สุดวิกฤติ!!! "เขื่อนอุบลรัตน์" เหลือน้ำ 1% ถึงขั้นต้องใช้น้ำก้นเขื่อน

ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th


สุดวิกฤติ!!! "เขื่อนอุบลรัตน์" เหลือน้ำแค่ 1% ถึงขั้นต้องใช้น้ำก้นเขื่อนนำมาผลิตเป็นน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ขณะพื้นที่การเกษตรรอบมข. อาจนำน้ำบำบัดแล้วมาใช้

 

 

วันนี้ (16 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ จ.ขอนแก่นว่า ปีนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นห่วงสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะที่เขื่อนอุบลรัตน์ ณ วันที่ 15 มี.ค. 59 เหลือน้ำใช้ได้อยู่เพียงร้อยละ 1 หรือ 25 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น จากความจุเขื่อนทั้งหมดกว่า 2,400 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึงหากไม่มีน้ำไหลเข้ามาเพิ่ม คาดว่าน้ำที่มีอยู่จะใช้ได้ถึงประมาณวันที่ 11 เม.ย.เท่านั้น

 

โดยล่าสุด เขื่อนอุบลรัตน์ได้ประกาศใช้น้ำก้นเขื่อนหรือ deadstorage ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับชาวบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากน้ำก้นเขื่อนจำเป็นต้องเหลือไว้รักษาสมดุลเขื่อน โดยเขื่อนอุบลรัตน์เคยนำน้ำก้นเขื่อนมาใช้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว คราวนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่วิกฤติสุดในรอบ 20 ปี ขณะผลตรวจสอบคุณภาพน้ำก้นเขื่อนอุบลรัตน์ อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยสามารถนำมาผลิตน้ำอุปโภคบริโภคได้ แต่ผู้ใช้น้ำต้องร่วมมือกันประหยัดเพื่อให้มีน้ำกินน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง

 

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายแจกจ่ายน้ำมือสอง (น้ำบำบัด) ให้พื้นที่ชุมชนรอบรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อใช้ในการเกษตร ภายใต้โครงการ มข.ช่วยภัยแล้งโดยมีเป้าหมาย 5 หมู่บ้านในเขตชุมชนบ้านโนนม่วง ชุมชนหนองแวงและชุมชนอื่น ๆ รอบมหาวิทยาลัยที่มีความประสงค์ใช้น้ำบำบัดเพื่อการเกษตร ซึ่งจะมีการเริ่มแจกจ่ายน้ำในช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้โดยร่วมกับสำนักงานชลประทานที่ 6 จังหวัดขอนแก่น ซึ่งน้ำที่ชุมชนจะได้รับผ่านกระบวนการบำบัดจึงปลอดภัย เหมาะสำหรับใช้เพื่อการเกษตรโดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานชลประทานคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ใช้คลอรีนฆ่าเชื้อโรค ไร้กลิ่นเหม็นมาใส่ในน้ำทำให้เกิดการบำบัดมีค่าออกซิเจนตามค่ามาตรฐาน คือ 20 มิลลิกรัมต่อลิตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำที่ใช้เพื่อการเกษตร แต่ไม่สามารถนำไปบริโภคได้

 

ภาพจาก : เดลินิวส์