เผยสาเหตุ ตม.ติดเชื้อ โควิด-19 เพราะพาสปอร์ต

เผยสาเหตุ ตม.ติดเชื้อ โควิด-19 เพราะพาสปอร์ต

จากกรณี นพ.พิชญา นาควัชระ​ รองปลัด​กรุงเทพมหานคร​ เปิดเผยว่า ตนได้รับรายงานจาก​โรงพยาบาลในสังกัด​กรุงเทพมหานคร​ ว่าได้มีการรับตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.สุวรรณภูมิ)​ ผลัด​ 2 ขาออก​ เข้ามาทำการรักษาจำนวน 1 นาย จากการตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่าติดเชื้อไวรัส​ COVID-19

โดย แหล่งข่าวใน​ สตม. เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่มีตำรวจ​ในสังกัด​ สตม. มีอาการติดเชื้อจริง จำนวน 1 ราย ซึ่งการติดเชื้อดังกล่าว คงจะต้องมีการสอบสวนฯ เพื่อติดตามด้วยว่า ติดเชื้อมาจากระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในการคัดกรองนักท่องเที่ยว หรือตรวจผู้โดยสาร​ในสนามบินสุวรรณภูมิ หรือไม่ หรืออาจไปพบปะกับบุคคลภายนอกมาแล้วติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นนี้ จะต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง

ล่าสุดในวันนี้นั้น (12/03/2563) พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. เปิดเผยกรณีมีตำรวจสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประจำท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิขาเข้า ติดไวรัสโควิด-19 ว่า ที่ผ่านมาตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมีการปฏิบัติหน้าที่ในความสุ่มเสื่องตลอดเวลา เนื่องจากมีบรรดาผู้โดยสารเดินทางเข้าออกต่อวันละแสนกว่าคน ทำให้มีตำรวจตรวจคนเข้าเมืองนั้นติดเชื้อ 1 นาย ขณะนี้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลกลาง โดยผบ.ตร.มอบหมายให้ตนได้เดินทางไปเยี่ยม เบื้องต้นจากการสอบถามทีมแพทย์ระบุว่าอาการดีขึ้น 

ด้านพ.ต.อ.เชิงรณ ริมผดี รองผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ในฐานะโฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เผยว่า ขอยืนยันมีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 เข้มงวดตลอดสองเดือนที่ผ่านมา ในการคัดกรองนักท่องเที่ยวและประชาชนที่เดินทางเข้าออกผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศ รวมถึงเจ้าหน้าที่ในสังกัดคือ การสวมใส่หน้ากากอนามัย ใส่ถุงมือในการปฎิบัติหน้าที่ในระหว่างการรับพาสปอร์ต มีการทำความสะอาดเครื่องมือ และอุปกรณ์ สแกนนิ้วมือโดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทุกๆ 10 นาที มีการตรวจวัดไข้เจ้าหน้าที่ 2 รอบทั้งก่อนปฎิบัติหน้าที่และหลังการปฎิบัติหน้าที่ ซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการป้องกันสูงสุด

สำหรับกรณีที่มีตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเป็นตำแหน่งผู้บังคับงานหมู่ตรวจคนเข้าเมืองขาเข้า ได้ติดเชื้อคาดว่าเกิดจากการเผลอในขณะปฎิบัติหน้าที่ โดยการใช้ถุงมือที่จับพาสปอร์ตมาสัมผัสกับใบหน้าและดวงตา ซึ่งหลังจากเลิกงานวันนั้นเจ้าตัวรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว เมื่อวัดไข้ก็พบว่าเกิน 37.5 ทันทีที่พบว่ามีอาการได้นำตัวส่งโรงพยาบาลลาดกระบัง และเมื่อพบว่าติดเชื้อจริง ได้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลกลาง หลังจากนั้นเข้าสู่กระบวนการติดตามผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยทั้งคนในครอบครัว และเพื่อนสนิทที่เป็นชาวไต้หวัน ที่ครั้งแรกคิดว่าเพื่อนรายนี้เป็นผู้นำเชื้อมาติด ปรากฎว่าไม่มีอาการติดเชื้อ แต่ยังให้กักตัว 14 วันตามมาตรการป้องกันของกรมควบคุมโรค