดีกว่าแก้!! สธ.เตือนประชาชนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หลังระบาดหนักหน้าฝน

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เตือนประชาชนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก เนื่องจากช่วงเปิดเทอมถึงหน้าฝนในเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม จะพบผู้ป่วยโรคนี้มากกว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนใหญ่ต้องระวังในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
นพ.พนัส  โสภณพงษ์  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า ขณะเป็นช่วงเปิดเทอมของโรงเรียนทั่วประเทศ ประกอบกับช่วงนี้มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง โดยโรคที่มักเกิดกับเด็กในช่วงเปิดเทอม คือ โรคมือ เท้า ปาก ซึ่งพบได้มากช่วงหน้าฝน และมักเกิดในสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก  จึงขอความร่วมมือผู้ปกครอง ผู้เลี้ยงดูเด็กในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และสถานรับเลี้ยงเด็ก ได้ตระหนักและระมัดระวังโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งเกิดการแพร่กระจายเชื้อโรคสู่กันได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ  โดยสถานการณ์ โรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–30 เมษายน 2560 พบผู้ป่วยแล้ว 17,117 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่วนในปี 2559 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยทั้งหมด 79,910 ราย เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มากถึง 70,874 ราย คิดเป็นร้อยละ 89 ของผู้ป่วยทั้งหมด  นอกจากนี้ ยังพบว่าช่วงที่พบผู้ป่วยมากที่สุดของปีที่แล้ว คือ ช่วงเปิดเทอมจนถึงหน้าฝน (เดือน พ.ค.-ส.ค.) มีผู้ป่วยมากถึง 50,156 ราย คิดเป็นร้อยละ 63 ของผู้ป่วยทั้งหมด  สำหรับจังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่ 1 มกราคม – 17 พฤษภาคม 2560 พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวน 124 ราย (คิดเป็นอัตราป่วย 14.59 ต่อประชากรแสนคน) ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต

 

กันไว้ดีกว่าแก้!! สธ.เตือนประชาชนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หลังระบาดหนักหน้าฝน

นพ.พนัส กล่าวต่อไปว่า โรคมือ เท้า ปาก จะเกิดบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากเด็กมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ การติดต่อของโรคจะติดต่อจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัสจะติดมากับมือ หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน โดยหลังจากได้รับเชื้อ 3 - 6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย อาการที่พบบ่อยได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อย เป็นต้น หรือมีอาการไข้ร่วมกับตุ่มพองเล็กๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก โดยตุ่มแผลในปากนั้น บริเวณรอบๆ จะอักเสบและแดงต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ เป็นสาเหตุให้เด็กไม่ดูดนม ไม่กินอาหารเพราะเจ็บปาก โดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นและสามารถหายเป็นปกติได้ภายใน 7-10 วัน โรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน จะรักษาตามอาการ แต่หากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กกลับไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที

 

กันไว้ดีกว่าแก้!! สธ.เตือนประชาชนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หลังระบาดหนักหน้าฝน

การป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ขอความร่วมมือศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และสถานรับเลี้ยงเด็ก ตรวจคัดกรองเด็กเป็นประจำทุกวันในตอนเช้า โดยเฉพาะในช่วงเปิดเทอมจนถึงหน้าฝนนี้  หากพบเด็กป่วยขอให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน และให้พักรักษาอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหาย หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กป่วยเล่นคลุกคลีกับเด็กปกติและเมื่อป่วยควรพักรักษาอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหาย  ไม่พาเด็กไปในที่ชุมชนแออัดเช่นห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ เป็นต้น รวมถึงให้เด็กล้างมือบ่อยๆ หรือทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งสกปรกปนเปื้อนเชื้อโรค นอกจากนี้ ต้องหมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือ ของใช้ ของเล่น ภายในศูนย์ฯ และโรงเรียนเป็นประจำทุกสัปดาห์ หรือทุกครั้งที่พบว่ามีเด็กป่วยโรคนี้ ที่สำคัญหากพบว่ามีเด็กป่วยหลายคนชั้นเดียวกันก็ควรพิจารณาปิดห้องเรียนนั้นๆ และถ้าพบเด็กป่วยหลายห้องควรพิจารณาปิดโรงเรียนทำความสะอาด หากพบเด็กป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที

 

กันไว้ดีกว่าแก้!! สธ.เตือนประชาชนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หลังระบาดหนักหน้าฝน

ภาพ/ข่าว  วันชัย  แก้ววิลัย ผู้สื่อข่าวภูมิภาค สำนักข่าวทีนิวส์ จ.กาญจนบุรี