"นายกฯ"ยันชัด!!!อย่ากังวลปมสืบราชสันตติวงศ์-รอเสร็จพระราชพิธีผ่านพ้นช่วง 7 วัน 15 วันก่อน-"มหาราช" ยังใช้ไม่ได้ในขณะนี้

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

วันนี้   ( 18 ต.ค.)   พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)  แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ขออย่ากังวล ลังเล หรือสงสัยใดๆ ในเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎมณเฑียรบาล และจารีตประเพณี เมื่อพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลผ่านพ้นช่วงเวลา 7 วัน 15 วันไปแล้วระยะหนึ่ง น่าจะได้เวลาอันสมควรที่จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ระหว่างนี้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะได้ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนในส่วนเท่าที่จำเป็น ส่วนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่จะทรงลงพระปรมาภิไธยภายในกรอบเวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยจะไม่กระทบต่อปฏิทินการทำงานเป็นอันขาด สำหรับการใช้คำว่า "มหาราช"เป็นไปตามกฎหมายและวิธีดำเนินการของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลในอดีตเคยเสนอพระองค์ท่านไปแล้ว แต่พระองค์ยังไม่เห็นชอบ พร้อมรับสั่งว่าเป็นเรื่องของประชาชนและรัฐบาลที่จะทำต่อไป ซึ่งรัฐบาลทำอยู่ในขั้นตอนอยู่แล้ว ดังนั้น คำว่า "มหาราช" จึงยังใช้ไม่ได้ในตอนนี้ ไม่ใช่ไม่อยากใช้ แต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอน
         

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์นั้น ยังไม่สามารถทำได้ในเวลานี้ ขณะนี้มีหลายหน่วยงานและหลายภาคส่วนอยากสร้าง ซึ่งมีขั้นตอนอยู่แล้ว จึงต้องรอให้เกิดความชัดเจนก่อน และทุกอย่างต้องมีการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จึงถือว่ายังไม่เหมาะสมในเวลานี้ โดยรัฐบาลต้องทำถวายอยู่แล้ว และประชาชนก็ต้องมีส่วนร่วมในเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ตนได้หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และฝ่ายศาสนา โดยสิ่งที่ฝ่ายศาสนาได้ให้แนวทางเพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชน คือ สิ่งที่พระองค์ทรงกระทำไว้ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์นั้น ในด้านศาสนาถือว่า ได้บำเพ็ญพระองค์ในลักษณะที่พระโพธิสัตว์ ได้กระทำไว้ อาทิ พระมหาชนกที่ทรงเสียสละเพื่อคนอื่นและทำให้บ้านเมือง พระองค์ท่านจึงเปรียบเสมือนพระโพธิสัตว์พระองค์หนึ่ง
         

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการเสด็จถวายราชสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรภูฏาน และสมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก ว่า พระองค์ท่านทรงเขียนคำไว้อาลัยไว้ในสมุดคำอาลัยที่แปลได้ว่า การเสด็จสวรรคตเปรียบเหมือนการเข้าสู่นิพพานเพื่อไปสู่การเป็นพระธรรมราชา ซึ่งเป็นหลักการของภูฏาน