เดือดร้อน!!! ประมงพื้นบ้านแบกอวนลุย ก.เกษตรฯ จี้ปรับ ม.34 จำกัดเขตทำกิน

ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th

 

ประมงพื้นบ้านฯ แบกอวนชุมนุมหน้ากระทรวงเกษตรฯ เรียกร้องแก้ไข ม.34 จำกัดการทำประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง
ด้านตำรวจรุดคุยอ้าง รมต.พร้อมเจรจาแต่ให้รื้ออวน-ห้ามสื่อเข้าฟัง ฝั่งผู้ชุมนุมไม่ยอมเผยโดนหลอกมาเยอะ


วันนี้ (4 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนชาวประมง สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ได้นำอวนไปล้อมเป็นสถานที่ชุมนุมที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขเนื้อหา ม.34 ใน พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเข้าเจรจาให้กลุ่มผู้ชุมนุมรื้ออวนที่ล้อมบริเวณที่ชุมนุมออก โดยนายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย 1 ในผู้ร่วมชุมนุมได้โพสต์ในเฟชบุ๊กส่วนตัวถึงเรื่องนี้ว่า
      

 

“ถ้าไม่รื้ออวนออกตำรวจอาจจะไปขอหมายศาล รัฐมนตรียินดีพูดคุยด้วยแต่ให้รื้ออวนออก และวงเจรจาขอไม่ให้สื่อมวลชนเข้า ทำไมกลัวสื่อในเมื่อจะพูดกันเรื่องปัญหาของส่วนรวม เรื่องหมายศาลอย่าเอามาขู่กัน สถานการณ์ ณ นาทีนี้ถ้าไม่ให้สื่อเข้าเราก็จะไม่เจรจา เพราะมีบทเรียนโดนหลอกมามากแล้ว”

 

 

เดือดร้อน!!! ประมงพื้นบ้านแบกอวนลุย ก.เกษตรฯ จี้ปรับ ม.34 จำกัดเขตทำกิน


 
ด้าน นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พระราชกำหนดการประมงฉบับใหม่ ซึ่งออกโดยฝ่ายบริหาร หรือคณะรัฐมนตรีเพียงฝ่ายเดียว ให้ใช้แทนพระราชบัญญัติการประมงฉบับเดิมที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อต้นปี 2558 ได้กำหนดไว้ชัดเจนใน มาตรา 34 ว่า “ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง" ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนหลักการเดิมไปโดยสิ้นเชิง เพราะแต่แต่เดิมการกำหนดแนวเขตการประมงชายฝั่ง เจตนาเพื่อหวงห้ามการใช้เครื่องมือประมงที่มีศักยภาพสูง หรือมีสภาพการทำประมงที่มีลักษณะทำลายล้างทรัพยากรมากเกินไป มิให้เข้ามาทำการประมงในแนวเขตชายฝั่ง เช่น การประมงอวนลาก, อวนรุน, ปั่นไฟจับปลาตัวเล็กในเวลากลางคืน เป็นต้น บางพื้นที่กำหนดไว้ 3 กิโลเมตรจากแนวชายฝั่ง (แผ่นดิน) บางพื้นที่กำหนดที่ 3 ไมล์ทะเล (ประมาณ 5,400 เมตร) โดยที่หลักสำคัญของการห้าม คือ ห้ามชาวประมงทุกฝ่าย ทุกพวก ไม่ว่าจะเป็นประมงขนาดเล็ก หรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ก็ห้ามใช้เครื่องมือเหล่านี้ทั้งสิ้น ดังนั้น ชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็กนั้นสามารถทำประมงนอกชายฝั่งได้ เช่นเดียวกับชาวประมงแบบพาณิชย์
       


 
“ปัญหาเดิมๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำจนเป็นที่รับรู้โดยทั่วไป คือ การที่ชาวประมงพาณิชย์ หรือแม้กระทั่งชาวประมงขนาดเล็กบางรายที่ใช้เรืออวนลาก เรืออวนรุน หรือเครื่องมือที่ถูกกำหนดห้ามเข้าชายฝั่ง กลับลักลอบเข้ามาทำการประมงชนิดนั้นๆ ในเขตหวงห้ามชายฝั่งนั่นเอง จนทำให้เกิดภาวะความเสื่อมโทรมของทรัพยากรประมงอย่างหนัก เพราะเขตชายฝั่งที่ว่านั้นส่วน
ใหญ่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน จนเป็นเหตุให้มีการปะทะขัดแย้งกับกลุ่มอนุรักษ์อยู่เสมอๆ นั่นเอง" นายวิโชคศักดิ์ กล่าว

 

 

นอกจากนี้ นายวิโชคศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อพิจารณา พ.ร.ก.ประมงใหม่ มีข้อกำหนดห้ามชาวประมงพาณิชย์เข้ามาในเขตชายฝั่งทะเล ซึ่งกำหนดไว้ที่ 3 ไมล์ทะเลโดยเด็ดขาด ในขณะเดียวกัน ก็ได้กำหนดห้ามชาวประมงพื้นบ้านออกไปทำประมงจับปลานอก 3 ไมล์ทะเลด้วยตามมาตรา 34 ดังนั้น จึงเกิดคำถามว่า ชาวประมงพื้นบ้านทำผิดอะไรจึงต้องห้ามเขาประกอบอาชีพในพื้นที่ที่เขาเคยทำประมงอยู่แต่เดิม แถมกำหนดคาดโทษอย่างหนักไว้ด้วยว่า หากชาวประมงพื้นบ้านรายใดละเมิดข้อห้ามบังอาจล้ำเขตประมงพาณิชย์จะต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่น ถึงห้าแสนบาท ขังชาวประมงพื้นบ้านทั้งหมดไว้ใน 3 ไมล์ทะเล หรืออาจขยายกรงขังออกไป 12 ไมล์ทะเลได้ คำถามคือ จะให้พวกเขาทำการประมงได้อย่างไรในพื้นที่จำกัดแออัดแบบนี้? ต้องไม่ลืมว่า ชาวประมงพื้นบ้านในที่นี้ พ.ร.ก.ประมงใหม่ให้ความหมายว่า เป็นผู้ที่ใช้เรือประมงระวางบรรทุกต่ำกว่า 10 ตันกรอสลงมา หรือผู้ที่ใช้เครื่องยนต์เรือต่ำกว่าที่รัฐมนตรีกำหนด จะพบว่าจำนวนชาวประมงพื้นบ้านมีจำนวนมากในอัตรามากกว่า 80% ของชาวประมงทั้งหมด

 

 

เดือดร้อน!!! ประมงพื้นบ้านแบกอวนลุย ก.เกษตรฯ จี้ปรับ ม.34 จำกัดเขตทำกิน

 

 

"การให้สิทธิการประมงแก่ประมงพาณิชย์ ซึ่งมีจำนวนน้อยราย (ไม่ถึง 20%) ให้มีสิทธิในพื้นที่ทำการประมงได้เพียงฝ่ายเดียวได้ตั้งแต่ 3 ไมล์ทะเล จนสุดเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ตามประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทย (ประมาณ 200 ไมล์ทะเล) หรือสุดเขตไหล่ทวีปที่เป็นสิทธิอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย สุดแต่เขตใดจะไกลกว่า มันไม่เป็นการเอารัดเอาเปรียบมากเกินไปหรือ? เพราะเขตทะเลนอกชายฝั่งถือเป็นแหล่งที่ควรจับสัตว์น้ำอย่างเหมาะสมเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และรายได้แก่ชาวประมงทุกฝ่ายควรได้เข้าถึงอย่างเป็นธรรม และเท่าเทียม โดยตรรกะทั้งหมดทั้งสิ้น โดยหลักการบริหารทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน รัฐไทยไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ เลยที่จะต้องเปิดศึกกับประชาชนคนเล็กคนน้อยให้ต้องทนทุกข์ทรมานต่อกฎหมายที่ห่างไกลกับคุณธรรมอย่างนี้” นายวิโชคศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวล่าสุดแจ้งว่า ประมงพื้นบ้านพอใจ หลังหารือร่วมกับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตร โดยผลการเจรจา ตกลงตั้งคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ แก้ปัญหาภาพรวมทั้งระบบ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และต้นสัปดาห์หน้า คณะกรรมการนโยบายฯ จะเริ่มประชุมนัดแรก และจะสรุปข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ยืนยันกับกลุ่มประมงพื้นบ้านว่า จะแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์
   
  

ข้อมูล: MANAGER , เฟซบุ๊ก "บรรจง นะแส"

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก "บรรจง นะแส"