สธ.ส่งทีมแพทย์ฉุกเฉิน-ยา-เวชภัณฑ์กว่า 200,000 ชุดลงพื้นที่แล้ว ขณะรพ.ชะอวดอ่วมน้ำท่วมสูง ย้ายผู้ป่วยหนักไป รพ.มหาราช 8 ราย

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

 

วันนี้ ( 6 ม.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  กล่าวภายหลังประชุมศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ติดตามการช่วยเหลือด้านแพทย์ประชาชนประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ว่า ขณะนี้มีสถานพยาบาลได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมภาคใต้ 102 แห่งใน 9 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง นราธิวาส ตรัง สงขลา ยะลา ปัตตานี และชุมพร แต่ยังสามารถให้บริการได้ตามปกติ โดยมีสถานพยาบาลที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดอีก 66 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งได้มอบหมายให้ นพ.เจษฏา ฉายคุณรัฐ สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 11 ไปประจำที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยด่านหน้าของกระทรวงมหาดไทยที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อร่วมวางแผนช่วยเหลือประชาชน และได้กำชับให้สถานพยาบาลจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชนในพื้นที่เข้าถึงบริการยากลำบาก และให้ รพ.สต.ออกเยี่ยมให้บริการผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ อย่างต่อเนื่อง และได้ส่งหน่วยแพทย์จากจังหวัดพังงา ภูเก็ต รวมทั้งทีมแพทย์สนามฉุกเฉินในเขตภาคใต้ 10 ชุด (MERT) ไปช่วยเหลือการจัดบริการประชาชน ขณะที่ส่วนกลางได้สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ไปแล้ว กว่า 200,000 ชุด

 

สธ.ส่งทีมแพทย์ฉุกเฉิน-ยา-เวชภัณฑ์กว่า 200,000 ชุดลงพื้นที่แล้ว ขณะรพ.ชะอวดอ่วมน้ำท่วมสูง ย้ายผู้ป่วยหนักไป รพ.มหาราช 8 ราย

 

"นอกจากนี้ ยังกำชับให้หน่วยงานต่างๆ ของ สธ.สนับสนุนช่วยเหลือเหตุน้ำท่วมในครั้งนี้ โดยมอบให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตยาชุดน้ำท่วมสำรองไว้ให้เพียงพอด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ส่งอาหารน้ำดื่มสนับสนุน กรมสุขภาพจิตส่งทีมดูแลสภาพจิตใจผู้ประสบภัย กรมอนามัยสนับสนุนคลอรีนดูแลความสะอาดของน้ำ กรมควบคุมโรคเฝ้าระวังโรคระบาด และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ส่งทีมวิศวกรสำรวจความเสียหายหลังน้ำลด โดยมอบให้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัด สธ.เป็นผู้ประสานงานและดูแลสถานการณ์น้ำท่วม" นพ.โสภณ กล่าว

 

สธ.ส่งทีมแพทย์ฉุกเฉิน-ยา-เวชภัณฑ์กว่า 200,000 ชุดลงพื้นที่แล้ว ขณะรพ.ชะอวดอ่วมน้ำท่วมสูง ย้ายผู้ป่วยหนักไป รพ.มหาราช 8 ราย
         

นพ.โสภณ  กล่าวยืนยันว่า  สธ.ยังสามารถจัดการดูแลผู้ป่วยได้ แม้เป็นกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมก็ตาม อย่าง รพ.ชะอวด จ. นครศรีธรรมราช ซึ่งสถานการณ์ยังมีแนวโน้มท่วมต่อเนื่อง  ขณะนี้ได้ย้ายผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้ออกซิเจนไปยังไปยังโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชแล้ว จำนวน 8 รายแล้ว เนื่องจากน้ำยังเข้ามาไม่ถึงตัวโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เพียงแต่ท่วมรอบๆโรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งได้เตรียมมีการเครื่องสูบน้ำไว้แล้วหากน้ำทะลักเข้ามา ส่วนผู้ป่วยทั่วไปอีก 40 รายที่เหลือนั้น หากระดับน้ำยังไม่ลดในวันที่ 7 ม.ค. ก็มีแผนจะส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลใกล้เคียง โดยมีหน่วยทหารในพื้นที่ให้การสนับสนุน

ด้าน นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ มีโรงพยาบาลได้รับผลกระทบ จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย รพ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช น้ำท่วมบริเวณรอบนอกด้านหน้าโรงพยาบาล สูงประมาณ 1 เมตร การเดินทางเข้าออกยากลำบาก และ รพ.หลังสวน จ.ชุมพร ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 1 เมตร การเดินทางยากลำบาก สามารถให้บริการได้เฉพาะตึกผู้ป่วยใน สำหรับการดำเนินการของ สบส.มี 4 เรื่องเร่งด่วน ได้แก่ 1.ระดมทีมวิศวกรฉุกเฉิน 9 ทีม จากทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ประกอบด้วย ทีมวิศวกรเครื่องมือแพทย์ การดูแลฟื้นฟูเครื่องมือแพทย์ ระบบไฟฟ้า ระบบการสื่อสารให้พร้อมใช้งาน และทีมวิศวกรโยธา ดูแลในส่วนอาคารสถานที่ ระบบบำบัดน้ำเสีย ให้มีความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง 2.จัดเตรียมระบบการสื่อสารสำรองในสถานพยาบาล 14 จังหวัดภาคใต้ ให้พร้อมใช้งานหากระบบการสื่อสารปกติไม่สามารถใช้การได้ 3.จัดชุดปฐมพยาบาล จำนวน 300 ชุด ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ใช้ในการปฏิบัติงานดูแลผู้ประสบภัยที่เจ็บป่วย ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ในบ้าน โดยในชุดปฐมพยาบาลประกอบด้วย ชุดทำแผล ยาแก้ปวดลดไข้ ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า ผงน้ำตาลเกลือแร่ เป็นต้น และ 4.ระดมเรือท้องแบน/เรือไฟเบอร์ จากสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพ เขต 3 จ.นครสวรรค์ อีก 5 ลำ เพื่อสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานในพื้นที่น้ำท่วม

 

สธ.ส่งทีมแพทย์ฉุกเฉิน-ยา-เวชภัณฑ์กว่า 200,000 ชุดลงพื้นที่แล้ว ขณะรพ.ชะอวดอ่วมน้ำท่วมสูง ย้ายผู้ป่วยหนักไป รพ.มหาราช 8 ราย


วิทย์ณเมธา  สำนักข่าวทีนิวส์