กรมป่าไม้ เผย แอพ "อี-ทรี" ทำเกษตรกรไทยตื่นตัว หันปลูกไม้เศรษฐกิจเฉียดแสนต้น ยอดดาวน์โหลดทะลุหมื่น

กรมป่าไม้ เผย แอพ "อี-ทรี" ทำเกษตรกรไทยตื่นตัว หันปลูกไม้เศรษฐกิจเฉียดแสนต้น ยอดดาวน์โหลดทะลุหมื่น

กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดตัวแอพพลิเคชั่น “อี-ทรี (e-Tree)” เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรไทยหันมาปลูกไม้เศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาการปลูกไม้เพื่อการค้าให้ตอบสนองความต้องการของตลาดที่ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว ยังช่วยสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน ถือเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลที่ต้องการช่วยขจัดความยากจนของประชาชนคนไทย

 

 

นายพงศ์บุณย์  ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) รักษาราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวถึงสถานการณ์หลังจากเปิดตัวแอพพลิเคชั่น อี-ทรี ไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ว่า ขณะนี้กรมป่าไม้กำลังดำเนินการปรับปรุงแก้ไขจุดบกพร่องบางประการ เพื่อพัฒนาระบบให้สามารถทำงานสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น อาทิ แก้ไขหน่วยวัดของความสูง เส้นรอบวงของต้นไม้ เพราะเดิมกำหนดหน่วยวัดเป็นเมตรแต่เนื่องจากพบว่ามีประชาชนที่เข้ามาใช้งานเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องการกรอกข้อมูลหน่วยวัดเป็นเซนติเมตร จึงส่งผลให้การคำนวณข้อมูลขาดความแม่นยำในการแสดงผล  ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดการข้อมูลของผู้ที่เข้ามาใช้งาน เพื่อให้ข้อมูลล่าสุดของผู้ใช้งานจริงในปัจจุบันมีความถูกต้องตามที่กำหนดไว้  จากข้อมูลมีผู้เข้ามาดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น อี-ทรี กว่า 10,000 คน และมีผู้ลงทะเบียนใช้งาน 400-500 ราย มีต้นไม้ที่ลงทะเบียนไว้ในระบบจำนวนทั้งสิ้น 74,000 ต้น ซึ่งคาดการณ์ว่าปลายปี 2561 จะมีผู้เข้ามาลงทะเบียนต้นไม้เพิ่มขึ้นอีกเป็น 100,000 ต้น

 

 

กรมป่าไม้ เผย แอพ "อี-ทรี" ทำเกษตรกรไทยตื่นตัว หันปลูกไม้เศรษฐกิจเฉียดแสนต้น ยอดดาวน์โหลดทะลุหมื่น

 

นายพงศ์บุณย์  กล่าวต่อว่า แอพพลิเคชั่น อี-ทรี ของกรมป่าไม้ ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากจากผู้ใช้งาน ยกตัวอย่าง ประชาชนในพื้นที่จังหวัดระยองที่เข้ามาลงทะเบียนใช้งาน ให้เสียงตอบรับผ่านเจ้าหน้าที่โดยตรงว่า รู้สึกดีใจที่หน่วยงานภาครัฐได้ให้ความสำคัญ พร้อมทั้งส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ ซึ่งตนเองปลูกต้นไม้มาเป็นเวลา 30 กว่าปี แต่เนื่องจากเป็นผู้ถือครองเอกสารสิทธิใบแจ้งครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ทำให้ไม่สามารถนำไปขึ้นทะเบียนสวนป่าตามที่กรมป่าไม้เปิดลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ได้ จึงเกิดความรู้สึกท้อใจ เพราะต้นไม้ที่ปลูกไว้หากไม่มีการรับรองที่จะนำไปใช้อ้างอิงความถูกต้องตามกฎหมายของแหล่งที่มาของไม้  ความกังวลที่เกิดขึ้นจากการปลูกต้นไม้มากถึง 200 ไร่ หรือประมาณ 5,000 ต้น จะส่งผลต่อการใช้ไม้ที่ตนเองได้ปลูกขึ้น ซึ่งแอพพลิเคชั่น อี-ทรี ได้เข้ามาช่วยให้เขาลงทะเบียนแหล่งปลูกต้นไม้ได้ รวมถึงการขอใช้ประโยชน์จากต้นไม้ ทั้งการขอตัด การเคลื่อนย้าย การซื้อขาย การค้ำประกัน และการส่งออกไม้ที่จะต้องมีใบรับรองแหล่งที่มาของไม้ 

 

 

ดังนั้น หากต้องการใช้ประโยชน์จากไม้ที่ปลูกและได้ทำการลงทะเบียนไว้แล้ว ก็สามารถแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่น โดยทางเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ตรวจสอบและระบบจะทำการพิมพ์เอกสารบัญชีไม้นั้นได้ทันที   ซึ่งขณะนี้ประชาชนกำลังตื่นตัว และสนใจหันมาปลูกต้นไม้มากขึ้น โดยเฉพาะไม้เศรษฐกิจที่มีมูลค่ามากประกอบกับรัฐบาลกำลังพิจารณายกเลิกมาตรา 7 ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 โดยไม้หวงห้ามทุกชนิดในที่ดินกรรมสิทธิ์ของประชาชนที่ครอบครองสามารถนำไปใช้เพื่อค้าขายและใช้สอยได้อย่างถูกกฎหมาย เช่น ไม้สัก ไม้ยางนา ไม้พะยูง ฯลฯ ยกเว้นการส่งออกที่ต้องมีเอกสารรับรองแหล่งที่มา

 

ด้วยเหตุนี้ การลงทะเบียนผ่านระบบ อี-ทรี จะช่วยแก้ไขในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งยังสามารถป้องกันการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ที่ต้องการเรียกรับผลประโยชน์  นอกจากนี้กรมป่าไม้กำลังทดสอบการเชื่อมต่อระบบ อี-ทรี เข้ากับระบบการออกหนังสือรับรองทางอิเล็กทรอนิกส์ แล้วจึงไปเชื่อมต่อกับระบบ NSW กลางเพื่อให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดหรือเรียกว่า ระบบไร้เอกสาร (Paperless) ซึ่งเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารผ่านภาคธุรกิจในการนำเข้าและส่งออก เมื่อไม้มีขนาดใหญ่และผู้ปลูกพร้อมส่งออกจะสามารถเชื่อมต่อกับระบบดังกล่าวและแจ้งแหล่งปลายทางถึงรายละเอียดที่มาของไม้อย่างถูกกฎหมาย เป็นการช่วยลดขั้นตอน ลดเวลาและค่าใช้จ่าย ที่จากเดิมต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการหลายวัน รวมถึงช่วยลดขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่อีกทางหนึ่ง    

 

 

กรมป่าไม้ เผย แอพ "อี-ทรี" ทำเกษตรกรไทยตื่นตัว หันปลูกไม้เศรษฐกิจเฉียดแสนต้น ยอดดาวน์โหลดทะลุหมื่น

 

นายบรรจง วงศ์ศรีสุนทร ผู้อำนวยการสำนักรับรองการป่าไม้ กล่าวถึงขั้นตอนการลงทะเบียนใช้งานแอพพลิเคชั่น อี-ทรี ว่า สามารถใช้บริการผ่าน 2 ช่องทาง คือ เว็ปไซต์ www.nsw.forest.go.th หรือดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น ผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้ทั้งระบบแอนดรอยด์และระบบไอโอเอส โดยมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก คือ

 

1.กรอกรายละเอียดข้อมูลตามบัตรประจำตัวประชาชน

2.เข้าระบบลงทะเบียนต้นไม้ผ่านชื่อและรหัสที่ตั้งไว้ พร้อมทั้งกรอกข้อมูลตามรายละเอียดที่ปรากฏ เช่น ความสูง เส้นรอบวงและการปลูกต้นไม้เพิ่ม พร้อมปักหมุดขอบเขตของแปลงปลูกและตำแหน่งของต้นไม้ โดยสามารถปักหมุดผ่านแผนที่กูเกิล (Google Maps) หรือลงพื้นที่เพื่อตรวจจับตำแหน่งตามจีพีเอส (GPS) เพื่อช่วยเพิ่มความแม่นยำของตำแหน่งได้

กรมป่าไม้ เผย แอพ "อี-ทรี" ทำเกษตรกรไทยตื่นตัว หันปลูกไม้เศรษฐกิจเฉียดแสนต้น ยอดดาวน์โหลดทะลุหมื่น

 

 

กรมป่าไม้ เผย แอพ "อี-ทรี" ทำเกษตรกรไทยตื่นตัว หันปลูกไม้เศรษฐกิจเฉียดแสนต้น ยอดดาวน์โหลดทะลุหมื่น

 

หลังจากนั้นระบบจะทำการคำนวณและแสดงผลเป็นปริมาตรของเนื้อไม้ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ทั้งนี้ หากต้องการใช้ประโยชน์จากต้นไม้ที่ปลูกก็สามารถแจ้งผ่านระบบได้ทันที  ทางกรมป่าไม้จะจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่เพื่อตรวจสอบและดำเนินการต่อไป  ซึ่งนอกจากประชาชนจะได้รับความสะดวกแล้ว ยังช่วยทำให้ภาครัฐรับทราบว่าในประเทศไทยมีการปลูกต้นไม้ไว้ในพื้นที่ใดบ้าง และสามารถนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการวางแผนงานด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจอีกด้วย