สะเทือนใจ ช้างไทยโดนใช้งานหนัก แบกนักท่องเที่ยว 25 ปี จนกระดูกสันหลังผิดรูป

มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า เผยภาพสะเทือนใจ ช้างไทยถูกใช้งานเป็นพาหนะให้นักท่องเที่ยวขี่หลังกว่า 25 ปี จนกระดูกสันหลังผิดรูป

เรียกว่าเป็นภาพที่สร้างความสะเทือนใจ หลังจากที่ เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า (Wildlife Friends Foundation Thailand หรือ WFFT) ได้รายงานภาพเปรียบเทียบของช้างไทย ที่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดนใช้งานเป็นพาหนะให้นักท่องเที่ยวขี่หลังช้าง จนทำให้ร่างกายของช้างเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิดรูป

 

สะเทือนใจ ช้างไทยโดนใช้งานหนัก แบกนักท่องเที่ยว 25 ปี จนกระดูกสันหลังผิดรูป

พลายหลิน ช้างไทยที่ถูกใช้งานให้นักท่องเที่ยวขี่มานานถึง 25 ปี ซึ่งแม้ว่าในแต่ละครั้งจะมีข้อจำกัดให้นักท่องเที่ยวนั่งได้ไม่เกิน 6 คน แต่ถึงกระนั้นจากการที่ถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องและเป็นประจำส่งผลให้เกิดภาวะ "กระดูกผิดรูป" โดยจะเห็นว่ากระดูกสันหลังของมันยุบลงและจมลงไปย่างชัดเจน ซึ่งโดยปกติแล้วกระดูกสันหลังของช้างจะโค้งมนและยกขึ้น นอกจากนี้พลายหลินยังมีรอยแผลเป็นที่เกิดจากการถูกกดทับซ้ำๆเป็นเวลานาน เพราะภาระความหนักอึ้งที่มันต้องแบกรับตลอดช่วงชีวิตการทำงานที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้ พลายหลิน ได้รับการช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า (WFFT) ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์ช้างแห่งแรกของประเทศไทย ที่ปราศจากการล่ามโซ่ ซึ่งมันสามารถเดินเตร่ได้อย่างอิสระและมีส่วนร่วมในพฤติกรรมตามธรรมชาติได้


อย่างไรก็ตาม เมื่อลองเปรียบเทียบกับภาพของพลายหลิน กับ ทุ่งเงิน ช้างอีกตัวที่ได้รับการช่วยเหลือมาอยู่ที่มูลนิธิ จะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน ซึ่งความผิดปกติทางร่างกายเหล่านี้สามารถพบได้ทั่วไปในช้างที่ถูกใช้งานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย

 

สะเทือนใจ ช้างไทยโดนใช้งานหนัก แบกนักท่องเที่ยว 25 ปี จนกระดูกสันหลังผิดรูป
 

ขณะที่ บุญช่วย ช้างไทยอีกตัวที่ทางมูลนิธิช่วยเหลือมา ซึ่งจากภาพจะเห็นว่า กระดูกสันหลังของมันก็ได้รับความเสียหายเช่นเดียวกัน ภายหลังจากโดนใช้งานขี่หลังมาเป็นสิบๆปี ต้องแบกรับน้ำหนักทั้งจากควาญช้าง และกลุ่มนักท่องเที่ยว รวมทั้งม้านั่งหนักๆกลายเป็นแรงกดทับอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแค่เนื้อเยื่อและกระดูกเสื่อม แต่กระดูกสันหลังยังได้รับความเสียหายอย่างถาวร

 

สะเทือนใจ ช้างไทยโดนใช้งานหนัก แบกนักท่องเที่ยว 25 ปี จนกระดูกสันหลังผิดรูป


ด้าน ทอม เทย์เลอร์ ผู้อำนวยการโครงการของมูลนิธิเพื่อสัตว์ป่า กล่าวว่า "แม้จะรู้ดีว่า ช้างจะเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่และมีพละกำลังแข็งแกร่ง แต่โดยธรรมชาติ หลังของพวกมันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รับน้ำหนัก เนื่องจากกระดูกสันหลังของพวกมันยืดสูงขึ้น การกดทับกระดูกสันหลังอย่างต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยว อาจส่งผลให้ร่างกายของพวกมันเสียหายอย่างถาวร ดังที่พลายหลินได้ประสบ"

 

ขอบคุณ เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า