"หมอนิธิพัฒน์"เปิด 3 ข้อ ไม่เห็นด้วย ปล่อยให้ติดโอมิครอนตามธรรมชาติ

"หมอนิธิพัฒน์" รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ระบุข้อความ 3 ข้อ ไม่เห็นด้วยที่ว่า โอไมครอนไม่ร้ายแรง และปล่อยให้ติดเชื้อตามธรรมชาติมากๆ

"หมอนิธิพัฒน์" รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ระบุข้อความว่า

ยอดรวมผู้ป่วยรายวันยังอยู่ที่ราวสี่พันเหมือนสองวันที่ผ่านมา แม้จะเริ่มมีคลัสเตอร์โอมิครอนใหม่โผล่ขึ้นมาในหลายจังหวัด โดยมีชลบุรีแซงกทม.เข้าป้ายแชมป์กลุ่มไปแล้ว และมีภูเก็ตแทรกเข้ามาติดท็อปไฟ้ว์ ช่างต่างกับปิศาจแดงทีมรักที่อันดับตกลงเรื่อยหลังนัดล่าสุดแพ้คาบ้าน สำหรับสำนักแพทย์ริมน้ำ เมื่อวานกิจการดี พบ "โอมิครอน" 9 รายจากที่พบโควิดทั้งหมด 16 ราย พรุ่งพรวดกว่าเท่าตัวจากวันหนึ่งของสัปดาห์ก่อนที่พบ 3 ใน 13 ราย

หมอนิธิพัฒน์ มีคำถามมาว่าคนที่ป่วยด้วยโควิด-19 แล้วปอดพังแบบถาวรมีมากน้อยแค่ไหน ข้อมูลจากประสบการณ์ส่วนตัวช่วงเดลต้าระบาดหนัก พบราว 0.5% ของผู้ป่วยที่เกิดปอดอักเสบรุนแรง/วิกฤต (ต้องใช้ไฮโฟลว์หรือเครื่องช่วยหายใจนานเกิน 10 วัน) ซึ่งถ้าคิดว่าในบรรดาผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยทั้งหมดมีปอดอักเสบรุนแรง/วิกฤตประมาณ 2% ดังนั้นโอกาสเกิดปอดสูญเสียการทำหน้าที่รุนแรง คือไม่มีการฟื้นตัวหลังจากได้รับการรักษาเต็มที่นานอย่างน้อย 3 เดือนหลังหายจากโควิด จะอยู่ที่ราว 0.01% หรือหนึ่งในหมื่นของคนที่ติดเชื้อ ซึ่งอาจจะสูงกว่าปอดอักเสบจากเชื้อโรคอื่นที่เราเจอมาในอดีต

หญิงอายุ 83 ปี มีเบาหวานเป็นโรคเดิม เกิดปอดอักเสบโควิดรุนแรงเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว หลังจากฟื้นตัวและออกจากโรงพยาบาลได้ ยังมีภาวะปอดผิดปกติภายหลังโควิด (post-COVID lung disease) ต้องได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิกลุ่มสเตียรอยด์และให้ออกซิเจนเสริมที่บ้าน จนเกิดโรคปอดติดเชื้อราแทรกซ้อนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ขณะที่การทำงานของอวัยวะสำคัญอื่นโดยเฉพาะสมอง ไต และหัวใจยังดีอยู่ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดรวมแล้วราวสี่เดือนกว่าหลังหายจากโควิด พบว่ายังไม่เกิดการสูญเสียถาวรของเนื้อปอดดังรูป จึงยังพอมีหวังให้ปอดฟื้นตัวในการปรับเปลี่ยนยากดภูมิรอบใหม่ สนใจอ่านเพิ่มเติมได้จาก (คลิก)

หมอนิธิพัฒน์

สำหรับความเห็นที่ว่าโอมิครอนไม่ร้ายแรง ดังนั้นปล่อยให้ติดเชื้อตามธรรมชาติมากๆ จะได้มีภูมิวงกว้างและช่วยหยุดการระบาดของโควิด-19 ได้เร็ว ผมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ด้วยเหตุผลสามข้อ

1. แม้ว่าโอไมครอนจะรุนแรงน้อยกว่าเดลต้าราวครึ่งหนึ่ง คืออัตราป่วยรุนแรง/วิกฤตราว 2-3% แต่ถ้าคนป่วยหนักนั้นเป็นคนที่เรารักและเราเอาเชื้อมาติดเขาหรือเป็นตัวเราเอง จะไม่เสียใจหรือ?

2. การติดเชื้อตามธรรมชาติโดยไม่มีภูมิบางส่วนต่อสู้ไวรัสไว้ จะเปิดโอกาสให้ไวรัสกลายพันธุ์ในตัวเราได้ โคโรนาไวรัสส่วนใหญ่มาจากสัตว์ เราอาจได้รับมาผสมกับไวรัสนำโควิดในตัวเราทุกเมื่อเชื่อวัน

3. คนป่วยซึ่งไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ก็เกิดกลุ่มอาการลองโควิดได้ แม้โอกาสจะน้อยกว่าคนที่อาการรุนแรง ล่าสุดทีมนักวิจัยจากเดนมาร์ก ติดตามผู้ที่เคยมีการตรวจสมรรถภาพปอดไว้ก่อนป่วย พอป่วยแล้วแม้จะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย เมื่อร่างกายหายดีแต่พบมีการถดถอยของสมรรถภาพปอดไปจากเดิม เราอยากจะเป็นเช่นนั้นกันหรือ?

ขอลาไปวันนี้ด้วยการชวนให้รับชมรายการตอบโจทย์คืนนี้ เรื่องโอไมครอน เป็นอีกครั้งที่ได้ร่วมสนทนากับนักวิชาการที่มีคุณภาพท่านหนึ่งพร้อมพิธีกรที่ทำการบ้านมาดี

#สู่ปีใหม่อันสดใสแบบอยู่ร่วมกับโควิด