ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

เมื่อวลา 13.00 น. วันที่ 5 ก.ค.50 นางธิติณัฏฐ์ พิณพาทย์ ประธานชมรมปี่พาทย์มอญและศิลปะการแสดงจังหวัดปทุมธานี ข้าราชการเกษียณอายุ ในตำแหน่ง นักตรวจสอบภาษีชำนาญการพิเศษ กรมสรรพากร อดีตนักแสดงรำมอญในวงปี่พาทย์มอญของคุณพ่อเชาว์ พิณพาทย์  มีจิตอาสาถ่ายทอดศิลปะท้องถิ่นด้านการแสดงรำมอญ ปทุมธานี ให้กับคณะครูและนักเรียนโรงเรียนวัดเขียนเขตจำนวน 100 คน เพื่อเตรียมรำถวายในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเพื่อถ่ายทอดศิลปพื้นบ้านด้านการรำมอญซึ่งเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่สวยงามของชาวปทุมธานี ให้มีผู้สืบทอดต่อ ไม่สูญหายไปตามยุคสมัย และให้เป็นมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวจังหวัดปทุมธานี ต่อไป

สืบสานให้คงอยู่!? อดีตนักแสดงรำมอญในวงปี่พาทย์มอญ จิตอาสาถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น หวังให้มีผู้สืบทอดต่อ ไม่สูญหายไปตามยุคสมัย (มีคลิป)

    ชาวไทยเชื้อสายมอญ ที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายตามจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย เช่น ปทุมธานี นนทบุรี  สมุทรปราการ สมุทรสาคร และราชบุรี นับถือศาสนาพุทธ และยังยึดถือระบบความเชื่อในเรื่องผีเรือน ผีบรรพบุรุษ จิตวิญญาณ ดังนั้นจึงยังมีการประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีอยู่ เช่น พิธีรำผี หรือรำมอญในพิธีศพ ภาษามอญว่า ปัว-หะเปิ้น นอกจากรำในพิธีศพแล้ว ยังมีรำมอญในโอกาสมีงานมงคล งานสมโภชต่างๆด้วย ในจังหวัดปทุมธานีการรำมอญนั้นจะมีในการสวดอภิธรรมศพ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  เนื่องจากในสมัยก่อนบ้านเมืองยังไม่เจริญ ในพิธีศพจะมีบรรยากาศเงียบวังเวง จึงต้องมีวงปี่พาทย์มอญหรือมีการแสดงรำมอญด้วยเพื่อให้ชาวบ้านหรือผู้คนในละแวกนั้นทราบว่าที่วัดนั้นมีพิธีศพ การรำมอญจึงเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่อยู่ในพิธีศพ การรำส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงประมาณ 6-10 คน ลักษณะของการแต่งตัวคือ ใส่เสื้อคอกลมแขนกระบอก นุ่งผ้าซิ่น มีผ้าสไบพาดบ่า และมีดอกไม้เสียบเกล้าผมมวยแบบมอญ ต่อมาสมัยนายภุชงค์ รุ่งโรจน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้มีดำริให้รื้อฟื้นการแสดงรำมอญ ปทุมธานี โดยมอยหมายให้ นางธิติณัฏฐ์ พิณพาทย์ เป็นผู้ดำเนินการ เริ่มต้นในงานพิธีตักบาตรพระร้อย ที่วัดจันทร์กระพ้อ เป็นครั้งแรก ซึ่งต่อจากนั้นมาการรำมอญก็จะร่วมในพิธีบุญต่างๆเรื่อยมา

สืบสานให้คงอยู่!? อดีตนักแสดงรำมอญในวงปี่พาทย์มอญ จิตอาสาถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น หวังให้มีผู้สืบทอดต่อ ไม่สูญหายไปตามยุคสมัย (มีคลิป)

นางธิติณัฏฐ์ พิณพาทย์ ประธานชมรมปี่พาทย์มอญและศิลปะการแสดงจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า สำหรับประเพณีรำมอญของชาวจังหวัดปทุมธานี ตนเองได้เป็นผู้สืบทอดมาตั้งแต่ปี พศ.2512 โดยสมัยรุ่นคุณปู่ ซึ่งเป็นชาวมอญมีวงปี่พาทย์ คณะ นายเมี๊ยะ พิณพาทย์  รุ่นคุณพ่อชื่อคณะนายเชาว์ พิณพาทย์ ตนเป็นหนึ่งในนักแสดงในวงปี่พาทย์ ซึ่งในสมัยนั้นจังหวัดปทุมธานีมีชาวบ้านที่รำมอญได้แต่ไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นหลัก การแสดงรำมอญที่มีชื่อเสียงในช่วงเวลานั้น คือคณะรำมอญที่มาจากอำเภอปากเกร็ด นนทบุรี ซึ่งตนเองและคุณพ่อเชาว์พิณพาทย์ เห็นว่าประเพณีรำมอญนั้นเป็นประเพณีที่สำคัญและเป็นเอกลักษณ์ จึงได้ปรึกษาชาวมอญในชุมชนของจังหวัดปทุมธานี มีคุณยายทองก้อน อดีตนักแสดงรำมอญของจังหวัดปทุมธานี ได้เป็นผู้ถ่ายทอดการแสดงรำมอญให้ ต่อมาตนเองก็ตั้งคณะรำมอญ เป็นคณะแรกในอำเภอเมืองปทุมธานีและรับงานแสดงมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันได้รวบรวมศิลปะการรำมอญของจังหวัดปทุมธานี และจดบักทึกไว้โดยมี อาจารย์ดิฐดา นุชบุษบา บุตรชาย เป็นผู้รวบรวมเพื่อไม่ให้สูญหายไป โดยเพลงรำมอญของปทุมธานีนั้น จะใช้เพลงสิบสองภาษา มีทั้งหมด13 เพลง 13 ท่ารำ ที่ผ่านมาตนเองได้จัดการแสดงรำมอญให้กับหน่วยงานราชการของจังหวัดปทุมธานีมาอย่างต่อเนื่อง ในงานประเพณีต่างๆ เช่น ตักบาตรพระร้อย ประเพณีสงกรานต์ หรืองานกาชาด งานฉลอง 200 ปีจังหวัดปทุมธานี และได้รับเชิญเป็นอาจารย์ไปสอนในโรงเรียน หรือในชุมชนต่างๆเช่น โรงเรียนคณะราษฎร์ปทุมธานี โรงเรียนปทุมวิไล โรงเรียนวัดเขียนเขตฯ ทั้งนี้ตนอยากจะให้ศิลปะรำมอญของจังหวัดปทุมธานี อยู่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้เยาวชนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อและไม่ลืมเลือนหรือสูญหายไป ตนมีความภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เป็นผู้สืบทอดและถ่ายทอดประเพณีที่สวยงามอยากให้การรำมอญ แบบของปทุมธานี อยู่เป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และถ่ายทอดไปยังลูกหลาน หรือเยาวชนรุ่นหลัง ทั้งนี้ ท่านเจ้าคุณพระเทพรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต เห็นว่าประเพณีรำมอญเป็นประเพณีศิลปะท้องถิ่นที่สวยงาม เป็นศิลปะพื้นบ้านของชาวปทุมธานีจึงดำริให้มีการแสดงรำมอญ เพื่อถวายให้ในหลวงรัชกาลที่9 ตนเองจึงมีจิตอาสาที่จะเข้ามาสอนและแนะนำให้กับคณะครูและนักเรียนโรงเรียนวัดเขียนเขต เพื่อเตรียมการแสดง และให้เป็นมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวจังหวัดปทุมธานีไว้สืบต่อไป

ทางด้าน ว่าที่ร้อยตรีอรรถสิทธิ์ เนตรทิพวัลย์ ผอ.โรงเรียนวัดเขียนเขต กล่าวว่า หลังจากที่ท่านเจ้าคุณพระเทพรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต ได้มีคำปรารภเกี่ยวกับการจัดการจัดงานช่วง พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน รำมอญ จังหวัดปทุมธานี สืบเนื่องมาจากพิธีสตมวาร 100 วัน ทางวัดเขียนเขตและโรงเรียนวัดเขียนเขตได้จัดให้มีวงปี่พาทย์และมีละมอญ จึงให้จัดเตรียมให้มีการแสดงรำมอญอีกครั้ง โดยมอบหมายให้ทางโรงเรียน คณะครู และนักเรียนโรงเรียนวัดเขียนเขต ได้ร่วมในงานเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในครั้งนี้ด้วย

สืบสานให้คงอยู่!? อดีตนักแสดงรำมอญในวงปี่พาทย์มอญ จิตอาสาถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น หวังให้มีผู้สืบทอดต่อ ไม่สูญหายไปตามยุคสมัย (มีคลิป)

ส่วน นางวรรณภา เที่ยงแท้ ครูนาฏศิลป์ โรงเรียนวัดเขียนเขต กล่าวว่า เป็นความภาคภูมิใจอย่างมากที่ได้มีโอกาสได้รำถวาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรามหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตได้รำถวาย พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของครูทุกท่าน ทำให้เราดำเนินรอยตามพระองค์ท่านมาโดยตลอด ในชีวิตของความเป็นครูตลอดระยะเวลา 38 ปี รู้สึกรักและเทิดทูนพระองค์ท่านเป็นอย่างสูง โดยใช้ชีวิตอย่างพอเพียง รักเด็ก สอนเด็ก เป็นผู้ให้กับเด็กมาโดยตลอด

ทางด้าน นางพรรณศิริ อุปละวงศ์ ครูโรงเรียนวัดเขียนเขต กล่าวว่า มีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งหนึ่งในชีวิต ที่จะสามารถแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่าน ตั้งแต่เกิดมาขณะนี้ก็อายุ 50 ปีแล้วได้รับรู้ว่าพระองค์ท่านทรงเป็นแบบอย่าง มีจริยวัตรที่งดงาม เป็นที่พึ่งทางใจของคนไทยทุกคน ตนเองในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ตนเองรู้สึกมีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่พระองค์ท่านได้ดูแล และให้ความรักความเมตตาแก่พสกนิกรขององค์ท่านทุกคน.

ภาพ/ข่าว  ธัชนนท์ พิริยะกุลชัย  ผู้สื่อข่าวภูมิภาค  สำนักข่าวทีนิวส์  จ.ปทุมธานี