"การถวายรูด" คืออะไร?? เหตุใดจึงถูกยกเลิกไปจากการจัดงานพระราชพิธีพระบรมศพในยุคปัจจุบัน!!(รายละเอียด)

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เพจความจริง และ www.tnews.co.th

     ปัจจุบันทางสำนักพระราชวังได้มีการยกเลิกการถวายรูดไปแล้ว เนื่องจากนวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้พระมังสาแห้งติดไปกับพระบรมอัฐิได้ (เนื้อหนังแห้งติดกับกระดูก) และสามารถเก็บรักษาพระบรมศพหรือพระศพได้ยาวนานเป็นปีโดยไร้ซึ่งกลิ่น และน้ำเหลือง เพราะได้รับการถวายฉีดยาฟอร์มาลินหรือสารเคมีที่ทำให้พระบรมศพหรือพระศพแห้ง การถวายรูดนี้มีครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2499 คืองานพระบรมศพสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 งานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ทางสำนักพระราชวังได้งดการถวายรูด เนื่องจากพระมังสาแห้งติดไปกับพระบรมอัฐิ ซึ่งมีผลมาจากที่พระบรมศพได้รับการถวายฉีดยาฟอร์มาลินเข้าไปในพระบรมศพแล้ว
 

"การถวายรูด" คืออะไร?? เหตุใดจึงถูกยกเลิกไปจากการจัดงานพระราชพิธีพระบรมศพในยุคปัจจุบัน!!(รายละเอียด)

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

     การถวายรูดนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากในอดีต เรื่องของการจัดการกับพระบรมศพและพระศพหรือศพบรรดาศักดิ์นั้นเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร เพราะโดยส่วนใหญ่นั้นจะต้องอันเชิญพระบรมศพหรือพระศพลงพระโกศหรือได้รับพระราชทานโกศสำหรับใส่ศพ และในบางศพก็จะเก็บไว้นาน บางรายเก็บไว้นาน 2-4 ปี การถวายเพลิงพระบรมศพหรือการพระราชทานเพลิงพระศพพระราชวงศ์ชั้นสูงนั้น ต้องทำในฤดูแล้งเพราะท้องสนามหลวงในฤดูฝนนั้นจะเต็มไปด้วยน้ำ และใช้ทำเป็นนาหลวงสำหรับปลูกข้าว พอเข้าฤดูหนาวจึงจะเริ่มก่อสร้างพระเมรุมาศหรือพระเมรุ(ตามพระยศ)เพื่อให้ทันถวายเพลิงพระบรมศพหรือพระราชทานเพลิงพระศพก่อนจะถึงฤดูฝนอีกครั้ง ฉะนั้นจึงต้องมีกรรมวิธีบางอย่างเพื่อที่จะเลี้ยง(เก็บรักษา)พระบรมศพหรือพระศพให้อยู่ได้นานขึ้น โดยปราศจากกลิ่นรบกวน  
 

"การถวายรูด" คืออะไร?? เหตุใดจึงถูกยกเลิกไปจากการจัดงานพระราชพิธีพระบรมศพในยุคปัจจุบัน!!(รายละเอียด)

 

     ซึ่งจะมีกรรมวิธีในการเลี้ยงพระบรมศพหรือพระศพ เช่น การกรอกสารปรอทหรือน้ำผึ้งเข้าไปในร่างของศพซึ่งเป็นวิธีโบราณ แต่เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้ภูมิอากาศของประเทศมีลักษณะเป็นแบบร้อนชื้นซึ่งแตกต่างจากประเทศที่มีอาการเย็น การกรอกสารปรอทหรือน้ำผึ้งเพียงอย่างเดียวนั้นก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก ทำให้เศษอาหารที่ติดค้างอยู่ภายในศพนั้นเกิดปฏิกิริยากับแบคทีเรียส่งผลให้มีน้ำเลือดน้ำหนองของเสียต่างๆ ไหลซึมออกมา ยิ่งหากวันใดมีกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินมาฟังสวดด้วยแล้วเจ้าพนักงานที่อยู่งานเฝ้าจึงต้องเข้มงวดเรื่องกลิ่นเป็นพิเศษโดยทำการสุมเครื่องหอมจากสมุนไพรอยู่ด้านหลังพระโกศ ซึ่งแม้จะผ่านกรรมวิธีในการเลี้ยงพระบรมศพหรือพระศพแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำให้พระบรมศพหรือพระศพสามารถแห้งไปเองได้แต่อย่างใด เพราะในอดีตไม่มียาฟอร์มาลีนกันศพเน่าหรือสารเคมีเพื่อให้ศพแห้งไปเองเหมือนดั่งในปัจจุบัน

 

"การถวายรูด" คืออะไร?? เหตุใดจึงถูกยกเลิกไปจากการจัดงานพระราชพิธีพระบรมศพในยุคปัจจุบัน!!(รายละเอียด)

 

     ดังนั้นจึงเกิดการถวายรูดขึ้นก่อนถึงงานพระราชพิธีถวายเพลิงพระบรมศพหรือการพระราชทานเพลิงพระศพพระราชวงศ์ประมาณ 1 อาทิตย์ เจ้าพนักงานจะอัญเชิญพระบรมศพหรือพระศพออกมาจากพระโกศเพื่อเปลื้องเอาผ้าห่อพระบรมศพหรือพระศพออก จากนั้นก็ทำการรูดเอาเนื้อหนังออกจนหมด บางส่วนที่ไม่สามารถรูดออกได้นั้นก็อาจจะต้องนำไปต้มในกระทะใบบัวซึ่งน้ำต้มนี้มีส่วนผสมของเนื้อไม้ที่ส่งกลิ่นหอม เมื่อน้ำต้มเดือดก็ใส่สมุนไพรหอมตามลงไปอีก รอจนชิ้นส่วนบางส่วนเปื่อยได้ที่ก็จะอัญเชิญขึ้นมาทำการ "รูด" อีกครั้งหากเป็นพระศพของพระราชวงศ์ก็จะเรียกว่า “ถวายรูด” เมื่อผ่านขั้นตอนทั้งหมดแล้วก็จะเหลือเพียงแต่กระดูกขาวๆ เจ้าพนักงานก็จะอัญเชิญพระศพใส่ผ้าขาวผืนใหม่ แล้วอัญเชิญลงสู่พระโกศดังเดิมเพื่อเตรียมพระราชทานเพลิงต่อไป สำหรับเนื้อหนังที่เหลืออยู่ในกระทะนั้นก็จะทิ้งไม่ได้ แต่จะมีพิธีกรรมเช่นเดียวกับการพระราชทานเพลิงพระบุพโพ

 

"การถวายรูด" คืออะไร?? เหตุใดจึงถูกยกเลิกไปจากการจัดงานพระราชพิธีพระบรมศพในยุคปัจจุบัน!!(รายละเอียด)

กระทะใบบัว


ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจเฟสบุ๊ค : คลังประวัติศาสตร์ไทย