อ.เจษฎ์ ชี้ชัด ยันไม่ใช่เนื้อปลาปลอม  เป็นแค่เนื้อปลาเสียสภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรือ อ.เจษฎ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โดยยืนยันว่า ที่มีคนมาเจอเนื้อปลาปลอม ไม่ใช่พลาสติกแต่เป็นเพียงแค่เนื้อปลาที่เสียสภาพเท่านั้นเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โดยยืนยันว่า  ที่มีคนมาเจอเนื้อปลาปลอม ไม่ใช่พลาสติกแต่เป็นเพียงแค่เนื้อปลาที่เสียสภาพเท่านั้นเอง

 

โดย  อ.เจษฎ์  ระบุข้อความว่า   "มันไม่ใช่เนื้อปลาปลอม ทำจากพลาสติกอะไรนะ .. มันเป็นแค่เนื้อปลาเสียสภาพ"

 

อ.เจษฎ์ ชี้ชัด ยันไม่ใช่เนื้อปลาปลอม  เป็นแค่เนื้อปลาเสียสภาพ

 

มีการอ้างว่าเจออาหารปลอมอีกแล้ว คราวนี้อ้างว่าเป็น "เนื้อปลาปลอม" โดยมีผู้โพสต์คลิปว่าได้ซื้อเนื้อปลากะพงปลอมที่ตลาดคลองโพธิ์ อ. เมือง จ. อุตรดิตถ์ ซึ่งคนขายรับปลามาจากตลาดสดมหาชัย จ. สมุทรสาคร แล้วคนที่ซื้อไป ได้เก็บไว้ในตู้เย็น พอมาละลายน้ำแข็งเพื่อทำอาหาร พบว่าเนื้อปลาเหนียว จึงได้โพสต์คลิปดังกล่าว

จากการตรวจสอบเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ พบว่าเป็นเนื้อปลาแช่แข็ง สีขาวเหมือนเนื้อปลาทั่วไป เมื่อแช่ในน้ำธรรมดา พบว่าลักษณะชิ้นเนื้อปลาเหนียวนุ่ม ดึงขาดกเป็นเส้นๆ มีกลิ่นคาวมาก สามารถต้มสุก เนื้อเปื่อยยุ่ย เหมือนเนื้อปลาทั่วไป มีเกล็ดน้ำแข็งแทรกอยู่ในเนื้อ จึงได้ส่งเนื้อปลาไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 30 วัน

 

จริงๆ กรณีเจอเนื้อปลาเหนียวแล้วคิดว่าเป็นเนื้อปลาปลอมทำจากพลาสติกนั้น เคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจริงๆ มันแค่เนื้อปลาเสื่อมสภาพ อันเนื่องจากการถูกนำไปแช่แข็ง ทำให้โปรตีนในเนื้อปลามีสภาพเปลี่ยนไปแค่นั้นเอง ซึ่งถ้ายังไม่เน่าเสีย ก็สามารถเอาไปประกอบอาหารได้ ไม่ได้อันตรายครับ

ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท สอบถาม ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุภาพในคลิปไม่ใช่ปลาปลอม แต่เป็นปลาแช่แข็งที่ไม่ได้คุณภาพ ทำให้เนื้อปลาแห้งคล้ายฟองน้ำหรือพลาสติก ปัจจัยหนึ่งเกิดจากบริเวณเนื้อปลาสัมผัสกับความเย็นมากเกินไป ทำให้ผิวปลาหยาบกระด้าง แผ่นหนังของปลาจะแข็งเพราะความเย็นจะดูดน้ำออก

 

ทั้งนี้ ปลาแช่แข็งที่วางจำหน่ายจะแช่แข็งด้วยกรรมวิธี Quick Freezing (การแช่เยือกแข็งแบบเร็ว) มีการกำหนดอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ทำให้โปรตีนในเนื้อสัตว์แปรสภาพไปมากนัก บางครั้งโรงงานผลิตจะเติมสารป้องกันการแข็งตัวของน้ำแข็งไม่ให้มีขนาดใหญ่มากเกินไป จึงยังคงสภาพเนื้อสัตว์ได้ดี

 

ข้อปฏิบัติสำหรับซื้อปลามาแช่แข็ง ต้องใส่เนื้อปลาในถุงหรือภาชนะที่ถูกอากาศน้อยที่สุด, หั่นปลาชิ้นไม่ใหญ่เกินไปเพื่อให้เย็นเร็วขึ้น, ไม่ควรแช่แข็งไว้นานเกิน 2 เดือน ก่อนนำมาปรุงอาหารควรละลายน้ำแข็งทิ้งไว้ในช่องธรรมดาก่อน 1 คืน เพื่อไม่ให้เนื้อปลาเปลี่ยนสภาพมากเกินไป แต่ห้ามแช่น้ำร้อน

 

อ่านโพสต์ต้นฉบับ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  : อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์