ติดตามรายละเอียด www.tnews.co.th

พยาธิตัวตืด เป็นพยาธิตัวแบน สีขาวขุ่น ลำตัวมีลักษณะเป็นปล้อง และมีความยาวหลายเมตร อาศัยอยู่ในลำไส้ของคนและทำให้เกิดการป่วยติดเชื้อ โดยชนิดที่บ่อยพบ คือ ตัวตืดหมู และตัวตืดวัว เข้าสู่ร่างกายผ่านน้ำดื่มหรืออาหารที่เจือปนไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิ โดยเฉพาะอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ ซึ่งมักพบอยู่ในกล้ามเนื้อหมู วัว และควาย เมื่อพยาธิตัวตืดเข้าสู่ร่างกาย ตัวอ่อนของพยาธิอาจเคลื่อนออกจากลำไส้แล้วสร้างถุงน้ำหุ้มตัวอ่อนเป็นระยะตัวอ่อนเม็ดสาคูตามอวัยวะต่างๆ เช่น ตา กล้ามเนื้อ หัวใจ หรือสมอง โดยทั่วไปผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิตัวตืดมักมีอาการที่ไม่รุนแรงมากนัก แต่การแพร่กระจายของตัวอ่อนอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการตรวจรักษาทันการณ์

อาการของพยาธิตัวตืด

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิตัวตืดในลำไส้มักไม่มีอาการของโรคปรากฏ แต่บางรายอาจมีอาการป่วยแสดงออกมาหากพยาธิเคลื่อนไหวอยู่ในลำไส้ อาการจะขึ้นอยู่กับชนิดของพยาธิตัวตืดและตำแหน่งที่พยาธิอาศัยอยู่ โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิตัวตืดในลำไส้จะมีอาการดังต่อไปนี้

- คลื่นไส้
- เหนื่อยล้า อ่อนแอ
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- ปวดท้อง ท้องเสีย
- ขาดสารอาหาร

นอกจากนี้ หากตัวอ่อนของพยาธิตัวตืดเคลื่อนออกจากลำไส้แล้วสร้างถุงหุ้มตัวเองเป็นตัวอ่อนเม็ดสาคูตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย จะทำให้ผู้ป่วยมีไข้ เกิดอาการแพ้ ติดเชื้อแบคทีเรีย มีถุงน้ำหรือก้อนเนื้อตามร่างกาย หรืออาจส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ถูกทำลาย เช่น ดวงตา ตับ หัวใจ และสมอง โดยเฉพาะหากมีตัวอ่อนเม็ดสาคูในสมองและไขสันหลัง จะทำให้มีอาการของโรคในระบบประสาท รวมทั้งเกิดอาการชักได้

Praziquantel 100%

สาเหตุของพยาธิตัวตืด

การติดเชื้อพยาธิตัวตืดมักเกิดจากการบริโภคไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิ ซึ่งมักเป็นชนิดพยาธิตืดวัว (Taenia Saginata) และพยาธิตืดหมู (Taenia Solium) โดยตัวอ่อนจะพัฒนาเป็นพยาธิตัวเต็มวัยและอาศัยอยู่ในลำไส้ของมนุษย์ได้นานถึง 30 ปี และอาจมีความยาวกว่า 15.2 เมตร ซึ่งไข่และตัวอ่อนของพยาธิมีโอกาสเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้หลายทาง เช่น

- การรับประทานเนื้อหมู เนื้อวัว และเนื้อควายที่ปรุงไม่สุก เช่น ลาบ แหนม
- การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระของสัตว์หรือผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิตัวตืด
- การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อพยาธิตัวตืด โดยไข่ของพยาธิอาจหลุดปนมากับอุจจาระ และอาจติดตามผิวหนัง เสื้อผ้า และอาหารได้

การวินิจฉัยพยาธิตัวตืด

แพทย์จะตรวจวินิจฉัยผู้ติดเชื้อพยาธิตัวตืดด้วยการตรวจอุจจาระ โดยจะสั่งเก็บตัวอย่างอุจจาระไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาไข่พยาธิด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งอาจต้องเก็บตัวอย่างอุจจาระส่งตรวจเพิ่มเติมในเวลาที่ต่างกัน หรืออาจเก็บตัวอย่างไข่พยาธิด้วยการใช้เทปกาวใสแปะบริเวณปากทวารหนักแล้วนำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์  

นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด เพื่อตรวจหาสารภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อพยาธิตัวตืด หรืออาจส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เอ็มอาร์ไอ หรืออัลตราซาวด์ในกรณีที่มีถุงน้ำหรือก้อนเนื้อตามร่างกาย เพื่อตรวจการแพร่กระจายของพยาธิตัวตืด

การรักษาพยาธิตัวตืด

การติดเชื้อพยาธิตัวตืดส่วนใหญ่รักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยาที่มีฤทธิ์เป็นพิษต่อพยาธิตัวเต็มวัย เช่น พราซิควอนเทล อัลเบนดาโซลและนิโคลซาไมด์ โดยแพทย์จะจ่ายยาเพื่อรักษาตามชนิดพยาธิและตำแหน่งที่พยาธิอาศัยอยู่ นอกจากนี้ หากพบว่าพยาธิตัวตืดแพร่กระจายและลุกลามไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แพทย์จะพิจารณาบริเวณที่พยาธิอาศัย ระดับความรุนแรงของการติดเชื้อ และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น แล้วหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมด้วยวิธี ดังนี้

- ยารักษาโรคพยาธิ เช่น อัลเบนดาโซล นิโคลซาไมด์ พราซิควันเทล และอัลเบนดาโซล ซึ่งจะออกฤทธิ์ทำให้ถุงห่อตัวอ่อนของพยาธิฝ่อลง และทำลายผิวของพยาธิ ทำให้พยาธิเป็นอัมพาต ซึ่งแพทย์อาจนัดผู้ป่วยมาตรวจร่างกายอีกครั้งด้วยการตรวจอุจจาระ เอกซเรย์ หรืออัลตราซาวด์ เพื่อให้แน่ใจว่ายารักษามีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยารักษาโรคพยาธิตัวตืดทุกครั้ง และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะพยาธิตัวตืดหมูที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อจากระยะตัวอ่อนพยาธิจนมีอาการป่วยรุนแรงถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับยารักษาอย่างถูกต้อง
- ยาต้านการอักเสบ ถุงน้ำที่หุ้มตัวอ่อนของพยาธิตัวตืดที่ตายแล้วอาจส่งผลให้เนื้อเยื่อและอวัยวะในร่างกายบวมอักเสบได้ แพทย์จึงอาจสั่งจ่ายยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ เช่น เพรดนิโซน และเดกซาเมทาโซน เป็นต้น
- ยากันชัก หากผู้ป่วยชักจากการติดเชื้อพยาธิตัวตืดในระบบประสาท แพทย์จะสั่งจ่ายยากันชักเพื่อช่วยบรรเทาอาการชัก
- การระบายน้ำออกจากสมอง การแพร่กระจายของพยาธิตัวตืดอาจส่งผลให้เกิดภาวะโพรงสมองคั่งน้ำซึ่งเป็นภาวะที่มีน้ำในสมองมากเกินไป โดยแพทย์อาจใส่สายระบายน้ำในสมองเพื่อระบายของเหลวออก
- การผ่าตัด แพทย์อาจต้องผ่าตัดเพื่อนำถุงน้ำหุ้มตัวอ่อนบริเวณดวงตา ตับ และปอดออก เนื่องจากถุงน้ำบริเวณดังกล่าวอาจรบกวนการทำงานของอวัยวะจนเกิดอันตรายต่อสุขภาพผู้ป่วยได้ โดยแพทย์อาจผ่าตัดด้วยการใส่สายระบายแล้วฉีดสารต้านปรสิตในสายระบายเพื่อกำจัดถุงหุ้มตัวอ่อนของพยาธิ

ภาวะแทรกซ้อนของพยาธิตัวตืด

พยาธิตัวตืดอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้หากตัวอ่อนของพยาธิแพร่กระจายออกจากลำไส้แล้วสร้างถุงเป็นเม็ดสาคูตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งจะขัดขวางการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ จนเกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นนั้นจะแตกต่างกันไปตามบริเวณที่มีถุงน้ำ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ ดังต่อไปนี้

- ปวดศีรษะ
- ไอ หรือไอเป็นเลือด
- หายใจไม่อิ่ม  
- มีภาวะตัวเหลืองตาเหลือง
- สายตาพร่ามัว หรือตาบอด
- เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง
- ทางเดินอาหารอุดตัน
- สมองและระบบประสาทส่วนกลางบกพร่อง หรือภาวะพยาธิขึ้นสมอง (Neurocysticercosis)
- อวัยวะภายในและระบบไหลเวียนเลือดได้รับความเสียหาย
- ชัก

การป้องกันพยาธิตัวตืด

การปฎิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้ ช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อพยาธิตัวตืดได้

- เลิกรับประทานเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อควาย และเนื้อปลาแบบดิบ ๆ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ
- ปรุงอาหารให้สุกอย่างทั่วถึงก่อนบริโภคด้วยอุณหูมิสูงตั้งแต่ 52 องศาเซลเซียสขึ้นไป เพื่อฆ่าไข่และตัวอ่อนของพยาธิ
- ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ก่อนสัมผัสหรือรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสกับสัตว์
- แช่แข็งเนื้อหมูและเนื้อวัวอย่างน้อย 12 ชั่วโมง และแช่แข็งเนื้อปลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ก่อนนำเนื้อสัตว์มาประกอบอาหาร
- ควรใส่ใจสุขอนามัยของตนเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะหากต้องคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ
- ผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิตัวตืดต้องเข้ารับการรักษาให้หายขาด ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ และไม่ถ่ายอุจจาระเรี่ยราดตามพื้นดินหรือสนามหญ้า รวมทั้งไม่นำอุจจาระไปทำเป็นปุ๋ย
- หากจำเป็นต้องเดินทางไปยังประเทศหรือพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดติดเชื้อจากพยาธิตัวตืด ควรรักษาสุขอนามัยมากเป็นพิเศษ โดยเลือกดื่มน้ำสะอาด และปรุงอาหารให้สุกก่อนรับประทานเสมอ