กินง่ายตายเร็ว !! รู้หรือไม่การใช้โฟมบรรจุอาหารเสี่ยงเป็นโรคร้าย (รายละเอียด)

ปัจจุบันผู้ประกอบการค้าอาหารมักนิยมใช้ภาชนะสำเร็จรูปที่ทำจากโฟมใช้บรรจุอาหารปรุงสำเร็จ อาหารตามสั่ง เพราะสะดวก ใช้ง่าย และราคาถูก แต่การนำภาชนะโฟมมาบรรจุอาหารร้อน ต้องใช้อย่างระมัดระวัง หากโฟมสัมผัสกับอาหารร้อนจัดเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการหลอมละลาย ทำให้สารเคมีที่อยู่ในเนื้อโฟมซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าปนเปื้อนอยู่ในอาหาร ทำให้เกิดอันตรายสะสมอยู่ในร่างกายแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่รู้ตัว

โฟมเป็นผลิตภัณฑ์จากพลาสติกที่ใช้สารเร่งหรือยาพองจากการให้ความร้อนสูง แล้วอัดลงในแม่พิมพ์เพื่อพิมพ์เป็นรูป ผลิตจากโพลีเมอร์  ชนิดโพลิสไตรีนซึ่งหากโดนความร้อนเป็นเวลานานจะมีสารเคมีปนเปื้อนอาหารได้ ซึ่งสารเคมีเหล่านี้มีอันตรายต่อร่างกายมหาศาล

โดยสารเคมีที่พบในภาชนะโฟมบรรจุอาหารมี 3 ชนิด ได้แก่

1.สารสไตรีน (Styrene) เป็นสารก่อมะเร็ง เพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก มีผลต่อสมองและเส้นประสาท ทำให้อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย นอนหลับยาก ระบบฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ ทำให้มีปัญหาต่อมไทรอยด์และประจำเดือนในสตรีผิดปกติ

2.สารเบนซิน (Benzene) เป็นสารก่อมะเร็งเช่นกัน สารชนิดนี้ละลายได้ดีในน้ำมัน เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นแรง หากได้รับสารชนิดนี้เป็นเวลานาน ทำให้เป็นโรคโลหิตจาง เนื่องจากสารเบนซินจะทำลายไขกระดูก ทำให้ร่างกายผลิตเม็ดเลือดลดลง

3.สารพทาเลท (Phthalate) เป็นสารที่มีพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้ผู้ชายเป็นหมัน หากเป็นหญิงมีครรภ์ลูกอาจมีอาการดาวน์ซินโดรมและอายุสั้นได้
ทั้งนี้การละลายของสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้ จะมากน้อยขั้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ อุณหภูมิอาหาร ไขมันในอาหาร และระยะเวลาที่อาหารสัมผัสกับภาชนะโฟม  โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารประเภทผัด ทอด จะทำให้สารสไตรีนละลายออกมาได้มากกว่าสารอีก 2 ชนิด
 

เมื่อร่างกายได้รับสารดังกล่าวเข้าไป จะทำให้ระบบฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งอีกหลายชนิด ทั้งนี้โรคมะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 1 สูงถึงปีละเกือบ 3,000 คน และมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้กว่า 34,000 คน 

ที่ผ่านมา กรมอนามัยได้รณรงค์ให้มีการเลิกใช้ภาชนะที่ทำจากโฟมบรรจุอาหารให้หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติ ได้แก่ ชานอ้อย ชานอ้อยผสมเยื่อไผ่ มันสำปะหลัง เนื่องจากวัสดุเหล่านี้ เป็นสารอินทรีย์ ย่อยสลายตามธรรมชาติในเวลา 45 วัน ต่างจากโฟมที่ใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 1,000 ปี หรือประมาณ 12 ชั่วคน และยุทธศาสตร์ที่ 3 คือการปฏิเสธการใช้โฟมทุกรูปแบบ เช่น ไม่ซื้ออาหารที่บรรจุในกล่องโฟม เป็นต้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง