"สธ." รับบุคลากรขาดแคลนจริง แต่ไม่ถึงกับไม่พอบริการ

ติดตามข่าวสารที่ www.tnew.co.th


 "สธ." ยันบุคลากรสาธารณสุขขาดแคลนจริง แต่ไม่ถึงกับไม่พอบริการตามมาตรฐานเช่นที่เกิดกับ รพ.เดชา เพราะยังจัดสรรได้ แต่ทำให้มีภาระงานหนักขึ้น เร่งวิเคราะห์อัตรากำลังรพ.ทุกระดับ เพื่อจัดสรรลงพื้นที่
      

      

วันนี้ (12 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งปิด รพ.เดชา ชั่วคราว จนกว่าจะมีการปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐาน เนื่องจากผู้ประกอบการเสียชีวิตและอาจต้องหาผู้ประกอบการใหม่
      
      
ต่อเรื่องนี้ ล่าสุด นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า การที่ สบส.สั่งปิด รพ.เดชา เป็นการชั่วคราวนั้น สบส.ได้มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วจึงมีคำสั่งดังกล่าวออกไป ส่วนผู้ประกันตนที่เข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในของ รพ.เดชา ประมาณ 7 รายนั้น เชื่อว่าคงมีการประสานกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในการดูแลส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น ซึ่งอาจเป็นโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) คาดว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะจำนวนผู้ป่วยไม่มากนัก
      
      

สำหรับคำถามที่ว่า บุคลากรทางการแพทย์ของ สธ.เองก็มีความขาดแคลน มีโรงพยาบาลสังกัด สธ.ที่ประสบปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอต่อมาตรฐานของการเปิดให้บริการหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า แม้บุคลากรทางการแพทย์จะยังมีความขาดแคลนในบางพื้นที่ และกระจายอยู่ตามเฉพาะเมืองใหญ่ๆ แต่ไม่เคยมีปัญหาลักษณะเช่นนี้ ที่ผ่านมาก็พยายามจ้างลูกจ้างชั่วคราว หรือให้พยาบาลวิชาชีพขึ้นเวรมากขึ้น แต่ก็ยังคงเป็นปัญหา เพราะภาระงานจะหนักมาก ขณะนี้กำลังมีการแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวอยู่ โดยกำลังทำอัตรากำลังบุคลากรสาธารณสุขทุกวิชาชีพในโรงพยาบาลแต่ละระดับ ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน ก็จะช่วยให้ทราบว่าแต่ละแห่งมีบุคลากรเพียงพอหรือไม่ ขาดแคลนมากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะวางแผนจัดสรรกำลังคนให้มีความเพียงพอและกระจายอย่างเท่าเทียม ซึ่งคาดว่าในส่วนของ โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปจะทราบข้อมูลชัดเจนภายใน มิ.ย.นี้ และโรงพยาบาลชุมชนจะทราบภายใน ก.ค.นี้
      
      

 

นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า สำหรับการจัดสรรอัตรากำลังลงไปนั้นหลักเกณฑ์ก็จะคล้ายกับการเพิ่มเตียงให้โรงพยาบาลแต่ละแห่ง คือพื้นที่ไหนที่ขาดเยอะก็จะเติมลงไปก่อน ส่วนจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการหรือไม่นั้น สธ.จะนำข้อมูลอัตรากำลังเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่ง ก.พ.จะมีหลักเกณฑ์ในการบรรจุอยู่ โดยหากเป็นกลุ่มงานวิชาชีพหลัก เช่น การรักษาพยาบาล อาจจะได้บรรจุ 100% ส่วนวิชาชีพสายสนับสนุนสัดส่วนการบรรจุข้าราชการอาจอยู่ที่ประมาณ 25% สำหรับการเร่งรัดให้บรรจุสายงานวิชาชีพพยาบาล เนื่องจากมีตำแหน่งว่างจากการลาออกและเกษียณ จึงอยากเร่งให้บรรจุให้แล้วเสร็จภายใน 1 มิ.ย.นี้ เพราะจะส่งผลให้สามารถขึ้นเงินเดือนได้ เนื่องจาก 6 เดือนจะมีการปรับขึ้นเงินเดือนครั้งหนึ่ง และการจะปรับเงินเดือนได้นั้นต้องทำงาน 4 เดือนขึ้นไป ซึ่งหากบรรจุ 1 มิ.ย. 59 เมื่อสิ้น ก.ย. 59 ก็จะสามารถขึ้นเงินเดือนได้