"ไพบูลย์" ร้องมหาเถรฯ สอบ "สมเด็จช่วง" ละเมิดพระวินัย-สะสมเงินในบัญชี

ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th

 

"ไพบูลย์" ร้องมหาเถรฯ สอบ "สมเด็จช่วง" ละเมิดพระธรรมวินัยสะสมเงิน สั่งจ่ายเช็ค 1 ล้าน ซื้อเบนซ์หรู ด้านฝ่ายกฎหมายวัดปากน้ำ อ้างเงินดังกล่าวญาติโยมบริจาคซื้อรถถวาย อธิบายที่มาที่ไปได้

 

 

วันนี้ (7 เม.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า ที่หอประชุมพุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ ดร.นพ.มโน เมตตานันโท เลาหวณิช อาจารย์ประจำวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เดินทางมายื่นคำร้องกล่าวหาสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และประธานกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ว่า ได้มีการกระทำล่วงละเมิดพระธรรมวินัย กรณีรับเงินสะสมเงิน และนำเงินซื้อรถเบ็นซ์คลาสสิคหรู โดยขอให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ส่งเรื่องให้ มส.พิจารณาไต่สวนการกระทำผิดพระธรรมวินัยดังกล่าว ตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 11 ข้อ 7(7) ระบุว่า กรณีไต่สวนมูลฟ้อง และพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมกรรมการ มส.ให้เป็นอำนาจของ มส.

 

 

นายไพบูลย์ กล่าวว่า การล่วงละเมิดพระธรรมวินัยดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค.2553 โดยผู้ถูกกล่าวหาได้มีบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ธนาคารกรุงเทพ สาขาตลาดพลู และได้สั่งจ่ายเช็คฉบับลงวันที่ 13 ธ.ค.2553 จำนวน 1 ล้านบาท ให้แก่อู่วิชาญ เพื่อชำระค่าซื้อรถเบนซ์คลาสสิคหรูราคาแพง และเป็นผู้ลงนามด้วยตนเองในการยื่นขอจดทะเบียนต่อกรมขนส่งทางบก โดยปรากฏหลักฐานว่าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค.2554 และขณะนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อยู่ระหว่างการสอบสวนกรณีรถคันดังกล่าว โดยเห็นว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้กระทำล่วงละเมิดพระธรรมวินัยใน 2 ข้อ คือ 1. ได้รับเงินและสะสมไว้ในบัญชีธนาคาร ถือว่ากระทำละเมิดพระธรรมวินัยสิกขาบทที่ 8 โกสิยวรรค ในนิสสัคคิยภัณฑ์ (ห้ามรับทองเงิน) และ ข้อ 2. นำเงินของตนเองที่มีอยู่ในบัญชีธนาคาร ไปซื้อรถเบนซ์คลาสสิคหรู ถือเป็นการกระทำละเมิดพระวินัย สิกขาบทที่ 9 โกสิยวรรค ในนิสสัคคิยภัณฑ์ (ห้ามทำการซื้อขาย ด้วยรูปิยะ หรือ ทองเงิน)

 

ส่วนคำถามถึงหลักฐานการจ่ายเช็ค 1 ล้านบาทให้แก่อู่วิชาญของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ว่า มีมาแสดงต่อสื่อมวลชนหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตนเชื่อมั่นในผู้ที่ให้หลักฐานดังกล่าวมา แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในเวลานี้ ซึ่งการยื่นคำกล่าวหาครั้งนี้ เป็นเรื่องของการกระทำผิดพระวินัยทางสงฆ์ ไม่เกี่ยวกับคดีรถเบนซ์ที่ดีเอสไอตรวจสอบอยู่ แต่สิ่งที่ตนเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นทั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และประธานกรรมการ มส. ทำให้ มส.ต้องระมัดระวังการพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งพุทธบริษัทในสังคมไทย ก็เป็นห่วงและเฝ้าจับตามองว่า มส.จะปกป้อง ช่วยเหลือสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์หรือไม่ อาจจะมีการยกฟ้อง โดยอ้างว่าหลักฐานไม่สมบูรณ์ เพื่อตัดตอนไม่ให้นำไปสู่ขั้นตอนการไต่สวนได้ จึงหวังว่า มส.จะทำหน้าที่ตาม มาตรา 15 ของพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 เรื่องรักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา เพราะถ้า มส.ไม่รักษาหลักพระธรรมวินัยแล้ว จะทำให้คณะสงฆ์ และกิจการพระพุทธศาสนาต้องพบกับความเสื่อม

 

 

ดร.สมชาย สุรชาตรี โฆษกพศ. กล่าวว่า พศ.ได้รับหนังสือคำร้องกล่าวหาไว้อย่างเป็นทางการและตนจะนำเสนอต่อนายพนม ศรศิลป์ ผอ.พศ. ในฐานะเลขาธิการ มส.เพื่อพิจารณาดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ตามระเบียบของ มส. เมื่อมีการกล่าวโทษกรรมการ มส.ก็จะต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม มส. แต่ในการประชุม มส.ในวันที่ 20 เม.ย.นี้ ยังไม่ทราบว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือหรือไม่

 

ขณะที่นายสมศักดิ์ โตรักษา ทนายความวัดปากน้ำภาษีเจริญ กล่าวว่า กรณีเงิน 1 ล้านบาทที่อยู่ในบัญชีธนาคารชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ และสั่งจ่ายเช็ค เพื่อซื้อรถเบนซ์โบราณนั้น เงินดังกล่าวเป็นเงินที่ญาติโยมบริจาคเพื่อซื้อรถถวายให้แก่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ โดยบริจาคเป็นเงินสดและบริจาคให้สมเด็จฯ เป็นการส่วนตัว และนำเข้าไว้ในบัญชีธนาคารของท่าน เมื่อรถเบนซ์ที่ซื้อบริจาคซ่อมแซมเสร็จแล้ว พระมหาศาสนมุนี หรือ เจ้าคุณแป๊ะ ก็ได้ขอให้สมเด็จฯ เซ็นต์เช็คจำนวนเงินดังกล่าวคืนไปให้แก่ผู้บริจาค เพื่อนำไปจ่ายเป็นค่ารถเบนซ์ ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีอะไรสลับซับซ้อนมีเอกสารหลักฐานชี้แจงได้ และได้เคยทำเป็นเอกสารชี้แจงต่อดีเอสไอไปแล้ว หากมีการนำเรื่องนี้ไปพิจารณาในทางสงฆ์ก็พร้อมจะไปชี้แจงต่อ มส.