พ่อตัดสินใจฮึดสู้ โดนลากออกจากห้อง ICU ไม่ยอมให้ถอดเครื่องช่วยหายใจลูกสาว

พ่อตัดสินใจฮึดสู้ โดนลากออกจากห้อง ICU ไม่ยอมให้ถอดเครื่องช่วยหายใจลูกสาว

“เว็บไซต์อินดิเพนเดนท์” รายงานว่า แพทย์รายหนึ่งในอังกฤษ อยู่ระหว่างพยายามต่อสู้ทางกฎหมายเอาผิดเจ้าหน้าที่ตำรวจในเขตนอร์ทธัมเบรีย และกำลังพิจารณาที่จะยื่นฟ้องหน่วยงานสาธารณสุขของอังกฤษ (NHS) หลังจากที่เขาถูกทางตำรวจใช้กำลังลากตัวออกไปจากข้างเตียงของลูกสาววัย 6 ขวบ ที่กำลังป่วยใกล้ตาย ซึ่งเขามองว่านั่นเป็นการจับกุมโดยมิชอบ

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ภายหลังจากที่ ดร.ราชิด อับบาซิ วัย 58 ปี กับภรรยา มีเรื่องขัดแย้งกับทีมแพทย์ที่ทำการรักษาลูกสาววัย 6 ขวบของทั้งคู่ โดยเด็กหญิงป่วยเป็นโรคนีมาน-พิค (Niemann-Pick) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่หาได้ยาก และกำลังรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู แต่แล้วทีมแพทย์ก็ได้แจ้งให้พ่อแม่เด็กทราบว่า พวกเขาตัดสินใจจะถอดเครื่องช่วยหายใจของเด็ก และปล่อยให้เธอจากไป เพราะไม่มีอะไรที่พวกเขาจะทำได้เพื่อรักษาเธอแล้ว

พ่อตัดสินใจฮึดสู้ โดนลากออกจากห้อง ICU ไม่ยอมให้ถอดเครื่องช่วยหายใจลูกสาว

อย่างไรก็ตาม ดร.ราชิด ซึ่งมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของ NHS กลับไม่เห็นด้วยกับความคิดนั้น เขามองว่าลูกสาวของเขายังไม่ได้รับการรักษาที่จำเป็นเพื่อจะยื้อชีวิตเธอไว้ และเขากับภรรยาก็ไม่ยินยอมที่จะให้ถอดเครื่องช่วยหายใจหรืออุปกรณ์พยุงชีพทั้งหลายของลูกสาว

และจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ที่ตำรวจ 4 นาย ถูกเรียกตัวมาพา ดร.ราชิด กับภรรยาออกไป โดยจากภาพที่กล้องบอดี้แคมของตำรวจบันทึกได้ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562 พบว่าตำรวจได้เข้ามาหา ดร.ราชิด กับภรรยา ซึ่งนั่งอยู่ข้าง ๆ ลูกสาวของพวกเขา และได้ร้องขอให้ทั้งคู่ออกไปด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ดร.ราชิด ปฏิเสธไม่ยอมไปจากข้างกายลูกสาว ขณะที่ภรรยาของเขาได้ขอร้องตำรวจให้ปล่อยพวกเขาไว้เช่นนี้ เพราะทั้งคู่เพิ่งจะทราบเรื่องที่ทางโรงพยาบาลต้องการถอดเครื่องช่วยหายใจของลูกสาวได้เพียง 30 นาทีเท่านั้น

แต่สุดท้ายเมื่อเห็นว่าทั้งคู่ไม่ยอมออกไปแน่ ๆ ทางตำรวจจึงตัดสินใจใช้กำลังเพื่อนำตัว ดร.ราชิด กับภรรยาออกไป โดยพวกเขาเริ่มจากการเข้าไปดึงข้อมือฝ่ายภรรยา ก่อนจะช่วยกันลากตัว ดร.ราชิด ออกมายังบริเวณทางเดิน ซึ่งเขาเองก็พยายามขัดขืนอย่างถึงที่สุด ทั้งส่งเสียงร้องลั่นและพยายามต่อสู้กับตำรวจ ทั้งเตะและกัด แต่สุดท้ายก็ถูกทางตำรวจจับใส่กูญแจมือ นำตัวขึ้นเตียงรถเข็นลากออกไปที่อื่นจนได้

ทั้งนี้ พบว่าหลังจากที่ ดร.ราชิด ถูกนำตัวออกไป ก็มีเจ้าหน้าที่จาก NHS Trust ที่ไม่เผยชื่อ ยื่นเอกสารกับทางศาลสูงเพื่อขออนุญาตให้ถอดเครื่องช่วยหายใจของเด็กหญิงออก แต่ยังไม่ทันที่เรื่องดังกล่าวจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในเดือนกันยายน 2562 ก็พบว่าลูกสาวของ ดร.ราชิด ได้เสียชีวิตไปเสียก่อน

อนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ ดร.ราชิด กับภรรยาต้องการใช้กฎหมายเอาผิดกับทางตำรวจที่เกี่ยวข้อง โดยในวันที่ 1 สิงหาคม 2563 เขาได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ชี้ว่า เขาไม่อาจออกไปจากข้างกายลูกสาว และตามตำรวจไปได้ เพราะเขารู้ว่าถ้าเขาผละออกไป คนเหล่านั้นจะไม่ปล่อยให้เขากลับมาหาลูกอีก และอาจใช้โอกาสนั้นถอดเครื่องช่วยหายใจออกจากเธอ

ดร.ราชิด ยืนยันว่า เขาแค่ทำในสิ่งที่พ่อคนใดก็ตามจะทำเมื่อพวกเขาต้องทรมานจากความโศกเศร้า ด้วยความเชี่ยวชาญในสายอาชีพของเขา เขารู้ดีว่าลูกสาวยังไม่ได้รับการรักษาที่จำเป็น แต่เพื่อท้าทายเรื่องดังกล่าวและปกป้องชีวิตของลูก เขากลับถูกปฏิบัติเหมือนเป็นอาชญากรและสัตว์ ซึ่งเป็นสิ่งโหดร้ายที่เขาไม่อาจยอมรับ

เขายังย้ำว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะทีมแพทย์และทางโรงพยาบาลที่ทำให้สถานการณ์บานปลาย และดึงตำรวจมาเกี่ยวข้องโดยไม่จำเป็น ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจจะต่อสู้ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ลูกสาว

อย่างไรก็ตาม ทางโฆษกของโรงพยาบาล ยืนยันว่าพวกเขาได้ทำในสิ่งที่ดีที่สุดแก่คนไข้มาโดยตลอด หากมีความเห็นขัดแย้งเกี่ยวกับการดูแลคนไข้ ทางโรงพยาบาลก็จะทำทุกอย่าง ในการรับฟัง ทำความเข้าใจ ในสถานการณ์ที่ลำบากและละเอียดอ่อน แต่ก็มีกรณีที่หาได้ยากยิ่ง หากพบว่ามีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยต่อคนไข้ ญาติ ผู้มาเยี่ยมไข้ หรือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือเกิดสิ่งที่จะขัดขวางกระบวนการรักษา ทางโรงพยาบาลก็จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรือจากตำรวจ

พ่อตัดสินใจฮึดสู้ โดนลากออกจากห้อง ICU ไม่ยอมให้ถอดเครื่องช่วยหายใจลูกสาว

ขณะเดียวกัน พบว่าก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทางโรงพยาบาลชี้ว่า ดร.ราชิด ได้แสดงอาการก้าวร้าวรุนแรง และเคยเรียกตำรวจมาระงับเหตุหลายครั้งแล้ว แต่ทาง NHS Trust รวมถึงทางตำรวจ ปฏิเสธไม่ขอแสดงความเห็นใด ๆ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

พ่อตัดสินใจฮึดสู้ โดนลากออกจากห้อง ICU ไม่ยอมให้ถอดเครื่องช่วยหายใจลูกสาว

https://www.independent.co.uk/news/uk/home-news/rashid-abbasi-bodycam-footage-police-zainab-hospital-nhs-a9651326.html
ขอบคุณข้อมูลจาก อินดิเพนเดนท์ / KAPOOK