ด่วนที่สุด!!ศาลอาญาคดีทุจริตฯอุทธรณ์ จำคุก "สุธรรม มลิลา"อดีตผอ.องค์การโทรศัพท์ 6 ปีทำสัญญาฉาวเอื้อ AIS นำร่องยุคระบอบทักษิณ!?? (รายละเอียด)

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

ถือเป็นอีกหนึ่งคดีสำคัญในแวดวงรัฐวิสาหกิจ    ที่เกี่ยวเนื่องความผิดของผู้บริหารระดับสูงองค์กรรัฐวิสาหกิจกับสัมพันธ์ทางการเมืองในยุคอดีต    เมื่อมีการเผยแพร่คำพิพากษา    ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี  ระบุวันที่ 26 มี.ค.  ที่ผ่านมา  ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุธรรม มลิลา ผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ในขณะนั้น ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

โดยคำฟ้องสรุปว่า จำเลยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ทศท.ทำหน้าที่บริหารงานภายในองค์กร มีหน้าที่ปฏิบัติงานก่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กร เมื่อระหว่างวันที่ 12 เม.ย. 2544 – 15 พ.ค. 2544  จำเลยปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการและกรรมการ ทศท. โดยตำแหน่งกระทำความผิดกฎหมายหลายบท โดยทำสัญญาอนุญาตให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัดมหาชน (AIS) ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ สัญญากำหนดว่าบริษัทเอไอเอสจะต้องลงทุนอุปกรณ์ทั้งหมด และยกให้ ทศท.ก่อนที่จะนำไปให้บริการแก่ผู้ใช้บริการและกำหนดให้เอไอเอสจ่ายส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์ปีที่ 1-5 อัตราร้อยละ 15 ปีที่ 6-10 อัตราร้อยละ 20 ปีที่ 11-15 อัตราร้อยละ 25 และปีที่ 16-20 อัตราร้อยละ 30

 

ต่อมาเอไอเอสมีหนังสือลงวันที่ 22 ม.ค. 2544 ถึงผู้อำนวยการ ทศท. ขอให้พิจารณาปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า โดยให้เหตุผลว่า ทศท.ปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายกรณีการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (TAC) (ชื่อการค้า DTAC) จากเดิมอัตราร้อยละ 200 ต่อเลขหมายต่อเดือน เป็นอัตราร้อยละ 18 ของหน้าบัตร แต่นายวิเชียร นาคสีนวล ผู้อำนวยการบริหารผลประโยชน์ เห็นว่ากรณีมิใช่เป็นการปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่าย แต่เป็นการกำหนดอัตราค่าเชื่อมโยงขึ้นใหม่ และมิใช่การลดส่วนแบ่งรายได้ เหตุผลไม่สมเหตุผล จึงไม่พิจารณาปรับลดส่วนแบ่งรายได้ และเมื่อเทียบกับเงินที่บริษัท TAC จ่ายให้บริษัท กสท. และ ทศท.แล้ว บริษัท TAC จ่ายเงินมากกว่าเอไอเอสจ่ายให้ ทศท.

 

 

ต่อมามีการจัดทำกรณีศึกษาแบบอัตราก้าวหน้าและอัตราคงที่ เสนอต่อนางทัศนีย์ มโนรถ รองผู้อำนวยการ ทศท. และนายสายัณห์ ถิ่นสำราญ ผู้อำนวยการการเงินและงบประมาณได้สั่งให้ศึกษาเพิ่มเติม โดยหลังจากมีการประชุม คณะกรรมการกลั่นกรองวาระการประชุมแล้ว ได้รับข้อเสนอของเอไอเอสและกำหนดส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าในอัตราร้อยละ 20 คงที่ตลอดอายุสัญญา และจำเลยได้สั่งการให้ฝ่ายบริหารผลประโยชน์ทำเอกสารเสนอกรรมการ ทศท.ให้ทันการประชุมครั้งต่อไป

 

การประชุม ทศท.ครั้งที่ 5/2544 เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2544 ที่ประชุมมีความเห็นว่าที่เอไอเอสขอลดส่วนแบ่งรายได้จากอัตราร้อยละ 25 เหลือร้อยละ 20 นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมแล้ว ทศท.และประชาชนน่าจะได้รับประโยชน์โดยตรง จึงมีมติเห็นชอบส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบบัตรจ่ายเงินล่วงหน้าวันทูคอลที่ ทศท.จะเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าหน้าบัตร โดยมีเงื่อนไขให้ ทศท.เจรจากับเอไอเอสให้ได้ข้อยุติก่อน ส่วนการนำส่งส่วนแบ่งรายได้ ให้ ทศท.เป็นรายเดือน

 

และการนำผลประโยชน์ที่เอไอเอสได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการโดยตรง ให้กำหนดเงื่อนไขท้ายสัญญาและให้ ทศท.ติดตามผลการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ล่วงหน้า เพื่อเป็นข้อมูลปรับปรุงหลักเกณฑ์เก็บส่วนแบ่งในโอกาสต่อไป แต่จำเลยมิได้ดำเนินการเสนอผลการศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาทบทวนอัตราส่วนแบ่งรายได้ของเอไอเอสให้คณะกรรมการ ทศท.พิจารณาอีกครั้ง ตามมติคณะกรรมการ ทศท.จนกระทั่งคณะกรรมการ ทศท.ทั้ง 7 คน พ้นจากตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2545

แต่จำเลยในฐานะผู้อำนวยการ ทศท.ลงนามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตดำเนินกิจการครั้งที่ 6 ให้กับเอไอเอสและกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ชื่อ วันทูคอล ให้เอไอเอสแบ่งส่วนรายได้อัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าหน้าบัตร ทำให้ ทศท.ได้รับส่วนแบ่งรายได้น้อยลงจากเดิมที่ได้รับตามสัญญาหลักในอัตราร้อยละ 25-30

 

 

เมื่อเปรียบเทียบส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาหลัก กับสัญญาที่แก้ไข ทศท.สูญเสียรายได้ 17,848,130,000 บาท และสูญเสียรายได้ในอนาคตถึงสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน อีกเป็นเงิน 53,490,900,000 บาท รวมเป็นเงิน 71,339,030,000 บาท ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่าการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมครั้งที่ 6 เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอไอเอสตามคดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2553 ระหว่างอัยการสูงสุดกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) และตามรายงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) การที่จำเลยปิดบังข้อเท็จจริงของฝ่ายบริหารผลประโยชน์ของ ทศท. ได้มีความเห็นเสนอจำเลยว่า บริษัท TAC ต้องจ่ายให้ภาครัฐมากกว่าเอไอเอส

 

 จำเลยย่อมทราบข้อมูลความแตกต่างการพิจารณาการขอลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ของเอไอเอสเป็นอย่างดีแล้ว แต่มิได้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวเสนอให้ ทศท.ทราบถึงความแตกต่าง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำในฐานะเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 มาตรา 157

 

ทั้งนี้บริษัท ทีโอที จำกัด ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 จากการที่จำเลยลงนามข้อตกลงครั้งที่ 6 กับบริษัทเอไอเอส เป็นผลให้ผู้ร้องสูญเสียรายได้ คิดเป็นเงิน 66,060,686,735.94 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี รวมเป็นเงิน 93,710,927,981.84 บาท

 

โดยจำเลยให้การปฏิเสธ ซึ่งภายหลังศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษายกฟ้อง และยกคำร้องของบริษัท ทีโอที ผู้ร้อง อย่างไรก็ตาม นายอำนาจ พวงชมภู อธิบดีศาลทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในขณะนั้นได้ทำความเห็นแย้งโดยเห็นควรให้ลงโทษจำเลย ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา

 

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงทางไต่สวนพยานโจทก์จำเลยและผู้ร้องประกอบรายงาน ป.ป.ช.เรื่องการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 6 เพื่อลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายแก่เอไอเอส ในชั้นนี้ฟังได้ว่า ทศท. เป็นรัฐวิสาหกิจ ต่อมาแปรสภาพเป็นบริษัท ทศท. คอเปอเรชั่น จำกัด มหาชน และภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ทีโอที จำกัด มหาชน สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด และคณะกรรมการ ทศท.มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้อำนวยการ ทศท. ต่อมาจำเลยแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ฉบับหลักลงวันที่ 27 มี.ค. 2533) ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2544 ปรับส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าแก่เอไอเอส ซึ่งตามสัญญาหลักเอไอเอสต้องจ่ายภาษีในปีที่ 1-5 อัตราร้อยละ 15 ปีที่ 6-10 อัตราร้อยละ 20 ปีที่ 11-15 อัตราร้อยละ 25 และปีที่ 16-20 อัตราร้อยละ 30 เป็นอัตราก้าวหน้าแก่ ทศท.

 

 

ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการ ทศท.ครั้งที่ 5/2544 เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2544 จำเลยเข้าร่วมประชุมและพิจารณามีความเห็นกรณีบริษัทเอไอเอสขอลดส่วนแบ่งรายได้จากร้อยละ 25 เหลือร้อยละ 20 นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมแล้ว ทศท.และประชาชนหน้าจะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจึงมีมติเห็นชอบ ที่ ทศท.จะเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าหน้าบัตร โดยมีเงื่อนไขให้ ทศท.เจรจากับเอไอเอสให้ได้ข้อยุติเรื่องการนำส่งส่วนแบ่งรายได้ให้ ทศท.เป็นรายเดือน และนำผลประโยชน์ที่เอไอเอสได้รับ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ให้บริการพร้อมให้กำหนดเงื่อนไขไว้ในท้ายสัญญา โดยจำเลยในฐานะผู้อำนวยการ ทศท.ลงนามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาครั้งที่ 6 กับบริษัทเอไอเอสมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2544 ว่าให้เอไอเอสแบ่งส่วนรายได้ในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าหน้าบัตร

 

ทั้งนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยวินิจฉัยว่าเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอไอเอส ไม่ใช่การทำเพื่อประโยชน์ของราชการ และทำให้ ทศท.เสียหาย อีกทั้งการแก้ไขสัญญาในครั้งนั้นอัตราส่วนแบ่งรายได้แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า ควรเป็นไปตามสัญญาหลักเนื่องจากการกำหนดส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายแก่คู่สัญญาภาครัฐในแบบอัตราก้าวหน้าหรือขั้นบันได เป็นการกำหนดอัตราที่มีความเป็นธรรมแก่คู่สัญญาฝ่ายรัฐผู้ให้สัญญา เพราะได้กำหนดค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐผู้ให้สัญญาตามสัดส่วนของรายได้

 

 

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ความผิดข้อหาเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ รักษาทรัพย์ ใช้อำนาจตำแหน่งโดยทุจริตฯ อย่างน้อยผู้กระทำจะต้องมีเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรค 2 แล้ว ผู้กระทำผิดยังต้องมีเจตนาพิเศษด้วย และจำเลยจะมีเจตนาดังกล่าวหรือไม่ เป็นเรื่องภายในใจของจำเลยที่จะต้องดูการกระทำเป็นสำคัญ เพราะกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ในการประชุมเปรียบเทียบจำนวนเงินที่บริษัท TAC จะต้องจ่ายแก่รัฐมากกว่าที่บริษัทเอไอเอสจ่าย

 

 

และในการประชุมกลั่นกรองวาระการประชุมของคณะกรรมการ ทศท.มีมติให้เอไอเอสจ่ายส่วนแบ่งรายได้ในอัตราคงที่ร้อยละ 22 ต่อมาเมื่อมีการประชุมครั้งที่ 5/2554 ลดส่วนแบ่งรายได้ให้แก่เอไอเอส หรืออัตราร้อยละ 20 โดยมีเงื่อนไขให้ ทศท.ติดตามผลการให้บริการโทรศัพท์แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การเก็บส่วนแบ่งรายได้ในโอกาสต่อไป แต่จำเลยก็ไม่ดำเนินการจนกรรมการ 7 คน พ้นจากหน้าที่เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2545

 

 

หลังจากจำเลยลงนามในสัญญาลดส่วนแบ่งรายได้ครั้งที่ 6 ให้แก่บริษัทเอไอเอส ในการประชุม ทศท.ครั้งที่ 8/2544 จำเลยกลับรายงานต่อที่ประชุมว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการทำร่างข้อตกลงต่อท้ายสัญญาครั้งที่ 6 ทั้งที่ความจริงจำเลยได้ลงนามในข้อตกลงครั้งที่ 6 ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2544 โดยมิได้กำหนดข้อตกลงให้มีการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การเรียกเก็บเงินส่วนแบ่งรายได้ในโอกาสต่อไป อีกทั้งจำเลยทราบดีว่าการกำหนดอัตราค่าเชื่อมโยงแก่บริษัท TAC จากอัตราร้อยละ 200 บาท ต่อหมายเลข ต่อเดือน เป็นอัตราร้อยละ 18 ของราคาหน้าบัตร เป็นอัตราเชื่อมโยงขึ้นใหม่ ไม่ใช่การลดอัตราตามที่เอไอเอสกล่าวอ้าง และ TAC ยังจ่ายผลตอบแทนให้ ทศท.สูงกว่าที่เอไอเอสจ่าย แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยปกปิดข้อเท็จจริง ไม่แจ้งให้ที่ประชุมทราบด้วยเจตนาจะให้เอไอเอสได้รับผลประโยชน์จากการลดส่วนแบ่ง และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้วินิจฉัยไว้ชัดแจ้งว่าข้อตกลงสัญญาฉบับที่ 6 ที่จำเลยลงนามเอื้อประโยชน์แก่เอไอเอส

 

 

ที่จำเลยอ้างว่าที่ประชุมไม่มีคำถาม จำเลยจึงไม่ต้องรายงานข้อเท็จจริง นอกจากเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่สมเหตุสมผลแล้วโดยตำแหน่งที่จำเลยดำรงอยู่นั้น ต้องรักษาผลประโยชน์ขององค์กร สมควรแจ้งข้อเท็จจริงที่เป็นผลประโยชน์ได้เสียขององค์กรให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาด้วยความรอบคอบ บ่งชี้ให้เห็นเจตนาของจำเลยในการลงนามสัญญาครั้งที่ 6 ถือว่าเป็นการใช้อำนาจตำแหน่งโดยทุจริต ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ทศท.ได้รับส่วนแบ่งน้อยลง การกระทำที่มุ่งให้เอไอเอสได้ประโยชน์ เป็นการกระทำโดยทุจริตครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 เมื่อการกระทำจำเลยเป็นความผิดอันเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่ปรับบทมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นบททั่วไปที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น

 

 

ส่วนจำเลยต้องรับผิดค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัททีโอทีหรือไม่ เห็นว่าแม้ทีโอทีจะไม่ได้อุทธรณ์ในส่วนคดีแพ่งก็ตามแต่ได้ยื่นคำร้องเข้ามา ตามมาตรา 44/1 เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์จึงถือว่าคำร้องดังกล่าวได้อุทธรณ์ด้วยทำนองเดียวกัน และเมื่อข้อเท็จจริงส่วนอาญาฟังว่าจำเลยใช้อำนาจในทางทุจริต จำเลยต้องรับผิดชอบใช้เงินแก่ทีโอที โดยบริษัททีโอทีได้คำนวณค่าเสียหายที่ต้องขาดรายได้จากเงินส่วนแบ่งตลอดอายุสัญญาแต่ละช่วงเป็นต้นเงิน 66,060,686,735.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยจำเลยไม่มีพยานหลักฐานใดนำมาไต่สวนเป็นอย่างอื่น แต่ข้อเท็จจริงแม้เชื่อได้ว่าบริษัททีโอทีได้รับความเสียหายตามจำนวนดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม การพิจารณาอนุมัติลดอัตราส่วนแบ่งรายได้แก่เอไอเอสเป็นมติคณะกรรมการ จำเลยไม่ได้พิจารณาแต่เพียงลำพัง หากจำเลยต้องรับผิดเต็มจำนวนความเสียหายคงไม่เป็นธรรม จึงสมควรให้จำเลยรับผิดเพียงกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 46,855,463,990.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 33,030,343,367.97 นับตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 2559 ซึ่งเป็นวันที่บริษัททีโอทียื่นคำร้อง

 

 

พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) จำคุก 9 ปี พยานหลักฐานที่จำเลยนำเข้าไต่สวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 6 ปี และให้จำเลยชำระเงิน 46,855,463,990.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 33,030,343,367.97 บาท นับตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 2559

 

ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์จำนวน 8 แสนบาท ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกา โดยศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ประกันตัวไป โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล