กกท.ทำมาตรฐานกีฬาอาชีพ พัฒนาสู่ความยั่งยืนในอนาคต

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tnew.co.th

กกท.ทำมาตรฐานกีฬาอาชีพ พัฒนาสู่ความยั่งยืนในอนาคต กกท.ทำมาตรฐานกีฬาอาชีพ พัฒนาสู่ความยั่งยืนในอนาคต

ปัจจุบันกีฬาอาชีพของไทยพัฒนาขึ้นมาอย่างมาก เป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างมีระบบขึ้นมา

เมี่อมีการจัดทำพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 ขึ้นมา ทำให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนกีฬาอาชีพ ทำให้มีการพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ

ตอนนี้มีกีฬาอาชีพ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 อยู่ 13 ชนิดกีฬา ได้แก่ กอล์ฟ, จักรยาน, แข่งรถยนต์, สนุกเกอร์, โบว์ลิ่ง, เจ็ตสกี, จักรยานยนต์, แบดมินตัน, เทนนิส ฟุตบอล, ตะกร้อ, วอลเลย์บอล และบาสเกตบอล

สำหรับมาตรฐานของการจัดกีฬาในแต่ละชนิดนั้น ทางการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้ยึดจากสหพันธ์กีฬาแต่ละชนิดมาเป็นตัวกำหนดมาตรฐาน อย่างเช่นฟุตบอล จะมีมาตรฐานที่สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) เป็นผู้กำหนด หรือว่า วอลเลย์บอล ก็จะมีสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (เอฟไอวีบี) เป็นตัวกำหนดเป็นต้น

 

"ผอ.น้อย" ทนุเกียรติ จันทร์ชุม ผอ.ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย กกท. เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมาภาพรวมกีฬาอาชีพทั้ง 13 ชนิด มีทั้งแบบที่ดีเลิศ บางชนิดกีฬาก็ยังอยู่ในระดับธรรมดาๆ ตามแต่มาตรฐานที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรแล้วท้ายที่สุดทาง กกท. ก็พอใจกับมาตรฐานการจัดแข่งขันกีฬาอาชีพภายในประเทศทั้งหมด

 

ในปีต่อไป ทางกกท. จะมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนเพิ่มขึ้นมา โดยเป็นการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการจัดทำตัวชี้วัดขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดแบ่งระดับของแต่ละชนิดกีฬา

ผอ.น้อย เล่าว่า ที่ผ่านมาอาจจะมีเครื่องมือที่ยังไม่ได้ปรับปรุง อาจจะมีการล้าสมัยไปบ้าง จึงได้มีการขอความร่วมมือกับทาง ม.เกษตรศาสตร์ เพื่อช่วยกันปรับปรุงตัวชี้วัดอันนี้ เพื่อจะมาใช้ในการประเมินทั้งสมาคมกีฬา, นักกีฬา, บุคลากร, ผู้จัดการแข่งขัน รวมไปถึงสโมสรต่างๆ เมื่อมีการประเมินแล้ว จะทำให้สามารถจัดได้ว่าแต่ละรายการอยู่ระดับไหน มีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไรบ้าง

สำหรับ 13 ชนิดกีฬาที่อยู่ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพนั้น มีโอกาสที่จะถูกลดชนิดกีฬาลง หรือว่าเพิ่มได้ ขึ้นอยู่กับผลงานของแต่ละชนิดกีฬานั้นๆ

ทนุเกียรติ บอกว่า เรื่องกีฬาที่จะหลุดนั้นคงเป็นอะไรที่ไม่สามารถบอกได้ เพราะแต่ละชนิดกีฬาจำเป็นต้องให้เวลา เมื่อประเมินออกมาแล้วมีจุดอ่อนหรือความผิดพลาดตรงไหน ก็จะต้องทำการแก้ไขกันต่อไป ส่วนกีฬาชนิดใหม่ที่จะเข้ามานั้น ก็ต้องไปดูตามเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพ ว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่ มีความยั่งยืน มีรายได้ตามที่ระเบียบวางไว้หรือไม่ ถ้าชนิดกีฬาใดคิดว่ามีรายการที่สามารถเข้ามาอยู่ในกีฬาอาชีพได้นั้น ก็สามารถยื่นเรื่องให้กับคณะกรรมการพิจารณา ถ้าผ่านเกณฑ์ทั้งหมดก็จะประกาศเป็นกีฬาอาชีพตาม พ.ร.บ.ได้" ผอ.ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวยกล่าว


 

 

ขณะที่ไทยเตรียมที่จะเป็นเจ้าภาพการจัดจักรยานยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง "โมโตจีพี" นั้น ผอ.ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย กกท. ยืนยันว่าจะเข้ามาอยู่ในพ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามแม้ว่ากีฬาในไทยจะกระเตื้องขึ้นมาขนาดไหน แต่ต้องยอมรับว่าในส่วนของกีฬาอาชีพนั้น ตอนนี้มีเพียง ฟุตบอล อย่างเดียวเท่านั้นที่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งเงินของกกท. แล้ว ซึ่งเป็นเครื่องหมายคำถามว่ากีฬาอื่นๆ จะสามารถทำได้หรือไม่ในอนาคต

ทนุเกียรติ บอกว่า การที่กีฬาอาชีพแต่ละชนิดนั้นสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองนั้น นับเป็นความปรารถนาสูงสุดของ กกท. เลยทีเดียว แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะมีกีฬาไม่กี่ชนิดที่สามารถทำได้ ดูอย่างกอล์ฟ ก่อนหน้านี้มีหลายรายการดังๆ เข้ามาในไทยจำนวนมาก แต่ก็ต้องหายไป เพราะมันมีเรื่องปัจจัยหลายๆ อย่าง หากให้พูดตรงๆ แล้ว คงยังไม่มีกีฬาใดที่จะอยู่ด้วยตัวเองได้ โดยไม่พึ่งพารัฐอย่างฟุตบอล เพราะแต่ละชนิดกีฬามีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นคนที่เป็นฝ่ายจัดจะรู้ดีที่สุด และส่งเสริมขึ้นมา ตัวหลักคือ คนที่ทำ แต่ละสมาคม ผู้จัด สโมสร จะต้องพยายามขับเคลื่อน ลดการพึ่งพาจากรัฐให้มากที่สุด

"แต่ละสมาคมจะต้องวางแผนทั้งระยะสั้น ระยะยาว ดูรายการที่ตัวเองจัดว่ามีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไร จะเพิ่มศักยภาพในการหารายได้อย่างไรให้ได้มากที่สุด ต้องดูแผนการตลาด ค่าใช้จ่าย มีปัจจัยหลายอย่าง ที่จะต้องทำกันต่อไป"ตัวแทน กกท.กล่าว

สุดท้ายแล้ว ในอนาคตสิ่งที่อยากเห็นต่อไปในวงการกีฬาไทย คือการพัฒนากีฬาอาชีพ จนสามารถเป็นอาชีพอย่างจริงจัง

เชื่อว่านอกเหนือจากผลงานที่จะดีขึ้นแล้ว จะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นกอบเป็นกำอีกด้วย...