"หมอธีระ"กางข้อมูลชัดๆ ลั่น อย่าใช้กิเลสนำทาง

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ระบุความรู้ถึง โควิด-19 โอมิครอน

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ 

7 กุมภาพันธ์ 2565

ทะลุ 395 ล้านไปแล้ว

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,836,019 คน ตายเพิ่ม 6,221 คน รวมแล้วติดไปรวม 395,781,646 คน เสียชีวิตรวม 5,758,262 คน

"หมอธีระ"กางข้อมูลชัดๆ ลั่น อย่าใช้กิเลสนำทาง

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.11 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 80.64

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 52.43 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 29.43

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 9 ใน 20 อันดับแรกของโลก

...ระลอก Omicron "โอมิครอน"

ภาพรวมขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นขาลง

เหลือบางประเทศในแถบอเมริกาใต้ และโอเชียเนีย ที่ยังเป็นช่วงขาขึ้นหรือช่วงพีค

แต่ในทวีปเอเชียดูจะเป็นทวีปยังหนักกว่าเพื่อน โดยยังมีจำนวนประเทศอีกราว 20 ประเทศที่กำลังอยู่ในขาขึ้นหากดูอัตราการเปลี่ยนแปลงรายสัปดาห์ รวมถึงประเทศไทย

...บทเรียนที่ต้องระวังคือ การใช้กิเลสนำทาง

หากโพล่งออกมาว่า ประเทศอื่นทั่วโลกเค้าเน้นผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรค ดังนั้นเราจะทำตามเขา

สิ่งที่ต้องตระหนักคือ สถานการณ์ที่ต่างกันย่อมต้องส่งผลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ต่างกัน

หากคนอื่นเขาเป็นขาลง คุมได้ดีขึ้น วัคซีนประสิทธิภาพสูงและคนได้รับอย่างครอบคลุมทุกช่วงอายุ โครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนต่างๆ เข้มแข็ง ประชาชนเข้าถึงบริการที่ต้องการจำเป็นได้อย่างไม่มีปัญหา ก็ย่อมตัดสินใจไปทางนึง

แต่ในขณะที่หากเรายังเป็นขาขึ้น ผลลัพธ์การป้องกันควบคุมโรคสะท้อนออกมาให้เห็นกันชัดเจนในแต่ละวัน ทั้งที่ตัวเลขรายงานก็ยังไม่รวม ATK ที่ประชาชนดิ้นรนหาซื้อเพื่อตรวจกันเองอีกจำนวนไม่น้อย การเข้าถึงบริการในหลายพื้นที่ก็ยังมีความจำกัด การตัดสินใจเชิงนโยบายด้านการควบคุมป้องกันโรคย่อมจำเป็นต้องใช้สติ และปัญญา ตามข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสีย ดังที่เห็นมาในระลอกสองและระลอกสาม

การยกเหตุผลว่าติดง่ายก็จริง แต่ไม่รุนแรง ตัวเลขป่วยนอนไอซียูหรือใส่ท่อช่วยหายใจน้อย ตายไม่มากเมื่อเทียบกับเดลต้านั้น เป็นการนำเสนอข้อมูลที่ยังไม่ครบถ้วนเพื่อใช้ตัดสินใจนโยบายระดับชาติ

เรื่องที่ควรนำเข้าสู่การพิจารณาสุดท้ายอีกเรื่องที่สำคัญยิ่งคือ โอกาสที่จะเกิดปัญหาระยะยาว ภาวะอาการคงค้างหรือ Long COVID ที่ทั่วโลกต่างประสบปัญหาและต่างเร่งรีบหาทางป้องกัน และเตรียมรับมือ

ทั้งนี้ หากยังระบาดรุนแรง แต่ป้องกันควบคุมโรคไม่ดี ผ่อนคลายใช้ชีวิตเสรี การติดเชื้อย่อมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และจำนวนผู้ที่จะได้รับผลกระทบจาก Long COVID ย่อมสูงขึ้น ส่งผลกระทบระยะยาวทั้งต่อบุคคล ครอบครัว ระบบสาธารณสุข และประเทศ

...สำหรับประชาชน สิ่งที่เราควรทำในสถานการณ์เช่นนี้คือ การพึ่งตนเอง ดูแลตนเองและสมาชิกในครอบครัวให้ดี ป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตร ดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท

"หมอธีระ"กางข้อมูลชัดๆ ลั่น อย่าใช้กิเลสนำทาง